หลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป ธุรกิจต่างๆ กลับมาฟื้นตัวโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เริ่มกลับมาหายใจหายคอกันได้อีกครั้ง เนื่องจากผู้คนมีการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศกันมากขึ้น ข้อมูลจาก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า จำนวนสะสมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 27 ต.ค. 2567) มีมากกว่า 28 ล้านคน สามารถสร้างรายได้จากการใช้จ่ายจากต่างชาติได้แล้วกว่า 1,325,359 ล้านบาทแล้ว
โดยก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาสูงถึง 40 ล้านคนต่อปี กระทั่งตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่รัฐบาลประกาศปิดประเทศ (Lockdown) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยลดลงเหลือเพียง 6.7 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นการลดลงกว่า 83%
หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น ทำให้ในครึ่งแรกของปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลับมาอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคน หรือราว 5% ของช่วงก่อนโควิด-19 และมีการคาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทยในปีหน้าจะมีประมาณ 39 ล้านคน ซึ่งเกือบจะเท่ากับจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดเลยทีเดียว
4 ปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวเข้าไทยกว่า 39 ล้านคน
Agoda (อโกด้า) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว เผยว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวไทยมีการเติบโตดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน เป็นผลมาจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่
- นโยบายผ่อนปรนการตรวจลงตราวีซ่าเข้าประเทศไทย (Visa Easing) ที่กระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากประเทศที่ได้รับการยกเว้น เห็นได้จากการที่ประเทศไทย มีการค้นหาที่พักในไทยจากนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเพิ่มขึ้น 5%, จีนแผ่นดินใหญ่ 82%, ไต้หวัน 25%, และซาอุดีอาระเบีย 30% เป็นต้น
- ศักยภาพในการรองรับการเดินทาง (Flight Capacity) ที่ Agoda คาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้น 6% ภายในปี 2025 โดยเป็นการเดินทางมาจากอินเดียเพิ่มขึ้น 16% จากฮ่องกง 13% และจากญี่ปุ่น 12% เป็นต้น
- การขึ้นแท่นเป็นประเทศที่คนกลับมาเที่ยวซ้ำอันดับ 2 ของโลก (Repeat Visitors) รองจากประเทศญี่ปุ่น
- จุดแข็งที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว (Unique Selling Points) ซึ่งประกอบไปด้วย Food ซึ่งไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางอันดับที่ 3 ของนักชิมในเอเชีย รองจากเกาหลีและไต้หวัน, Film โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยวางแผนไปเที่ยวชมสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์กันกว่า 6%, Fashion ที่เป็นการท่องเที่ยวแบบหรูหราในไทย ซึ่งมีการค้นหาโรงแรมห้าดาวในไทยเพิ่มขึ้นกว่า 18% ในปี 2024, Fight เป็นการท่องเที่ยวแบบแอคทีฟผจญภัย อาทิ เดินป่า เรียนมวยไทย และอื่นๆ ที่ติดอันดับ 4 ในการสำรวจแนวโน้มการท่องเที่ยวในปี 2025 ของ Agoda และ Festival หรือกิจกรรมทางวัฒนธรรม อาทิ สงกรานต์ ลอยกระทง
ทำให้เป้าหมายของประเทศที่ต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้มากกว่า 39 ล้านคนนั้นมีความเป็นไปได้นั่นเอง
นักท่องเที่ยวยุคใหม่ เน้นใช้ “เอเจนซี่” เพียงเจ้าเดียวในการจัดทริป
ทั้งนี้ Agoda เผยว่า พฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด อาทิ ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด กลุ่มนักท่องเที่ยวจะต้องการ “ความยืดหยุ่น” ในการท่องเที่ยวเป็นหลัก หรือกลุ่มที่เลือกท่องเที่ยวโดยเน้นเรื่อง “ราคา” ที่มักมีการเลือกราคาที่ดีที่สุดก่อนเสมอ
