คณะกรรมการบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ได้มีมติแต่งตั้ง นายธงชัย ล่ำซำ เข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท แทนนายไพโรจน์ ล่ำซำ ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไป
นายธงชัย ล่ำซำ เริ่มทำงานที่บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2513 จนถึงปัจจุบัน และดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ระหว่างปี 2527-2559 ด้วยประสบการณ์อันยาวนาน และความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการธุรกิจ คณะกรรมการบริษัทเชื่อมั่นว่า การแต่งตั้งนายธงชัยจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท และสานต่อนโยบายของนายไพโรจน์ต่อไป
ทั้งนี้ นายธงชัย ล่ำซำ จบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากวชิราวุธวิทยาลัย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนสาธิตปทุมวัน และมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) สาขาวิศวกรรมเคมี จากแผนกเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโท M.Sc. จาก Illinois Institute of Technology, U.S.A. นอกจากนี้ยังเคยผ่านหลักสูตร Advanced Management Program, Harvard Business School, U.S.A. หลักสูตรการวางแผนกลยุทธ์ จาก IMD (institute of Management Development) สวิสเซอร์แลนด์ หลักสูตร Director Accreditation Program โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
มุ่งโตทั้งรายได้และกำไร ภายหลังตั้งสำรองเต็มจำนวนในปี 2560
เพื่อปลดล็อคการตั้งสำรองในอนาคต
นายสุรช ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่เปิดเผยผลการดำเนินงานของปี 2560 ที่ผ่านมา ระบุว่า กลุ่มบริษัทล็อกซเล่ย์ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยทำรายได้อยู่ที่ 15,369 ลบ. เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับปี 2559 และผลกำไรจากการดำเนินงานปกติของปี 2560 อยู่ที่ 351 ลบ. เพิ่มขึ้นจาก 266 ลบ.ในปีก่อน แต่กำไรสุทธิที่ลดลงมาเป็น 50 ลบ. เนื่องจากมีรายการตั้งสำรองที่ 397 ลบ. สาเหตุที่สำรองสูงดังกล่าว เพราะบริษัทฯ ตั้งสำรองเต็มจำนวนเพื่อลดภาระการตั้งสำรองที่เกิดขึ้นทุกปี
“การจัดทัพใหม่ของบริษัทฯ แบ่งเป็น 5 กลุ่มธุรกิจ ส่งผลดีต่อบริษัทฯ ในการลบภาพการทำธุรกิจหลากหลายแบบเดิมๆซึ่งมีทั้งธุรกิจที่ทำกำไรและขาดทุน การจัดทัพใหม่ บริษัทฯเลือกเฉพาะธุรกิจที่ทำกำไร มีศักยภาพและอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต ในแต่ละกลุ่มธุรกิจจะมีหน่วยงานที่มีสายงานที่ใกล้เคียงกัน มีลักษณะที่เอื้อกันทำให้สามารถสร้างจุดแข็งเพื่อต่อยอดรายได้ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน รวมทั้งสามารถปรับลดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนกัน คือมี Synergy ทั้งด้านการเพิ่มรายได้และการลดค่าใช้จ่าย” นายสุรช กล่าว
ส่วนภาพรวมแผนธุรกิจของปีนี้ บริษัทฯ วางกลุ่มธุรกิจบริการอาหารและจัดจำหน่าย และกลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มที่มีฐานรายได้ที่แข็งแกร่ง ส่วนกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ ธุรกิจเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ และธุรกิจบริการเป็นกลุ่มที่ผลักดันการเติบโตของรายได้ในปี 2561 ซึ่งการเติบโตของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศจะได้แรงหนุนจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National E-payment Plan)ค่อนข้างมาก รวมทั้งฐานลูกค้าเดิมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีการลงทุนเพิ่มด้านเทคโนโลยีสารสนเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
สำหรับกลุ่มธุรกิจเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ ตัวเร่งหลักมาจากงานติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (ขาออก) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่บริษัทฯเพิ่งได้งานมา 3,600 ลบ. ส่วนกลุ่มธุรกิจบริการ ตัวเร่งจะมาจากความต้องการด้านบริการงานรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่าอากาศยานจากทั้งกฎระเบียบและจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ กล่าวอีกว่า รายได้ปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 15-20% ซึ่งจุดแข็งคือ บริษัทฯมีฐานรายได้ประมาณ 10,500 ลบ.ซึ่งมาจากงานในมือที่ได้มาแล้ว 10,659 ลบ. ซึ่งตามสัญญาจะรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ประมาณ 7,200 ลบ. กับฐานรายได้กลุ่มธุรกิจบริการอาหารและจัดจำหน่าย ประมาณ 3,300 ลบ. รวมทั้งงานตามแผนเข้าประมูลในปีนี้มากกว่า 20,000 ลบ. ในด้านกำไร บริษัทฯ มีความมั่นใจมากขึ้น ทั้งจากลดภาระการตั้งสำรอง การจัดทัพที่มี Synergy ทั้งการเพิ่มรายได้และการลดค่าใช้จ่าย ที่สำคัญคือฐานกำไรจากส่วนแบ่งกำไรของบริษัทร่วมที่ลดลงในปี 2560 แต่ตามแผนปี 2561 ส่วนแบ่งกำไรจะเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากกำไรของบริษัทร่วมที่ลดลงในปี 2560 เป็นรายการ One-time รวมทั้งแผนการเติบโตทั้งรายได้และการทำกำไรของปีนี้จากบริษัทร่วม ที่ทำให้บริษัทฯมีความมั่นใจมากขึ้น
“กรณีลูกหนี้การค้าขององค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) บ.ย่อย (บมจ.ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลส) และ สกสค. ได้เข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความในเดือนธันวาคม 2560 โดยจากมูลหนี้คงค้าง 1,386 ล้านบาท สกสค.ตกลงชำระหนี้โดยการผ่อนชำระภายในระยะเวลา 6 ปี เริ่มต้นชำระในเดือนมกราคม 2561 ซึ่งในการผ่อนชำระทำให้มีส่วนต่างระหว่างมูลค่าหนี้คงค้างกับมูลค่าหนี้ปัจจุบันของกระแสเงินสดที่จะได้รับชำระ ส่งผลทำให้ บ.ย่อยมีผลขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้เป็นจำนวน 337 ล้านบาท ซึ่งบริษัทตั้งผลขาดทุนเต็มจำนวนในปี 2560 โดยปัจจุบันการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีการชำระหนี้ตามปกติ”