ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่ม “ไทยเบฟเวอเรจ” ยังคงเดินหน้าซื้อกิจการไม่หยุด! ทางลัดการขยายธุรกิจให้เติบโต โดยล่าสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทส่งบริษัทลูกอย่าง “ไทยเบฟ โลจิสติกส์” เข้าซื้อหุ้น 75% ของบริษัท “ฮาวี ลอจิสติกส์ (ประเทศไทย)” คิดเป็นมูลค่า 240 ล้านบาท
โดย “ฮาวี ลอจิสติกส์ (ประเทศไทย)” เป็นผู้เชี่ยวชาญธุรกิจโลจิสติกส์เกี่ยวกับการขนส่งและกระจายสินค้าที่มีการควบคุมอุณหภูมิของสินค้าให้เหมาะสมตั้งแต่ออกจากโรงงานไปจนถึงมือผู้บริโภค หรือ Cold Chain ให้บริการแก่ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร หรือ Food Services ในประเทศไทย
และในปี 2560 ฮาวี ลอจิสติกส์ (ประเทศไทย) มีรายได้รวมกว่า 4,737 ล้านบาท หดตัวลง 2.59% มีกำไรสุทธิกว่า 29 ล้านบาท เติบโต 82.62% (ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
ขณะที่ระดับโลก “ฮาวี ลอจิสติกส์” ถือเป็นบริษัทที่ทำมากกว่าโลจิสติกส์ แต่ยังให้บริการด้านวิเคราะห์การตลาด (Marketing Analytics) ด้านบรรจุภัณฑ์ บริหารจัดการห่วงโซ่การผลิต และคร่ำหวอดในธุรกิจดังกล่าวมานานกว่า 40 ปี มีเครือข่ายธุรกิจโลจิสติกส์กว่า 40 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรปและเอเชีย
ดังนั้น องค์ความรู้ (Know How) ของฮาวี ลอจิสติกส์มาช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจอาหารได้แบบเต็ม และ “Cold Chainโลจิสติกส์” จะเป็น “จิ๊กซอว์” ใหม่ที่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับ “ธุรกิจร้านอาหารเครือข่าย” หรือ Food Chain ที่ไทยเบฟต้องการจะขยายในอนาคตด้วย หลังจากปี 2560 ที่ผ่านมาบริษัทได้วางรากฐานธุรกิจอาหารให้ครบวงจร ผ่านการเดิน “เกมรุก” หนักมาก! ทั้งใช้ทางลัด “ซื้อและควบรวมกิจการ” (Mergers and Acquisitions : M&A) แฟรนไชส์ ร้าน KFC จำนวน 252 สาขา มูลค่า 11,400 ล้านบาท การเข้าซื้อหุ้น 76% ของกิจการร้านอาหารไทยของ Spice of Asia จำนวน 10 สาขา เช่น แบรนด์ Chilli cafe มูลค่า 115 ล้านบาท
และ บริษัท ฟู้ด ออฟ เอเชีย จำกัด หัวหอกธุรกิจอาหารของไทยเบฟ ยังขยายธุรกิจร้านอาหารตั้งแต่ Food Street ไปจนถึงร้านหรู (Fine Dining) เช่น ฟู้ดคอร์ตแบรนด์ฟู้ดสตรีท และบ้านสุริยาศัย อีกบริษัทในเครืออย่าง “บมจ.โออิชิ กรุ๊ป” ก็วางหมากรบขยายร้านอาหารญี่ปุ่น รวมถึงเตรียมบุกหนัก “แพ็กเกจฟู้ด” ซึ่งมีอาหารพร้อมปรุงและอาหารพร้อมทานประเภทแช่แข็งสำเร็จรูป และอาหารแช่เย็น เหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นต้องมี “Cold Chain โลจิสติกส์” มารองรับการขนส่งและกระจายสินค้า รักษาอายุอาหาร (shelf life) ตลอดจนคุณภาพอาหารให้คงความสดจนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางคือ “ผู้บริโภค” นั่นเอง
การบุกธุรกิจอาหารของ “กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ” นับว่าน่าจับตาจริง ๆ เพราะการเสริมพอร์ตโฟลิโอของแบรนด์ร้านอาหาร แบรนด์สินค้าต่าง ๆ บริษัทยังคงใช้ “เงิน” ทุ่มซื้อกิจการเป็นว่าเล่น ทำให้ “อาณาจักร” โตพุ่งพรวด และกลายเป็น “บิ๊ก4” ในธุรกิจเครือข่ายร้านอาหารได้ในข้ามคืน
สำหรับธุรกิจอาหารในประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ย (CAGR) 3-5% ต่อปี และร้านอาหารเครือข่ายมีมูลค่าประมาณ 1.4 แสนล้านบาท.