กลุ่มทรู กลับมาทำกำไร 2,323 ล้านบาท ในปี2560 จากการเติบโตของธุรกิจมือถือและธุรกิจบรอดแบนด์ และการขายทรัพย์สินเข้ากองทุน พร้อมประกาศจ่ายเงินปันผลเป็น”เงินสด”ครั้งแรก ตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2536 ในราคาหุ้นละ 0.031 บาทต่อหุ้น ในวงเงินทั้งหมด 1,000 ล้านบาท
ในปี 2558 กลุ่มทรูได้เคยประกาศปันผลมาแล้ว ในอัตรา 0.06 บาทต่อหุ้น จากผลประกอบการที่มีกำไรจำนวน 4,411 ล้านบาท แต่เป็นการปันผลอยู่ในรูปแบบให้เป็นหุ้น จากจำนวน 200 หุ้นจะได้ 3 หุ้น ดังนั้นครั้งนี้จึงเป็นการจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดครั้งแรก
กลุ่มซีพีถือหุ้นใหญ่ 37% ได้ปันผลเกือบ 400 ล้าน
จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2560 กลุ่มเครือซีพีทั้งหมดที่ถือหุ้นในนามบริษัทต่างๆ ถือรวมกันประมาณ 37 % เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ตามมาด้วยกลุ่มพาร์ทเนอร์จากจีน– ไชน่า โมบายล์ อินเตอร์เนชั่นแนล ถือ 18%
หากคำนวณจากจำนวนหุ้นที่ทั้งสองกลุ่มมีอยู่ในทรู กลุ่มซีพีจะได้เงินปันผลประมาณ 373 ล้านบาท และไชน่าโมบาย จะได้เงินปันผลประมาณ 186 ล้านบาท
ทั้งนี้จะมีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้
ทรูมูฟ เฮช ทำรายได้ 75% ของรายได้รวม
ในปี 2560 กลุ่มทรูมีรายได้รวม 141,290 ล้านบาท สูงกว่า 13.3% ของปี 2559 ที่มีรายได้รวม 124,719 ล้านบาท โดยมีรายได้หลัก 75% จากธุรกิจมือถือ ทรูมูฟ เฮช ที่มีรายได้รวม 111,311 ล้านบาท , 18% มาจากธุรกิจบรอดแบนด์ ของทรูออนไลน์ที่มีรายได้รวม 36,149 ล้านบาท และ 7% จากทรูวิชั่นส์ ที่มีรายได้รวม 12,236 ล้านบาท
ทั้งปีมีกำไรทั้งหมด 2,323 ล้านบาท โดยเป็นการพลิกกลับมากำไร หลังจากขาดทุนในปี 2559 จำนวน 2,814 ล้านบาท
มือถือเติบโต ยอดลูกค้าเพิ่มทั้งปี 2.7 ล้านราย
ทรูชี้แจงว่า ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่มมีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่รวม 2.7 ล้านราย ทำให้ตัวเลขผู้ใช้บริการมือถือรวมทั้งหมด 27.2 ล้านราย เป็นลูกค้าแบบเติมเงิน 20.3 ล้านราย และลูกค้ารายเดือน 6.9 ล้านราย โดยมีรายได้จากบริการนอนวอยซ์อยู่ที่ 42,.416 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.7% จากปี 2559 ทำให้ทรูมูฟ เฮชอยู่ในอันดับ 2 ของตลาด และยังมีอัตราเติบโตมากกว่าอุตสาหกรรมโดยรวมที่มีจำนวนลูกค้าลดลงทั้งหมด 2.8 ล้านเลขหมาย
นอกจากนี้รายได้ของตลาดมือถือรวมในปี 2560 เติบโตทั้งระบบ 5.7% ซึ่งทรูระบุว่า เป็นผลมาจากการเติบโตด้านรายได้เฉพาะจากการให้บริการของทรูมูฟ เอช ที่เติบโตสูงถึง 17.3 % อยู่ที่ 67,885 ล้านบาท ที่มาช่วยผลักดันให้ตลาดเติบโตสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557
ก่อนหน้านี้เอไอเอสแจ้งตลาดฯว่า ในปี 2560 มียอดผู้ใช้บริการรวม 40 ล้านราย ลดลง 1 ล้านรายจากปี 2559 ในขณะที่ดีแทคมีลูกค้ารวม 22.7 ล้านราย ลดลง 1.8 ล้านราย
บรอดแบนด์หนุนส่ง ลูกค้าเพิ่ม 385,000 ราย
รายได้เฉพาะการให้บริการบรอดแบนด์ อินเตอร์เนทอยู่ที่ 23,138 ล้านบาท เติบโต 9.8%จากปีก่อนหน้า โดยมีจำนวนลูกค้าบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้นทั้งปี385,000 ราย เป็น 3.2 ล้านราย ซึ่งทั้งหมดเป็นการให้บริการบนโครงข่าย FTTx
ทั้งนี้การขยายของบรอดแบนด์ เป็นผลมาจากขยายเครือข่ายไฟเบอร์ ที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 13 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
ทรูวิชั่นส์ รายได้รวมลด 1.4%
ธุรกิจเพย์ทีวีโดยรวมมีรายได้ลดลงจาก 12,406 ล้านบาทในปี 2559 มาอยู่ที่ 12,236 ล้านบาท หรือลดลง 1.4%
เป็นผลมาจากรายได้จากธุรกิจมิวสิค เอ็นเตอร์เทนเมนท์ และอื่นๆ ลดลง 8.4 % จาก 2,473 ล้านบาท มาอยู่ที่ 2,265 ล้านบาท เพราะลดการจัดกิจกรรมลง และพยายามมุ่งเน้นที่จะให้กำไรเท่านั้น
แต่รายได้จากค่าสมาชิกเพิ่มขึ้น โดยมียอดลูกค้าในแบบจ่ายค่าสมาชิกเพิ่มขึ้น 175,961 ราย มามียอดรวม 2.2 ล้านราย ส่วนยอดฐานลูกค้าทรูวิชั่นส์ในระบบทั้งหมด 4 ล้านราย และยังมีรายได้จากค่าโฆษณา เพิ่มขึ้น 2.1% จาก 1,744 ล้านบาท ของปี 2559 มาอยู่ที่ 1,781 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามการโฆษณาในทรูวิชั่นส์ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในเครือทรูและบริษัทในเครือ
ขายทรัพย์สินเข้ากองทุน DIF
มีการรายงานรายได้จากการขายสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (Digital Telecommunications Infrastructure Fund หรือ DIF) และการทำแคมเปญดีไวซ์หลากหลายในกลุ่มทรู มีมูลค่ารวม 23,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.6% จากปี 2559 ทั้งนี้ หากไม่รวมธุรกรรมกับ DIF รายได้จากการขายจะเพิ่มขึ้น 3.4% จากปี2559 มาอยู่ที่ 17,400 ล้านบาท
กำไรก่อนหักภาษี หรือ EBITDA ของกลุ่มเติบโต 59.2 % จากปี 2559 เป็น 39,912 ล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้ DIF แล้ว EBITDA ของกลุ่มทรูจะเพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับปี 2559 เป็น 34,000 ล้านบาท
ทั้งนี้การขายทรัพย์สินนี้มีส่วนสำคัญทำให้ผลประกอบการโดยรวมกำไร ทั้งๆที่ในไตรมาส 3 ของปีนี้ ยังรายงานการขาดทุนอยู่ที่ 3,088 ล้านบาท.