ผนึกกำลัง 31 บริษัทชั้นนำ ไทย-อิตาลี ในการประชุม อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม พุ่งเป้าส่งเสริมธุรกิจการค้าการลงทุนร่วมกัน


การประชุม อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม (Italian-Thai Business Forum) ครั้งที่ 4 ณ โรงแรมศาลาภูเก็ต ประเทศไทย ที่ผ่านมา จัดโดยสภาหอการค้าและสมาชิกสภาหอการค้าฝั่งประเทศไทย ได้มีการรวมตัวของผู้นำทางด้านธุรกิจชั้นนำจากทั้งประเทศไทย 16 บริษัท และประเทศอิตาลี 15 บริษัท รวมทั้งสิ้น 31 บริษัท เพื่อหารือแนวทางการขยายการลงทุนร่วมกัน อีกทั้งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในโอกาสครบรอบ 150 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต


อิตาเลียนไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม (Italian-Thai Business Forum) ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2558 โดยแนวคิดของเอกอัครราชทูตอิตาเลียนประจำประเทศไทย ฯพณฯ ท่านฟราสเชสโก ซาเวริโอ นิซิโอ โดยความร่วมมือจาก คณะกรรมการการค้าแห่งประเทศไทย (Board of Trade of Thailand หรือ BOT) และการสนับสนุนจากกระทรวงต่างประเทศของประเทศอิตาลี เป็นเวทีสำคัญในการพบปะภาคเอกชนของไทยและอิตาลี และเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความร่วมมือและพัฒนาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศอีกด้วย กลุ่มธุรกิจของไทยและอิตาลีที่เข้าร่วมประชุมมีมูลค่าทางการเงินรวมกันกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ


การประชุมครั้งที่ 3 เมื่อปี 2560 ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นำไปสู่การลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยและอิตาลี โดยมีประธานการประชุมร่วม ได้แก่ ฝั่งไทย นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ รองประธานกรรมการกลุ่มเซ็นทรัล และ ฝั่งอิตาลี มร. คาร์โล เปเซนจิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทอิตาโมบิเล (Italmobiliare) สะท้อนถึงสายสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่างประเทศไทยและประเทศอิตาลี โดยการประชุม Italian-Thai Business Forum ได้รับการยอมรับทางการเมืองโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของทั้งสองประเทศ


ล่าสุดในปี 2561 การประชุม อิตาเลียนไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยมีมูลค่าการค้าของสองประเทศอยู่ที่ประมาณ 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.8% จากปี 2560 นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีในการแบ่งปันข่าวสารเกี่ยวกับการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) ภายใต้โครงการประเทศไทย 4.0 ซึ่งเน้นเรื่องการกระตุ้นและพัฒนาโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด ที่ช่วยผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา


นอกจากนี้คณะกรรมการในที่ประชุมยังมุ่งมั่นที่จะ พัฒนาความร่วมมือระหว่างโรงเรียนอาชีวะและโรงเรียนออกแบบเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักธุรกิจรุ่นใหม่ในสายอาชีพและสายการออกแบบ ซึ่งเป็นสายงานที่มีความสำคัญต่อคณะกรรมการการค้าแห่งประเทศไทยอีกด้วย


ข้อสรุปเพิ่มเติมของการประชุม อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ครั้งที่ 4 มีเนื้อหาดังนี้


  1. เอกอัครราชทูตอิตาลี ประจำประเทศไทย นายฟรันเซสโก ซาเวรีโอ นีซีโอ H.E. Mr. Ambassador Francesco Saverio Nisio เปิดเผยว่า “เตรียมจัดทำนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองไทยในชื่อ “ANIT”(Agenzia Nazionale del Turismo) – Italian State Tourism Board) โดยวางแผนติดต่อกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), การบินไทย (TG) และกลุ่มดุสิตธานี ในการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศให้ขยายตัวมากขึ้น


