โดย นายฟรองซัวร์ แลงค์คอน รองประธานอาวุโส ออราเคิล เอเชียแปซิฟิก
ประเทศในเอเชียแปซิฟิคหลายแห่งยังต้องใช้ความพยายามในการเฟ้นหาคนที่มีทักษะพิเศษที่จำเป็นในการผลักดันการเติบโตขององค์กรในอนาคต แม้ว่าในปัจจุบันจะมีประชากรวัยทำงานอยู่มากแล้วก็ตาม ผู้ทำหน้าที่สรรหาบุคลากรในภูมิภาคนี้ประมาณ 88 เปอร์เซ็นระบุว่าการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเป็นความท้าทายสำคัญ ในขณะที่ 86 เปอร์เซ็นระบุว่า ขาดแคลนผู้สมัครงานที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีตามที่บริษัทต้องการ องค์กรต่างๆ ในภูมิภาคนี้ระบุว่าต่างต้องพยายามเฟ้นหาบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัล ฟินเทค และไซเบอร์ซิเคียวริตี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต
การปิดช่องว่างด้านทักษะของบุคลากรจึงมีความสำคัญมากต่ออนาคตของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ไมว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก ภาคการผลิต ภาคการเงิน ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ธุรกิจในปัจจุบันสร้างขึ้นบนรากฐานของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และจะไม่สามารถอยู่รอดหรือเติบโตต่อไปได้ถ้าปราศจากบุคลากรที่มีทักษะเหมาะสม เช่น นักออกแบบและวิศวกรที่เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดประสบการณ์ทางดิจิทัลให้ออกมาในรูปแบบของซอฟต์แวร์ที่ตอบความต้องการและยืดหยุ่น หรือทีมงานด้านการพัฒนาที่คิดค้นและทดสอบแนวคิดใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านแมชชีนเลิร์นนิ่งซึ่งรู้วิธีจัดโครงสร้างข้อมูลและนำไปใช้ออกแบบโซลูชั่นที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง
องค์กรธุรกิจในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่างมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมช่องว่างด้านทักษะที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือไปจากการฝึกอบรมบุคลากรของตนเองแล้ว ภาคเอกชนควรให้ความสำคัญกับการสร้างส่วนร่วมรูปแบบใหม่ๆ กับทางรัฐบาล และมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจในอนาคตด้วยการอบรมและปลูกฝังความรู้ความสามารถให้กับผู้เรียนในปัจจุบัน ทำให้ทั้งสองผ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน นักศึกษาจะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงทักษะที่เป็นที่ต้องการในตลาด ในขณะที่ภาคธุรกิจก็สามารถเติมเต็มทักษะในส่วนที่ขาดหายไปได้
ตัวอย่าง ธุรกิจด้านเทคโนโลยีอาจสนับสนุนผู้เรียนที่กำลังศึกษาด้านไอที โดยการสร้างโปรแกรมที่สนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ บริษัทเอกชนต่างๆ อยู่ในสถานะที่เหมาะที่จะกระตุ้นผู้เรียนให้เห็นความสำคัญและสนใจการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และให้ความรู้ว่าในอนาคตจะมีโอกาสในการทำงานด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อย่างไรบ้าง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมุ่งเรียนรู้ทักษะสำคัญด้านการเขียนโปรแกรมและการออกแบบฐานข้อมูลมากขึ้น เพราะพวกเขารู้ว่าจะช่วยให้ตนสามารถแข่งขันในตลาดงานได้อย่างโดดเด่น
ออราเคิลได้นำหลักการเหล่านี้มาปฎิบัติจริงผ่าน Oracle Academy โดยใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคต่างๆ ของบริษัทในการจัดหาทรัพยากรทางการศึกษาให้กับผู้เรียน Oracle Academy และกระทรวงการศึกษาประเทศศรีลังกาได้ลงนามข้อตกลงผนวกรวมโปรแกรมการเรียนการสอนของ Oracle Academy เข้าสู่สถาบันกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ รองรับนักเรียนกว่า 10,000 คนที่เรียนเพื่อทำงานด้านไอที นอกจากนี้ Oracle Academy ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการการศึกษาด้านเทคนิค และอาชีวศึกษาของประเทศอินโดนีเซีย ในการจัดหาครูจำนวน 3,000 คน ที่มีความรู้ และทักษะด้านคอมพิวเตอร์ระดับสูง ซึ่งสามารถกระจายไปตามโรงเรียนอาชีวศึกษาต่างๆ กว่า 900 แห่ง Oracle Academy ยังคงมุ่งมั่นสร้างนวัตกรรม หลักสูตรการเรียนรู้ การฝึกอบรมต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นต้น
