ผลการประชุม กสทช. วันที่ 7 มี.ค. 2561


นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า การดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ต่อบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ VoIP (Voice over Internet Protocol ) ที่มีลักษณะการนำเข้า Traffic บริการ VoIP จากต่างประเทศซึ่งเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมแถลงข่าวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปแล้วนั้น จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ทู เอ พลัส จำกัด เป็นผู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. นั่นคือมีความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544  และสำนักงาน กสทช. ได้ไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ยังสถานีตำรวจแล้ว และมีอีก 4 บริษัท ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. จริง แต่ดำเนินการเกินกว่าขอบเขตของเงื่อนไขใบอนุญาตที่ได้ประกาศกำหนดไว้ สำนักงาน กสทช. ก็ได้ร้องทุกข์กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วเช่นกัน โดยทั้ง 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท เทคโนเวท โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัท วัน-ทู-ออล จำกัด บริษัท สวัสดีช้อป จำกัด และบริษัท จีไอเอส (ประเทศไทย) จำกัด


นายฐากร กล่าวว่า สำหรับผลการประชุม กสทช. วันนี้ (7 มี.ค. 2561)มีมติอนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายการดำเนินงานที่จำเป็นของสำนักงาน กสทช. ประจำปี 2561 จำนวน 3,820 ล้านบาท ที่ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ ดีอี) แล้ว เพื่อดำเนินการตามแผนงานและโครงการตามยุทธศาสตร์ของสำนักงาน กสทช. ที่จำเป็น ซึ่งเป็นวงเงินที่ต่ำกว่าในปีก่อนๆ โดยแบ่งเป็น 1.รายจ่ายสำหรับการดำเนินงานที่จำเป็น (ขั้นต่ำ) จำนวน 2,075.271 ล้านบาท 2.รายจ่ายที่ผูกพันต่อเนื่องมาจากปีก่อน จำนวน 1,744.789 ล้านบาทเพื่อดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยกรอบงบประมาณที่ได้รับอนุมัติในครั้งนี้จะไม่มีงบลงทุนใหม่เลย จึงทำให้กรอบวงเงินงบประมาณของ กสทช. ในปี 2561 ต่ำกว่ากรอบวงเงินงบประมาณในปีที่ผ่านๆ มา


สำหรับเรื่องการปรับโครงสร้างสำนักงาน กสทช. ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2560 นั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มีการอภิปรายกันในเรื่องนี้ ซึ่งจะให้ กสทช. นำกลับไปศึกษาก่อนที่จะมีการพิจารณากันในการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 14 มี.ค. 2561 แต่แนวโน้มคงน่าจะให้  กสทช. ชุดใหม่ เป็นคนเข้ามาพิจารณาเรื่องโครงสร้างใหม่ของสำนักงาน กสทช. เพื่อปรับองค์กร ให้รองรับการทำงานของ กสทช. ชุดใหม่ และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2560 อย่างมีประสิทธิภาพ


เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ได้เห็นชอบการปรับแผนยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกของสถานีวิทยุโมเดิร์นไนน์ (ช่อง 9) จำนวน 36 สถานี โดยระยะที่ 1 ยุติจำนวน 13 สถานี ได้แก่  1.สระแก้ว 2.สกลนคร 3.เพชรบูรณ์ 4.น่าน 5.มุกดาหาร 6.ตาก 7.ชุมพร 8.เลย 9.ระนอง 10.สตูล 11.แม่ฮ่องสอน 12.แม่สะเรียง (จ.แม่ฮ่องสอน) 13.ตะกั่วป่า (จ.พังงา) ในวันที่ 15 ก.พ. 2561 เวลา 00.00 น. และระยะที่ 2 ยุติจำนวน 23 สถานี ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ 2.นครราชสีมา 3.สงขลา 4.เชียงใหม่ 5.อุบลราชธานี 6.ระยอง 7.สิงห์บุรี  8.สุราษฎร์ธานี 9.ยะลา 10.สุโขทัย 11.นครสวรรค์ 12.ตรัง 13.ขอนแก่น 14.ตราด 15.ภูเก็ต 16.อุดรธานี 17.ลำปาง 18.แพร่ 19.เชียงราย 20.ร้อยเอ็ด 21.สุรินทร์ 22.ประจวบคีรีขันธ์ 23.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 16 ก.ค. 2561 เวลา 00.00 น. และมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการประสานขอความร่วมมือไปยังบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (ช่อง 3) เพื่อขอให้ช่อง 3 ปรับแผนยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกให้เร็วขึ้น จากเดิมที่จะยุติในเดือน มี.ค. 2563 เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน


จากนั้นที่ประชุม กสทช. ได้มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการ ดีอี ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2561 ที่เห็นชอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนำงบประมาณเหลือจ่ายจากการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐจำนวน 24,700 หมู่บ้านในช่วงเดือน ม.ค. 2560 – ก.ย.2561 มาดำเนินการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยวางสายเคเบิลใยแก้วนำแสงให้ครอบคลุมพื้นที่ Zone C ที่เหลือ จำนวน 15,732หมู่บ้าน แทนสำนักงาน กสทช. โดยมอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการต่อเนื่องในลักษณะเบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกัน


และเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะกรรมการ ดีอี ดังกล่าว ที่ประชุม กสทช. จึงมีมติเห็นชอบอนุมัติให้สำนักงาน กสทช. ชะลอแผนการจัดการประกวดราคาโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) จำนวน 15,732 หมู่บ้าน จนกว่าจะได้รับทราบมติคณะรัฐมนตรีที่ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้ดำเนินการโครงการดังกล่าวแล้วจึงนำกลับมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง


จากนั้นที่ประชุม กสทช. ได้รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2561 ที่ให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาจัดสรรงบประมาณตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (แผนUSO) เพื่อใช้จ่ายครอบคลุมพื้นที่ Zone C ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562เป็นต้นไปเป็นระยะเวลา 5 ปี ดังนี้


1.ค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สาย (Wi-Fi) และค่าดูแลและบำรุงรักษาโครงข่ายเน็ตประชารัฐที่ครอบคลุมหมู่บ้านในพื้นที่ Zone Cทั้งหมด 40,432 หมู่บ้าน


2.ค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและค่าดูแลและบำรุงรักษาโครงข่ายในพื้นที่ Zone C ที่ขยายไปยังโรงเรียนจำนวน 3,196 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) และสุขศาลาจำนวน 812แห่ง


3.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (ศูนย์USO Net และศูนย์ดิจิทัลชุมชน) เป็นระยะเวลา 5 ปี


นายฐากร ยังกล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ขณะนี้สำนักงาน กสทช. ยังไม่ได้รับหนังสือตอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับมาว่าเรื่องดังกล่าวกสทช. ชุดปัจจุบันมีอำนาจดำเนินการได้หรือไม่ ดังนั้น การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้