“เงินทองสิมายา ข้าวปลาสิของจริง” เห็นทีจะเป็นด้วยเหตุผลนี้เป็นแน่แท้ที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารคึกคักเป็นพิเศษ ทุกบริษัทในธุรกิจอาหารต่างเร่งสร้างสะสมแบรนด์ในพอร์ตเพื่อผนึกกำลังลุยตลาด เพราะเล็งกันแล้ว เห็นทีอาจจะมีแต่ธุรกิจนี่เอง ที่อย่างไรเทคโนโลยีอะไรก็ดิสรัปต์ไม่ได้ เพราะอย่างไรผู้คนก็ยังต้องบริโภค แต่จะตอบสนองผู้คนให้ได้มากกลุ่มที่สุด ก็ต้องมีความหลากหลายเพียงพอ
“การรุกธุรกิจอาหาร เรามองว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ Disrupt ไม่ง่าย เพราะไม่ว่ายังไงคนต้องกิน ยิ่งในเอเชียชอบกินมาก วันหนึ่งกินเกิน 3 และยังไม่มีอะไรมากระตุ้นให้สมองอิ่มได้” ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซีอาร์จี กล่าวถึงเหตุผลในการรุกธุรกิจอาหารที่ชัดเจน
บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ซีอาร์จี (CRG) เป็นอีกองค์กรที่ออกมากางแผน 5 ปี (2561-2565) เพิ่มกองทัพแบรนด์ร้านอาหารในเครือจากที่มีอยู่ 12 แบรนด์ในตอนนี้ เตรียมซื้อไลเซ่นส์ร้านอาหาร รวมถึงเตรียมใช้กลยุทธ์ร่วมทุนไปจนถึงการควบรวมกิจการ (M&A) และการพัฒนาแบรนด์ใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อพาธุรกิจรุกพร้อม ๆ กันทั้งตลาดในประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย และในตลาดโลก
โดยคาดว่าบริษัทน่าจะทำรายได้เพิ่มจากที่มีอยู่ราวหมื่นล้านบาท เติบโตแบบเท่าตัวเป็น 2.2 หมื่นล้านบาทโดยประมาณในปี 2565 เมื่อสิ้นสุดแผน ซึ่งจากการคาดการณ์ในปีนี้ที่บริษัทฯ คิดว่าจะมีรายได้รวม 1.2 หมื่นล้านบาท จะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ จะต้องทำให้มีอัตราเติบโตของรายได้เฉลี่ย 15% ต่อเนื่อตลอด 5 ปี
“ภายใต้เป้าหมายนี้เราคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า นอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซีอาร์จีจะมีร้านอาหารในเครือประมาณ 2,000 สาขา ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัดทั่วไทย จาก ณ ตอนนี้ (ก.พ. 2561) บริษัทมีร้านอาหารทั้งสิ้น 902 สาขา เฉลี่ยรับลูกค้า 8 ล้านคนต่อเดือน และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 5%” ณัฐ กล่าว
ร้านอาหารที่ซีอาร์จีมีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นสาขาในไฮเปอร์มาร์เก็ต 40% ช้อปปิ้งมอลล์ 31% อื่น ๆ เช่น โรงพยาบาล ปั๊มน้ำมัน 29%
ณัฐ อธิบายเพิ่มเติมว่า การจะโตตามเป้าหมายนี้ บริษัทจะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี
โดยวางแผนไว้ว่า จะใช้งบในการขยายธุรกิจทุกมิติซึ่งมีการตั้งงบในแต่ละส่วนไว้ชัดเจนในแต่ละปี เช่น การขยายสาขาของร้านอาหารที่มีอยู่เดิมและการปรับปรุงร้าน ในวงเงิน 400-500 ล้านบาท พัฒนาระบบการขาย 200 ล้านบาท ทำการตลาด 500 ล้านบาทต่อปี ที่สำคัญเตรียมงบไว้สำหรับการซื้อและควบรวมกิจการไว้อีก 1,000 ล้านบาทต่อปีด้วย