  2. คุณกฤษดา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตร เสนอความร่วมมือด้าน Bio Economy เนื่องด้วยประเทศอิตาลีมีความก้าวหน้าในด้านเกษตรกรรมและชีววิทยาศาสตร์ เป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนเทคนิคและความรู้เพื่อการพัฒนาของไทย จึงได้เสนอการพัฒนาสร้างขีดความสามารถของระบบเศรษฐกิจไทยผ่านการ ปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศแบบ 4.0 ด้วยนวัตกรรม เศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio economy) ซึ่งเป็น 1 ใน S-Curve ที่รัฐบาลสนับสนุน โดยประเทศไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระบบด้านล่างของปิรามิดที่นำผลผลิตมาเป็นอาหารของคนและสัตว์เท่านั้น ยังพัฒนาไม่ถึงผลิตภัณฑ์ด้านยาซึ่งจะ สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลการเกษตรของไทย เช่น อาหารในอนาคตที่เหมะกับแต่ละบุคคล ยารักษาโรคที่ตรงกับ DNA ของคนไข้ พลังงานไฮโดรเจนทำจากน้ำตาลกลูโคส ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากรต่างๆมากมายที่สามารถทำได้


  3. นายมาร์ค บริน (Mr. Mark Brinn, Head of SEA, Pakistan and Japan) จากบริษัท CNH Industrial ผู้นำแบรนด์อุปกรณ์การเกษตรระดับโลกจากประเทศอิตาลี และมีสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคอยู่ที่ประเทศไทยเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีเศรษฐกิจภาคการเกษตรที่โดดเด่นและเป็นประเทศที่ยังมีศักยภาพในการเจริญเติบโตได้อีกมาก จึงได้วางแผนว่าภายในปี 2562 จะเปิดการดำเนินงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากการขายในบริษัทแม่ในประเทศไทย ที่ถนนสาทร ( Headquarter) นั่นคือจะมีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในไทย และการให้บริการด้านเทคนิคต่างๆ ร่วมด้วย เพื่อดำเนินงานด้านเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมภาคการเกษตรของไทยได้เป็นอย่างดี


  4. นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม้ กล่าวว่า ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในประเทศไทยมีการเติบโตค่อนข้างสูง มีผลมาจากการเติบโตของตลาดโรงแรมและการท่องเที่ยว โดยในปีนี้บริษัทเตรียมเดินทางไปร่วมงานจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ เครื่องใช้และของแต่งบ้านชั้นนำของประเทศอิตาลีที่เมืองมิลาน “Salone Internazionale del Mobile di Milano ” ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอีเว้นท์ใหญ่ของประเทศอิตาลี ภายใต้โครงการ H&H project (High Hospitality Project) ระหว่างวันที่ 17-22 เมย.2561 เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยในประเทศอิตาลี


  5. บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (Singha Corporation Co., Ltd.) ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท วิตตอเรีย อินดัสตี้ จำกัด (Vittoria Industries Ltd.) บริษัทผลิตยางล้อ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในประเทศอิตาลี ร่วมกันเปิดบริษัทใหม่ชื่อว่า กราฟีน ครีเอชั่น (Graphene Creations) ที่นำวัสดุ “กราฟีน – graphene” (แผ่นกราฟีน คือ ชั้นหนึ่งของอะตอมคาร์บอน มีคุณสมบัติคือ เป็นตัวนำไฟฟ้าชั้นยอด และมีความแข็งแกร่งกว่าเหล็กกล้าหลายร้อยเท่า) มาผลิตเป็นสินค้าต่างๆ เช่น นำมาผสมเนื้อผ้าเสื้อผ้า และ ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย โดยวัตถุประสงค์การจัดตั้งและดำเนินงาน คือ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านแกรฟิน ได้มาร่วมมือกันและก่อเกิดโอกาสธุรกิจใหม่ๆขึ้น, เพื่อจัดตั้งแบรนด์ผลิตภัณฑ์แกรฟินใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดโลก โดยกระจายสินค้านั้นสิงห์ คอปอเรชั่น จะเป็นผู้รับผิดชอบ และบริษัทวิตตอเรีย รับหน้าที่เป็นฐานการผลิต, เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่สู่ตลาดโลก และ เพื่อต้องการสร้างความร่วมมือใหม่กับบริษัทคู่ค้า เพื่อกระจายความเสี่ยงในธุรกิจดั้งเดิมของสิงห์ (เครื่องดื่มเบียร์)


