ทักษะด้านดิจิทัลเพิ่มโอกาสแก่ผู้หางานมากขึ้น หนึ่งในข้อมูลสำคัญ จากรายงานภาวะการจ้างงานในประเทศไทยปี 2561 โดยไมเคิล เพจ


ไมเคิล เพจ ประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการสรรหาบุคลากรระดับโลก เผยผลสำรวจพบแนวโน้มบริษัทในประเทศไทยต้องการสรรหาพนักงานที่เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยีชีวภาพ การออกแบบหุ่นยนต์ ไอโอที การพัฒนาซอฟต์แวร์และการตลาดดิจิทัล


นอกจากนั้น รายงานภาวะการจ้างงานในประเทศไทยปี 2561 โดยไมเคิล เพจ (Michael Page Thailand Employment Outlook 2018) ซึ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ ได้คาดการณ์ถึงความต้องการสรรหาบุคลากรระดับมืออาชีพในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนที่เพิ่มขึ้น อ้างอิงจากอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นในภูมิภาค การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบดิจิทัลของเศรษฐกิจไทยและแรงส่งจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศไทย ส่งผลให้ระดับการจ้างงานของประเทศเริ่มเป็นปีที่น่าพอใจ


นายคริสโตเฟอร์ พาลุดัน ผู้อำนวยการ ไมเคิล เพจ ประเทศไทย กล่าวว่า “ในช่วงปี 2560 และ 2561 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการสรรหาบุคลากรระดับมืออาชีพในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน”


“ปี 2561 จะเป็นปีที่น่าตื่นเต้นอย่างมากสำหรับประเทศไทยที่กำลังก้าวเดินไปสู่เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการเป็นเศรษฐกิจเชิงพื้นฐานความรู้ การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการจ้างงานใหม่และโอกาสพัฒนาทักษะสำหรับแรงงานไทยระดับมืออาชีพ นอกจากนี้บริษัททั้งหลายยังจะพิจารณาความสามารถในด้านดิจิทัล ซอฟต์แวร์ประยุกต์ และเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 อีกด้วย” นายคริสโตเฟอร์ กล่าวเสริม


ส่วนหนึ่งที่ทำให้ความต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะด้านดิจิทัลระดับมืออาชีพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เป็นผลมาจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างพลิกผันที่เกิดขึ้นทั่วโลก ความต้องการทักษะด้านดิจิทัลนี้พบเห็นได้ในทุกอุตสาหกรรมและในตำแหน่งงานระดับอาวุโสทั้งในบริษัทประเทศไทยและบริษัทข้ามชาติ


นโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของรัฐบาลได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้หลายๆ บริษัทจำเป็นต้องมีทักษะด้านดิจิทัล นายคริสโตเฟอร์อธิบายว่า “แรงผลักดันดิจิทัลนี้รวมถึงบริษัทอื่นๆ ที่เราอาจจะไม่ได้นึกถึง เช่น บริษัทที่มีกิจกรรมทางธุรกิจแบบดั้งเดิมสูงหรือบริษัทในภาคอุตสาหกรรมอย่างโรงงานการผลิต แต่ในความเป็นจริงนั้น บริษัทเหล่านี้คือหนึ่งในบริษัทที่ต้องการบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัลมากที่สุด เพราะต้องทำงานให้ทันสมัยและสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานของซัพพลายเชน”


แนวโน้มการจ้างงานที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ ไมเคิล เพจ ประเทศไทย ให้ความสนใจคือ การให้ความสำคัญกับการสรรหาคนไทยเพิ่มมากกว่าการสรรหาบุคลากรชาวต่างชาติ ทั้งนี้ รายงานยังระบุว่าบุคลากรไทยได้รับบทบาทผู้บริหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทข้ามชาติ (MNCs) ผู้บริหารเหล่านี้มักมีลักษณะเฉพาะตัว เช่น สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ มีประสบการณ์การทำงานระหว่างประเทศ และเคยมีประสบการณ์ในบริษัทอื่นๆ ทั่วโลก


นายคริสโตเฟอร์กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในบางกรณียังคงต้องมีการว่าจ้างผู้บริหารชาวต่างชาติอยู่เนื่องจากบุคคลากรในตลาดไทยไม่เหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้นๆ ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในอุตสาหกรรมที่มีความเฉพาะหรือขอบเขตงานที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวมักจะเป็นกลยุทธ์การวางแผนเพื่อสืบทอดตำแหน่ง เพื่อถ่ายทอดทักษะใหม่ๆ นี้สู่คนไทย อันจะเป็นประโยชน์ด้านการสร้างความเข้มแข็งของการบริหารจัดการในระดับท้องถิ่นในอนาคต”