ซีอาร์จีจะใช้กลยุทธ์การควบรวมกิจการ เป็นทางลัดในการขยายธุรกิจร้านอาหาร พร้อม ๆ ไปกับพัฒนาแบรนด์ในเครือที่ยังไม่แข็งแรงให้เข้มแข็งมากขึ้น
ณัฐ กล่าว
ซีอาร์จีเริ่มเดินหน้ากลยุทธ์นี้แล้ว โดยตอนนี้อยู่ระหว่างเจรจากับร้านอาหารไทย 6-7 ราย มูลค่าธุรกิจขนาด 100-200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะปิดดีลได้อย่างน้อย 2-3 แบรนด์ที่จะเข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอของซีอารจีเร็ว ๆ นี้
ส่วนแบรนด์ในสังกัดที่ต้องเร่งปรับปรุงให้ฟื้นกลับมาแข็งแกร่ง เช่น ชาบูตง เทนยะ และคัตสึยะ ที่จะเน้นกลับมาให้ทำกำไรมากขึ้น
แบรนด์ร้านอาหารไม่แข็ง ปรับอย่างไรให้โต
ซีอาร์จีมองว่า วิธีที่จะทำให้แบรนด์ร้านอาหารที่มีอยู่เติบโตได้ไว้ 3 แพลตฟอร์ม
หนึ่ง-ใช้วีการขยายสาขา โดยทั้งร้านโอโตยะ คัตสึยะ เทนยะ ชาบูตง ล้วนเป็นแบรนด์ในสังกัดที่มีฐานลูกค้าไม่มากมีโอกาสที่จะเพิ่มแชร์ในตลาดมากขึ้น ซีอาร์จีเตรียมปรับร้านเหล่านี้ให้บริการภายใต้รูปแบบร้านใหม่ที่จะเข้าไปเปิดในพื้นที่ให้บริการที่หลากหลายมมากขึ้น เช่น นอกย่านธุรกิจ สถานีบริการเชื้อเพลิง (ปั๊มน้ำมัน) ฯลฯ เหมือนที่ร่วมกับยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) คิดหาร้านเคเอฟซีเพื่อรุกออกนอกพื้นที่ธุรกิจเช่นกัน
สอง-สร้างแบรนด์ใหม่ เช่น การรวมร้านอาหารญี่ปุ่น 3 แบรนด์ในเครือ ได้แก่ เปปเปอร์ลันช์ โยชิโนยะ คัตสึยะ ให้มาเปิดอยู่ใกล้กันนั่งทานร่วมกันได้โดยลูกค้าไม่ต้องตัดสินใจเลือกแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง พร้อมจัดโปรโมชั่นให้ใช้ร่วมกันได้อย่างมา 4 จ่าย 3 เพื่อเพิ่มแรงดึงดูดผู้บริโภค รวมทั้งผุดแบรนด์ Food Heaven ที่ดึงเอาเมนูพระเอกจากแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นไปเสิร์ฟลูกค้า ประเดิมสาขาแรกที่ เทสโก้ โลตัส สาขาบางใหญ่ เรียกว่าต้องเพิ่มพลังเพื่อสร้งแรงดึงดูดกันเต็มที่
สาม-วางแผนบุกหนักออนไลน์ ด้วยการเปิดแอปพลิเคชั่น และเว็บไซต์สำหรับสั่งอาหารทุกแบรนด์ในสังกัดแล้วจัดส่งถึงที่ ตามเทรนด์ฟู้ดดีลิเวอรี่ที่โตวันโตคืน
“ทุกวันนี้ลูกค้ามีตัวเลือกเยอะ ยากที่จะดักลูกค้าให้อยู่หมัด แล้วอาหารสำหรับผู้บริโภค เมื่อไรที่อิ่ม จะกินต่อไม่ได้ และไม่มีใครที่กินร้านอาหารแบรนด์เดิมซ้ำกันทุกวัน”
แบรนด์ปึ้กเมื่อไร เตรียมดันทั้งพอร์ตลุยตั้งแต่ตลาดในประเทศถึงตลาดโลก
การ “เปลี่ยน” หมากรบของซีอาร์จี นอกจากต้องโต แต่ยังมุ่ง “กระจายความเสี่ยง” ให้ธุรกิจ เพราะร้านอาหาร 12 แบรนด์ที่มีในพอร์ต “เคเอฟซี” คือแบรนด์เรือธงที่ทำยอดขายให้มากถึง 50% ซึ่งบริษัทมีเงื่อนไขในการทำตลาดในฐนะแฟรนไชส์ซี และมีความเสี่ยงเมื่อระยะเวลาสัญญาสิ้นสุดถ้าไม่ได้รับการต่ออายุสัญญาก็จะกระทบรายได้ในอนาคตมหาศาล
