แอปเปิล เตรียมบุก “ธุรกิจสุขภาพ” เตรียมเปิด “AC Wellness” 2 แห่งภายในปีนี้

แอปเปิล (Apple) ประกาศเปิดตัวบริการคลินิคสุขภาพของตัวเองแล้วในชื่อ เอซี เวลล์เนส (AC Wellness) โดยมีการวิเคราะห์กันว่า เป็นการเดินตามรอยของแอมะซอน (Amazon) ที่ตัดสินใจรุกธุรกิจสุขภาพเพื่อบริการพนักงานของตัวเองไปเมื่อก่อนหน้านี้

โดยความร่วมมือของแอมะซอนนั้นเกิดขึ้นจากการจับมือกับเบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway) และเจพี มอร์แกน (JP Morgan) ขณะที่ AC Wellness ตั้งขึ้นเพื่อรองรับพนักงานและครอบครัวของชาวแอปเปิล โดยบริษัทมีแผนจะเปิดเฮลท์แคร์เซนเตอร์สองแห่งในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ที่ซานตาคลาราเคาท์ตี้ แคลิฟอร์เนีย ใกล้ ๆ กับคูเปอร์ติโน ที่ตั้งของแอปเปิลพาร์ค (Apple Park) และสำนักงานใหญ่อย่าง Infinite Loop 

โดยในตอนนี้ ทางแอปเปิลได้มีการประกาศรับสมัครแพทย์ นางพยาบาล นักกายภาพบำบัด และอีกหลายตำแหน่ง ผ่านทางเว็บไซต์ acwellness.com ที่เปิดขึ้นมาแบบเงียบ ๆ แต่จุดที่น่าสังเกตคือตำแหน่งแพทย์นั้น ได้มีการเน้นย้ำว่าต้องเคยผ่านประสบการณ์ในการป้องกันโรคแห่งอนาคต (แอปเปิลใช้คำว่า Preventing Future Disease) และมีความกระตือรือร้นที่จะนำเสนอแนวทางในการรักษาใหม่ ๆ โดยใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ ตำแหน่งงานที่ AC Wellness ประกาศรับสมัครนั้น ก็ได้ไปปรากฏอยู่บนเว็บไซต์หางานอย่าง Glassdoor และ Indeed.com แล้วด้วย

รายงานจาก CNBC ยังเผยด้วยว่า มีอดีตทีมงานจากสแตนฟอร์ด เฮลท์ แคร์ (Standford Health Care) ได้เข้ามาทำงานที่ AC Wellness แล้วอย่างน้อยห้าเดือน

นอกจากนั้น แอปเปิลยังเปิดรับสมัครดีไซน์เนอร์ เพื่อรับหน้าที่ออกแบบโปรแกรมสำหรับพนักงานเพื่อโปรโมตวิถีแห่งการมีสุขภาพดี และปลอดจากโรคด้วย โดยดีไซน์เนอร์จะต้องทำงานร่วมกับทีมเทคโนโลยี และทีมจากฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท

แหล่งข่าวจาก CNBC เผยด้วยว่า คลินิคสุขภาพแห่งนี้อาจใช้เป็นที่ทดสอบบริการด้านสุขภาพ และโปรดักซ์ใหม่ๆ ที่อาจพัฒนาออกมาวางขายในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน แอปเปิลเองก็มีการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เพื่อหาทางให้แอปเปิลวอทช์ (Apple Watch) สามารถตรวจจับการเต้นที่ผิดปกติของหัวใจอยู่

ทั้งนี้ บนเว็บไซต์ของแอปเปิลได้อธิบายถึงธุรกิจของ AC Wellness ว่าเป็นบริษัทในเครือของแอปเปิล 

โดยปัจจุบัน แอปเปิลมีพนักงานมากกว่า 120,000 คน และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็เป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่สูงมากสำหรับองค์กร ซึ่งไม่เฉพาะแอปเปิล แต่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพปีหนึ่ง ๆ สูงถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (2016) หรือคิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี (อ้างอิงจาก the US Centers for Medicare and Medicaid Services)

แม้ว่าบริษัทในสหรัฐอเมริกาที่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลจะได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษี แต่ต้นทุนดังกล่าวก็เริ่มสูงมากขึ้นจนกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทไปตาม ๆ กัน นี่จึงอาจเป็นการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสของบริษัทยักษ์ใหญ่ก็เป็นได้.

ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000020295