  6. คุณธงชัย อานันโทไทย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เผยว่า ธนาคารกรุงเทพยินดีให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการค้าระหว่างประเทศไทยและอิตาลี ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าสินค้ามาจำหน่ายในไทย หรือส่งออกสินค้าจากเมืองไทย ในฐานะของธนาคารอันดับ 1 ในไทย ที่พัฒนาการดำเนินงานผ่านจุดวิกฤตทางการเงินของไทยมาแล้วในยุคต้มยำกุ้ง และรู้จักทุกแง่มุมการค้าเมืองไทย นอกจากนี้ธนาคารกรุงเทพ ยังได้เชื่อมต่อเทคโนโลยีสำหรับการให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Block Chain ที่ทำให้ข้อมูล Digital transaction สามารถแชร์ร่วมกันได้ เป็นเสมือนห่วงโซ่ (Chain) ที่ทำให้ block ของข้อมูลเชื่อมต่อไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น โดยที่ทราบว่าใครที่เป็นเจ้าของและมีสิทธิในข้อมูลนั้นจริงๆ โดยลูกค้าสามารถติดต่อ Block Chain ผ่านธนาคารกรุงเทพได้อีกด้วย


  7. คุณบุษบา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเซ็นทรัล เผยว่า กลุ่มเซ็นทรัล ได้ขยายธุรกิจห้างสรรพสินค้าในยุโรป ด้วยการเปิด ห้างสรรพสินค้ารีนาเชนเต ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นแฟล็กชิฟสโตร์แห่งที่ 2 ต่อจาก รีนาเชนเต ที่มิลาน  นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนา รีนาเชนเต ณ เมืองตูริน ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นอีกด้วย


สำหรับคณะกรรมการฝ่ายอิตาลีที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้แก่ อิตาโมบิเล (Italmobiliare), คาวาน่า(Cavagna), ซีเอ็มซี เรอเวียน่า (CMC Ravenna), ซีเอ็นเอช อินดัสตรี้ (CNH Industrial), ดาเนียลี่ (Danieli), ดูคาติ (Ducati), ฟาเบ อินดัสตรี้ (Faber Industrie), อินัลก้า ฟูเด แอนด์ เบเวอร์เรจ (Inalca Food and Beverage), เฟอเรโร่ (Ferrero), เจเนรารี่ (Generali) , ลีโอนาโด คอมปานี ( Leonardo Company), พีเรลรี (Pirelli), ซาจี (SACE), ไซเปม (SAIPEM), ยูนิเครดิต (Unicredit) และ วิคตอเรีย (Vittoria) โดยสมาชิกใหม่ที่เพิ่งเข้าร่วม คือ บริษัท อินัลก้า ฟู้ด แอนด์ เบเวอเรจ จำกัด (Inalca Food & Beverage) บริษัทนำเข้าส่งออกผลิตภัณฑ์อาหาร 60 ประเทศทั่วโลก และ บริษัท ไซเปม (SAIPEM) จากประเทศอิตาลี บริษัทวิศวกรรมพลังงานด้านน้ำมันและก๊าซ


ส่วนผู้เข้าร่วมจากประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล, จีพีเอสซี, ธนาคารกรุงเทพ, การบินไทย, ไทยซัมมิท, สิงห์คอร์เปอเรชั่น, มิตรผลกรุ๊ป, ดุสิตธานี, เอสซีจี, ไทยยูเนี่ยน, ไทยฮั้วยางพารา, อีโนเว รับเบอร์, วงศ์บัณฑิต, เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์, ไทยวิวัฒน์ และอุตสาหกรรมดีสวัสดิ์


ทั้งนี้ อิตาลีเป็นคู่ค้าอันดับ 25 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในสหภาพยุโรป โดยในปี 2559 มีมูลค่าการค้ารวม 3.44 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 5.67 โดยไทยส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, อาหารสัตว์เลี้ยง และ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น


ข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยตามโครงสร้างสินค้ากระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกของสินค้าไทยไปอิตาลี ระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2560 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,227.5 ล้านเหรีญสหรัฐฯ โดยมีสินค้าส่งออก 10 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ,เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, อาหารสัตว์เลี้ยง,ปลาหมึก มีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง,อัญมณีและเครื่องประดับ,ผลิตภัณฑ์ยาง, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์,ยางพารา, รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องนุ่งห่ม


ทางด้าน การนำเข้าสินค้าอิตาลีของไทย ระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2560 ไทยนำเข้าสินค้าจากอิตาลีเป็นมูลค่า 1,528.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม, เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด, เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ


การผนึกกำลังกันสำหรับการประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่มนี้หวังเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศในเพิ่มขึ้นสูงขึ้นรวมทั้งการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยและอิตาลี เพื่อให้เกิดผลการลงทุนที่คล่องตัวในอนาคต โดยการประชุม ครั้งที่ 5 จะจัดที่ประเทศอิตาลี ในช่วงเดือน พฤษาคม 2562