นอกจากนี้ยังเจอศึกหนัก เมื่อคู่แข่งหน้าใหม่ ทุนใหญ่ อย่างไทยเบฟ ก็เลือกที่จะรุกธุรกิจร้านอาหารทางลัด และเข้ามาเป็นแฟรนไชส์ซีรายใหม่ของเคเอฟซีอีกราย
ทางแก้ของซีอาร์จีและการเดินตามแผน 5 ปีให้ถึงเป้าหมาย คือตั้งเป้าที่จะบุกตลาดในทุกระดับ
การบุกธุรกิจร้านอาหารในประเทศซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่มาก มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท จะเปิดเกมรบสู่ “เซ็กเมนต์ใหม่” ที่ซีอาร์จียังไม่เคยมีส่วนแบ่งตลาด ได้แก่ ธุรกิจร้านกาแฟ เพราะเป็นตลาดใหญ่มูลค่า 20,000 ล้านบาท โดยปีนี้จะเปิดร้าน “มิสเตอร์ โดนัท” ในคอนเซ็ปต์ “โดนัท แอนด์ มอร์” (Donut & More) ที่จำหน่ายทั้งกาแฟและเบเกอรี่อื่นที่เข้ามาเสริมนอกจากโดนัท และเปิดพื้นที่ให้ลูกค้านั่งทานในร้านได้ นับเป็นการท้าชน “สตาร์บัคส์” และ “อเมซอน” เต็มที่ รวมทั้งต้อนรับการกลับมาของดังกิ้นโดนัท ที่จะกลับมาลุยร้านกาแฟในปีนี้เช่นกัน
อีก 2 ประเภทอาหารที่อยู่ในกระแสเติบโตเพราะคนนิยมบริโภคได้แก่ ตลาดหม้อร้อนต่าง ๆ (HotPot) และ “ส้มตำ” อาหารยอดนิยมของคนไทย ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง ซีอาร์จีก็เตรียมเข้าไปเจาะตลาดอาหาร 2 ประเภทนี้เพิ่มขึ้น โดยยอมรับว่าไม่ง่ายและตลาดก็มีผู้เล่นรายใหญ่จับจองอยู่แล้ว
ตลาดที่สองในระดับภูมิภาค เตรียมลุยอาเซียน โดยเริ่มต้นที่เวียดนามเพื่ออาศัยฐานเครือเซ็นทรัลที่เข้าไปลงทุนค้าปลีกอยู่ก่อนแล้ว เป็นช่องทางในการขยายร้านอาหาร คาดว่าจะเริ่มจากร้านอาหารไทยแบรนด์ เดอะเทอเรส และแบรนด์ใหม่อื่น ๆ รวมทั้งมองการร่วมทุนกับพันธมิตรในเวียดนามไปพร้อม ๆ กัน
“ความน่าสนใจของธุรกิจร้านอาหารในเวียดนาม คือ “โอกาสโกยขุมทรัพย์ล้วน ๆ” เพราะหากเทียบขนาดประชากร 90-100 ล้านคน แต่มีร้านอาหารเครือข่าย (เชน) แค่ 2,000 ร้าน เทียบไทยมีเชนมากกว่า 2.3 หมื่นร้าน ต่างกัน 10 เท่าตัว การออกสตาร์ทก่อน ย่อมมีสิทธิ์ไปสร้างแบรนด์ เก็บเกี่ยวฐานผู้บริโภคก่อน”
เป้าหมายสุดท้าย บุกตลาดโลก เป็นอีกกลยุทธ์ที่ซีอาร์จีหมายมั่น โดยจะดึงพันธมิตรที่เป็น “อินเตอร์แบรนด์” เข้าไปขยายสาขา ร่วมทุนเปิดร้านกับพันธมิตร รวมถึงเจรจากับอินเตอร์แบรนด์เพื่อขยายแฟรนไชส์ เจาะประเทศเป้าหมายในยุโรป เช่น อังกกฤษ เพราะอาหารไทยอาหารเอเชียป๊อปปูลาร์ไม่น้อย รวมถึงประเทศที่เซ็นทรัลมีฐานธุรกิจอยู่ เป็นได้ทั้งเยอรมัน อิตาลี เป็นต้น
5 ปี ไม่นาน รอดูแค่ปีแรก ผลลัพธ์ที่ได้ก็พอจะอนุมานได้แล้วว่าแผน 5 ปีจะเป็นไปได้แค่ไหน เพราะอย่าลืม เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง.