อลหม่านกันไปพักใหญ่ หลัง “เฟซบุ๊ก” ปรับการแสดงผลรูปภาพบนที่โพสต์บนมือถือ (Mobile) เป็น 1X1 นั่นทำให้รูปภาพที่ขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปภาพออริจินัล ถูกครอบตัดพื้นที่รูปภาพบางส่วนออกไป เช่น ผู้บริโภคที่โพสต์รูปภาพเต็มตัว บ้างศีรษะและขาขาด ส่วนภาพ Info graphic ต่าง ๆ ก็ไม่สามารถเห็นหรืออ่านเนื้อหาได้ครบ
นอกจากนี้ผู้ใช้งานบนเฟซบุ๊กยังไม่สามารถกดดูรูปภาพเต็มได้ กดซูมขยายรูปภาพไม่ได้และไม่สามารถเซฟรูปภาพได้ด้วย ที่สำคัญการลงรูปภาพจำนวนหลาย ๆ รูปภาพ (Carousel) ก็จะปรากฏแต่เนื้อหาข้อความเท่านั้น แต่จะไม่เห็นรูปภาพประกอบ ทำให้ต้องผู้อ่านต้องมโนชั่วคราว
กรณีดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคเพจดัง พ่อค้าแม่ขายบนโซเชียลคอมเมิร์ซต่างออกมาบ่นกันเป็นเสียงเดียวกัน เป็นข่าวด่วน! ข่าวใหญ่! ถึงการแก้ไข ปรับปรุงอัลกอริทึม News Feed บ่อย ๆ ของเฟซบุ๊กจนคนละเลิกเล่นกันแล้ว
“พเนิน อัศววิภาส” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โธธ โซเชียล โอบีว็อค ให้ความเห็นว่า การที่เฟซบุ๊กปรับการแสดงผลบนหน้าจอมือถือ มีความเป็นไปได้กำลังผลักดันนโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Policy) เหมือนกับประเทศในทวีปยุโรป ทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถเข้าไปกดเซฟรูปภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ นำรูปภาพบนโซเชียลมีเดียไปใช้งาน เพราะอาจมีผลกระทบต่อควมเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน (User) นั่นเอง
แม้ว่าในความเป็นจริงผู้บริโภคก็ยังสามารถแคปหน้าจอรูปภาพได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวห้ามไม่ได้ แต่ก็นับเป็นการพยายามของเฟซบุ๊กในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
หากการปรับแสดงผลดังกล่าวมีผลถาวรผลกระทบต่อเพจเด่นแบรนด์ดังก็ต้องทำตามกฎ และหากต้องการให้ผู้บริโภคเห็นรูปภาพเต็มคอนเทนต์ที่สมบูรณ์ตามต้นฉบับ จะต้องปรับตัวในการทำสื่อรูปภาพใหม่ ซึ่งกรณีดังกล่าวคล้ายกับการแสดงผลรูปภาพปก หรือ Cover Photo ของเฟซบุ๊กบนมือถือเมื่อ 2 ปีก่อน จะหายไปประมาณ 45% นั่นหมายถึงคนดูไม่สามารถเห็นภาพเต็มของโลโก้เพจแบรนด์ดังได้ ทำให้ต้องแก้ไขโดยการจัดวางรูปภาพกันใหม่ไปอยู่ตรงกลาง และเว้นพื้นที่ด้านข้างซ้ายขวาไว้
ทั้งนี้เฟซบุ๊กมีการปรับปรุงแพลตฟอร์มอยางต่อเนื่อง ยังสอดคล้องกับ Motto ขององค์กรที่ว่า Move Fast and Break Things. เพราะยุคนี้การปรับตัวตลอดเวลาเป็นสิ่งสำคัญ และหากปรับปุ๊บเกิดผลกระทบตามมาก็เบรกได้
“การที่เฟซบุ๊กปรับปรุงแพลตฟอร์มอยู่บ่อย ๆ เป็นการทำตามความต้องการของผู้ใช้งาน หรือ User จริง ๆ โดยก่อนปรับเปลี่ยนอะไร เฟซบุ๊กมีการทำรีเสิร์ชเพื่อหา Insight หรือความต้องการเชิงลึกของผู้ใช้เยอะมาก เมื่อพบว่า User ขยับตัวไปทางไหนเฟซบุ๊กก็ต้องไปตาม ขณะเดียวกันนักการตลาด แบรนด์ และเพจนดัง ก็ต้องมูฟตามเฟซบุ๊กเช่นกัน เพราะสุดท้ายก็เป็นการเกาะติดผู้บริโภคเหมือนกัน”
ปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยใช้งานเฟซบุ๊กราว 50 ล้านคน จำนวนผู้ใช้งานเติบโต 4% อัตราการเติบโตดูเหมือนไม่มากนักเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ แต่จำนวนดังกล่าวถือว่าครอบคลุมผู้บริโภคกว่า 70% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่มาก ดังนั้นโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กจึงยังทรงอิทธิลต่อคนหมู่มาก และแบรนด์ยังต้องใช้เป็นเครื่องมือในการทำตลาด สร้างแบรนด์ สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายเหมือนเดิม
ยอมรับว่าการปรับปรุงของเฟซบุ๊กส่งผลให้แบรนด์สินค้าและบริการออกอาการบ่นกันพอสมควร แต่ต้องยอมรับว่าเฟซบุ๊กคือแพลตฟอร์มที่ทรงพลังมีอำนาจต่อรองสูง สิ่งที่นักการตลาดต้องทำคือปรับตัวตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ความอลหม่านของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่เกิดขึ้นยังต้องรอติดตามอย่างใกล้ชิด ว่าเป็นการพยายามผลักดันนโยบายปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้จริง ๆ หรือเป็นเพียงข้อผิดพลาด (Bug) ที่เกิดจากการทดลองปรับปรุงแพลตฟอร์ม ความโกลาหลนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นาน ล่าสุด เฟซบุ๊กได้กลับมาใช้งานได้ปรกติแล้ว.