โครงการต่างๆ ลักษณะเดียวกับ Oracle Academy นี้ เป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้ภูมิภาคเอเชียบรรลุจุดมุ่งหมายในการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั่วโลกมีความต้องการผู้มีทักษะด้านเทคโนโลยีสูงไม้เว้นแม้แต่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังจะเห็นได้จากประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง ที่ทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม และสตาร์ทอัพ โดยมีประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นคู่แข่งที่ตามมาติดๆ จากการสำรวจของ 2016 Harvey Nash/KPMG CIO ระบุว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขาดแคลนคนที่มีทักษะด้านไอทีมากที่สุด โดยเกือบ 7 ใน 10 ของผู้บริหารด้านไอทีระบุว่าการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ ที่เหมาะสมทำให้การไปให้ถึงจุดหมายและความสำเร็จของบริษัทไม่เป็นไปตามแผน จากการสำรวจเดียวกันระบุอีกว่า ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 44 เปอร์เซ็น ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกถึง 5 เปอร์เซ็น ระบุว่าการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นทักษะที่มีความต้องการมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นอกจากทักษะด้านเทคโนโลยีแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะเสริมต่างๆ ที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถเป็นผู้นำที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีในอนาคต ทั้งหลายทั้งปวง ธุรกิจด้านดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ไม่ได้มีเพียงความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังต้องมีความยืดหยุ่นและตอบสนองได้ฉับไว เน้นประสบการณ์ลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ และมุ่งมั่นใช้ข้อมูลเชิงลึกเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของบริษัท ดังนั้นองค์กรธุรกิจต่างๆ สามารถสนับสนุนคนที่มีความสามารถพิเศษรุ่นใหม่ๆ ได้ด้วยการสร้างโปรแกรมให้คำปรึกษาซึ่งจะสอนผู้เรียนเกี่ยวกับการพัฒนาแผนธุรกิจ และการออกแบบให้ตรงตามประสบการณ์ผู้ใช้งาน รวมถึงจุดประกายผู้เรียนให้ตั้งคำถามเสมอว่า ‘เทคโนโลยีสามารถทำให้ลูกค้าของเราใช้ชีวิตได้ง่ายดายขึ้นได้อย่างไร’
ธรรมชาติของเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นตัวปลุกความสนใจของผู้เรียนให้เพิ่มพูนทักษะด้านดิจิทัลให้ได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ต่างๆ ที่ใช้แมชชีนเลิร์นนิ่ง, การบันทึกข้อมูลแบบ Distributed Ledger หรือบล็อกเชนที่เรารู้จักกัน, ความเป็นจริงเสมือน (virtual reality) และอื่นๆ อีกมาก ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจของเราแล้ว ภาคเอกชนต้องสร้างโปรแกรม หลักสูตร และเวิร์กชอป ที่สามารถดึงความสนใจของผู้เรียนทั่วโลก และติดอาวุธให้เขาเหล่านั้นด้วยความรู้เชิงลึกและทักษะทางวิชาชีพ
การทำงานร่วมกันขององค์กร รัฐบาล และสถาบันการศึกษา จะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนในการแสวงหาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และเป็นการให้ทักษะที่เหมาะสมให้แก่พวกเขา เราสามารถสร้างแรงงานแห่งอนาคตด้วยการให้ทักษะที่จำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ผ่านความคิดสร้างสรรค์และการทำงานร่วมกัน เพื่อตอบสนองความต้องการด้านแมชชีนเลิร์นนิ่ง, AI และอื่นๆ ที่กำลังมีความต้องการเพิ่มขึ้น