Grab ยืนยันราคา-รูปแบบแอปไม่เปลี่ยนหลังควบรวม Uber แต่ยอมรับว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการร่วมงานกับเรา”

กำลังเป็นที่จับตามอง หลังจากแกร็บ (Grab) ควบรวมกับอูเบอร์ (Uber) คู่แข่งในตลาดบริการรถร่วมเดินทางทำให้แกร็บกลายเป็นผู้ให้บริการครองตลาดส่วนใหญ่ไปเลยทันทีและเมื่อตลาดไม่มีการแข่งขันเหมือนเดิมแล้วอาจส่งผลถึงค่าบริการที่อาจเพิ่มสูง

แต่ผู้บริหารใหญ่ในมาเลเซีย ได้ออกมาระบุว่า แอปพลิเคชันของ Grab จะยังคงเหมือนเดิม เช่นเดียวกับการกำหนดราคา รวมถึงประสบการณ์ใช้งานในภาพรวม

ฌอง โกห์ (Sean Goh) หัวหน้าทีมบริหาร Grab ประเทศมาเลเซีย Grab จะยังคงราคาค่าบริการไว้เช่นเดิม ไม่ขึ้นราคา เนื่องจากการเพิ่มราคาอาจส่งให้ความต้องการใช้บริการ Grab ลดลง และทำให้ผู้ขับขี่เสียยอดเรียกรถ และจะอาจส่งผลกระทบถึงรายได้ของ Grab ในที่สุด

ฌอง โกห์ (Sean Goh) หัวหน้าทีมบริหาร Grab ประเทศมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร Grab มาเลเซีย มองว่าราคาเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ แต่ถ้าจะขึ้นราคา หลักๆ มาจาก 1.กฏระเบียบภาครัฐอาจผลักดันราคาค่าบริการให้สูงขึ้น 2. ภาวะรถยนต์และน้ำมันลด ราคาลง ก็อาจส่งผลให้ราคาค่าบริการลดลงด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยส่งทั้ง 2 ด้านเรื่องราคาบริการของ Grab ในอนาคต

การแข่งขันไม่ใช่เรื่องดีสำหรับธุรกิจนี้เท่ากับจำนวนผู้ขับขี่และผู้ใช้

Goh ยืนยันว่าการรวมกันระหว่าง Grab และ Uber จะไม่กระทบการแข่งขัน โดยบอกว่าแม้การแข่งขันจะเป็นปรัชญาที่ดีสำหรับผู้บริโภค แต่เรื่องนี้เป็นจริงในบางกรณีเท่านั้น ซึ่งในตลาดรถร่วมเดินทาง ทุกอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแข่งขันของแพลตฟอร์ม เพราะประสิทธิภาพของการโดยสารจะถูกสร้างขึ้นจากความหนาแน่นของผู้ขับขี่และผู้ร่วมเดินทางด้วย

ด้วยจำนวนผู้ขับขี่ที่มีคุณภาพมากขึ้น เราคาดว่าลูกค้าจะรอคอยสั้นลง สามารถขึ้นรถได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีสำหรับผู้ขับ และเพิ่มความน่าเชื่อถือที่ดีกว่าสำหรับผู้โดยสาร

Goh ระบุว่าไม่มีแผนจะเปลี่ยนรูปแบบให้บริการ ขณะเดียวกันก็จะเน้นความโปร่งใส โดยยอมรับว่าบางครั้ง ผู้ขับขี่ Grab ในมาเลเซียมีปัญหาเลือกปฏิบัติ โดยปฏิเสธที่จะเดินทางไปยังจุดหมายแม้ว่าจะมีมาตรการเพื่อควบคุมพฤติกรรมดังกล่าว

สำหรับปัญหาการผูกขาด Goh ระบุว่า Grab ได้หารือกับหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการแข่งขันแล้ว โดย Grab ระบุว่าผู้บริโภคยังมีทางเลือกการขนส่งอื่นเช่นเดิม

คำให้สัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากวันที่ 26 มีนาคม 2018 รายใหญ่อาเซียนอย่าง Grab ยืนยันว่าได้ซื้อกิจการของ Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริษัทซอฟต์แบงก์ (SoftBank) สัญชาติญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทผลผลิตจากการควบรวม ภายใต้ข้อตกลงนี้ Grab จะได้รับการดำเนินงานทั้งหมดของ Uber รวมถึง Uber Eats ซึ่งเป็นบริการจัดส่งอาหาร ในขณะที่ Uber จะรับผลตอบแทนตามจำนวนหุ้นที่ถือ 27.5% ใน Grab และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Uber อย่าง Dara Khosrowshahi จะเข้าร่วมนั่งเก้าอี้คณะกรรมการ Grab

สื่อมาเลเซียย้ำว่าแอป Uber จะปิดตัวลงในวันที่ 8 เมษายน ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ Grab ประกาศว่าแอพ Uber จะให้บริการต่อไปอีก 2 สัปดาห์นับจากวันที่ 26 มีนาคม โดยผู้ขับในระบบของ Uber จำเป็นต้องลงทะเบียนกับ Grab ใหม่อีกครั้ง ขณะที่ข้อมูลในบัญชีของ Uber ของทั้งคนขับและผู้โดยสารจะถูกย้ายมายัง Grab โดยอัตโนมัติ

สำหรับบริการส่งอาหาร UberEats กำหนดการในมาเลเซียนั้นเหมือนกับประเทศไทยคือจะให้บริการถึงพฤษภาคม 2018 จากนั้นข้อมูลรายชื่อผู้จัดส่งและร้านอาหาร จะถูกโอนไปยัง Grab ภายใต้บริการ GrabFood

สำหรับชะตากรรมของพนักงาน Uber กว่า 500 คนในอาเซียน ผู้บริหารยอมว่า Grab ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่เพื่อพิจารณาว่าใครต้องการทำงานร่วมกับ Grab ต่อ เนื่องจาก ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการเข้าร่วมกับเรา” แม้ว่าหลังจากรวมกิจการ Grab จะมีตำแหน่งเป็นหนึ่งในบริการที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยให้บริการใน 191 เมือง ทั่วมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม พม่า และกัมพูชา.


source : https://mgronline.com/cyberbiz