แต่ในปัจจุบันพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยว จะเน้นในเรื่องของการใช้เอเจนซี่เพียงเจ้าเดียวในการดูแลทริปการท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน ซึ่งจากเดิมที่นักท่องเที่ยวจะใช้เอเจนซี่หลายๆ เจ้าในการจัดท่องเที่ยวสักทริปหนึ่ง เป็นต้น
ยอดค้นหาที่พักเพิ่ม นักท่องเที่ยว “มาเลเซีย-จีน” มาไทยมากที่สุด
Agoda ยังเผยข้อมูลที่น่าสนใจ จากชุดข้อมูลที่จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากข้อมูลการค้นหาที่พักของ Agoda ในช่วงสิบเดือนแรก (มกราคม-ตุลาคมปี 2567) เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วว่า การท่องเที่ยวในขาเข้าประเทศ ที่พักในประเทศไทยมีการค้นหาโดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น 18% โดยเฉพาะเดือนตุลาคม ที่มีการค้นหาเพิ่มขึ้นกว่า 25% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากแนวโน้มในช่วงเทศกาลวันหยุด และนักเดินทาง 3 ประเทศที่เดินทางมาไทยมากที่สุด ได้แก่ มาเลเซีย เพิ่มขึ้น 21%, เกาหลีใต้ 22%, และสิงคโปร์ 21%
นอกจากนั้นยังพบว่า นักท่องเที่ยวจากอินเดีย, จีนแผ่นดินใหญ่, ไต้หวัน และซาอุดีอาระเบีย มีการค้นหาที่พักในไทยเพิ่มขึ้น 5%, 82%, 25% และ 30% ตามลำดับ เนื่องจากนโยบายยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่าเข้าประเทศไทย โดยมี 5 สถานที่ที่นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม และหาดใหญ่ นอกจากนั้นการท่องเที่ยวในเขตเมืองรองก็เป็นที่นิยมเช่นกัน โดยเบตง, อุดรธานี, เกาะหลีเป๊ะ, เชียงราย และ เกาะช้าง เป็น 5 อันดับเมืองรองของไทยที่นักท่องเที่ยวนิยมกลับมาเที่ยวซ้ำมากที่สุด
ซึ่งกิจกรรมในประเทศไทยที่นักเดินทางมีการจองเข้าร่วมสูงสุด ได้แก่ ล่องเรือดินเนอร์ในแม่น้ำเจ้าพระยา, การรับประทานบุฟเฟ่ต์บนตึกใบหยก, เที่ยวตลาดน้ำแบบไปเช้าเย็นกลับ, เรียนทำอาหารไทย และ เที่ยวชมปราสาทสัจธรรม
“ญี่ปุ่น” ยังครองแชมป์ ประเทศที่คนไทยชื่นชอบที่สุด
ด้านการท่องเที่ยวขาออกนอกประเทศ ญี่ปุ่น ยังครองแชมป์จุดหมายปลายทางต่างประเทศที่คนไทยชื่นชอบมากที่สุด โดยมีการค้นหาที่พักเพิ่มขึ้น 26% โดยมีเมืองใหญ่อย่าง โตเกียว ได้รับการค้นหามาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วย โอซาก้า นอกจากนั้น 5 อันดับประเทศจุดหมายปลายทางที่คนไทยนิยม คือ ญี่ปุ่น, เวียดนาม, ฮ่องกง, จีน และ มาเลเซีย โดยเวียดนามได้ขยับจากอันดับ 4 มาเป็นอันดับ 2 เนื่องจากเป็นประเทศที่มีราคาการใช้จ่ายที่ประหยัดอีกทั้งการสนับสนุนของรัฐบาลเวียดนามในด้านการท่องเที่ยว โดยเมืองดานังยังติดอันดับ 10 ของจุดหมายปลายทางเมืองที่คนไทยที่นิยม
ส่วนการท่องเที่ยวประเทศจีนของคนไทย พบว่ามีการค้นหาที่พักในจีนเพิ่มขึ้นมากถึง 206% ซึ่งอาจมาจากปัจจัยการยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่าเข้าประเทศจีนและการฟื้นตัวจากโควิด ทำให้จีนขยับจากอันดับที่ 10 ขึ้นสู่อันดับที่ 4 สำหรับจุดหมายปลายทางต่างประเทศที่คนไทยนิยม และการค้นหาที่พักในนอร์เวย์ เพิ่มขึ้นถึง 49% ซึ่งอาจจะเกิดจากที่การบินไทยเปิดเส้นทางบินรายวันไปยังเมืองออสโลที่เพิ่มมากขึ้น
กิจกรรมที่คนไทยนิยมทำมากที่สุดในต่างประเทศ 5 อันดับ ได้แก่ การเที่ยวยูนิเวอร์แซลสตูดิโอในประเทศสิงคโปร์, เที่ยวพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ศิลปะ ในประเทศสิงคโปร์,เที่ยวดิสนีย์แลนด์ ในฮ่องกง, เที่ยวพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ประเทศสิงคโปร์ และเที่ยวโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศไทย ยังพบว่า คนไทยมีการค้นหาที่พักภายในประเทศเพิ่มขึ้น 8% โดยมี “กรุงเทพฯ” เป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตที่ได้รับความินยมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการค้นหาเพิ่มกว่า 20% จากคนไทย อีกทั้ง “ชลบุรี” ยังเป็นจังหวัดอับดับที่ 5 ที่มีการค้นหาที่พักเพิ่มขึ้น 11% ซึ่งกำลังจะขยับตามเชียงใหม่ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 4 เนื่องจากกระแส “หมูเด้ง” ที่ยังคงฟีเวอร์อยู่