สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าเปิดโครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี Design Excellence Award หรือ DEmark 2018 ต่อเนื่องเป็นปีที่ ๑๑ พร้อมเชิญชวนนักออกแบบไทยและผู้ประกอบการส่งผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีดีไซน์โดดเด่น ภายใต้คอนเซปต์ “Look Back Think Beyond มองย้อนสู่งานดีไซน์สุดล้ำ” เข้าชิงรางวัลสุดยอดผลงานที่มีการออกแบบดีที่สุดประจำปี ๒๕๖๑ ทั้ง ๖ สาขาคือ เฟอร์นิเจอร์, ไลฟ์สไตล์, ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แฟชั่นเครื่องแต่งกาย,อุตสาหกรรม,บรรจุภัณฑ์ และกราฟิกดีไซน์ โดยเปิดรับสมัครทาง www.demarkaward.net ตั้งแต่วันนี้ถึง ๓๐ เมษายน ๒๕๖๑
ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “ตราสัญลักษณ์ DEmark (ดีมาร์ค) เป็นเครื่องหมายรับรองผลงานที่ได้รับการยอมรับว่ามีความโดดเด่นด้านการออกแบบ ทั้งด้านรูปลักษณ์ (Design) และคุณสมบัติการใช้งาน (Functional) และยังเป็นการยกระดับสินค้าที่มีการออกแบบดีโดยฝีมือคนไทยให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ด้วยพันธกิจ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก โดยโครงการ DEmark Award (ดีมาร์ค อวอร์ด) เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลงานของบุคลากร ในวงการออกแบบไทย และยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบได้มีพื้นที่แสดงไอเดียการออกแบบผลิตภัณฑ์ อีกด้วย”
ในปีนี้เป็นปีที่ ๑๑ ของการจัดโครงการดีมาร์คกรมฯยังคงได้รับร่วมมือจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JETRO และ Japan Institute of Design Promotion (JDP) ในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากรางวัล Good Desigh Award (G-mark) ซึ่งเป็นรางวัลด้านการออกแบบที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มาร่วมพิจารณาตัดสินรางวัล รวมทั้งให้ความร่วมมือในด้านอื่นๆ เพื่อให้รางวัล DEmark ได้มาตรฐานในระดับสากล
“แนวคิดการจัดงานดีมาร์คในปีนี้คือ Look Back Think Beyond มองย้อนสู่งานดีไซน์สุดล้ำโดยแนวคิดนี้มีที่มาจากการศึกษางานออกแบบของคนไทย ตลอด ๑๑ ปีในการจัดโครงการ DEmark พบว่านักออกแบบส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมไทย ในการสร้างสรรค์งาน ในปีนี้ทางโครงการจึงชวนนักออกแบบมองย้อนกลับไปยังรากฐานแนวคิดดั้งเดิม ขั้นตอนการสร้างงานออกแบบของไทยในแต่ละแขนง โดยนำมาผสมผสานกับแนวคิดการออกแบบในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดเป็นไอเดียใหม่นำมาต่อยอด ผลงานให้เป็นอัตลักษณ์ไทยสู่สากล นับเป็นความภาคภูมิใจของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่ได้ร่วมสนับสนุนผลงานของนักออกแบบให้เป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะนักออกแบบหน้าใหม่ ที่มีผลงานแจ้งเกิดกับทางโครงการทุกปี ไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งในปีนี้คือเราให้ความสำคัญต่องานหัตถอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักออกแบบสินค้าเชิงวัฒนธรรม หัตถศิลป์ท้องถ่ิน งานฝีมือมีโอกาสได้รับรางวัลมากยิ่งขึ้น” ม.ล.คฑาทอง กล่าวเพิ่มเติม
ตลอด ๑๑ ปีของการขับเคลื่อนผลงานนักออกแบบไทยสู่เวทีโลกผ่านโครงการ DEmark ทางกรมฯ เห็นพัฒนาการของนักออกแบบไทยที่ดึงเอาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวัสดุในท้องถิ่นมาผสานกับไอเดียเกิดเป็นผลงานการออกแบบชิ้นใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานและยังสร้างประโยชน์แก่สังคมได้มากขึ้น โดยในช่วงหลังนักออกแบบส่วนใหญ่จะเน้นใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติปลอดภัยต่อผู้ใช้ เพราะกระแสการลดใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อมลภาวะมีผลในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคทั่วโลก
นอกจากนี้การร่วมมือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และ Japan Institute of Design Promotion (JDP) ยังเป็นการสนับสนุนให้นักออกแบบไทยที่ได้รับรางวัล DEmark ต่อยอดความสำเร็จโดยมีสิทธิ์เข้าร่วมการประกวดรางวัล Good Design (G-mark) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นรางวัลเกียรติยศที่มีชื่อเสียงในวงการออกแบบระดับสากล
ตลอด ๑๑ ปีของการจัดโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๖๐ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้คัดเลือกสินค้าที่มีการออกแบบดีเข้ารับตรา DEmark แล้วกว่า ๖๘๘ รายการ และมีสินค้าได้รับรางวัล G-mark 410 รายการ ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจหลากหลายประเภทสำหรับในปีนี้ได้เปิดรับสมัครผลงาน ใน ๖ หมวดสินค้า คือ
(๑) กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ (Industrial Process / Industrial Craft)
(๒) กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ (Gift & Decorative Items / Household Items)
(๓) กลุ่มความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แฟชั่นเครื่องแต่งกาย (Creative & Innovative Fashion / Apparel / Jewelry / textile / Etc.)
(๔) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (Home Appliances / Equipment and Facilities for Office / Etc.)
(๕) กลุ่มออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging Design)
(๖) กลุ่มสินค้ากราฟิกดีไซน์ (Font / Graphic on Surface / Digital Media / Identity Design)
ภายในงานแถลงข่าวยังได้วิทยากรนักออกแบบชื่อดัง ๔ ท่านที่มีชื่อเสียงในการสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบที่ขับเคลื่อนธุรกิจระดับประเทศมาร่วมเสวนา ในหัวข้อ “Look Back Think Beyond มองย้อน สู่งานดีไซน์สุดล้ำ” คือ
(๑) คุณ Katsuo Mizuguchi กรรมการตัดสินรางวัล G-mark จากประเทศญี่ปุ่น และเป็น Art Director | President, Hotchkiss Inc.
(๒) คุณ ศรุตา เกียรติภาคภูมิ นักออกแบบผลิตภัณฑ์จากเศษโลหะ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ PIN
(๓) คุณ ศริญญา ลิมป์ทองทิพย์ นักออกแบบกราฟิกดีไซเนอร์ เจ้าของแบรนด์ Srinlim
(๔) คุณ วนัส โชคทวีศักดิ์ และ คุณ ณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก สองดีไซเนอร์ทีนำเสนองานเท็กซ์ไทล์ร่วมสมัย จากแบรนด์ ease embroidery
สำหรับผู้ได้รับรางวัล DEmark จะได้รับสิทธิประโยชน์มากมายจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เช่น
- ผู้ได้รับรางวัลสามารถใช้โลโก้ DEmark หรือโลโก้ความร่วมมือ DEmark และ G – mark ในการส่งเสริมการขายสินค้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- ได้รับส่วนลดค่าใช้จ่ายสมทบโครงการร้อยละ ๕๐ ในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศที่กรมฯ เข้าร่วม (ไม่เกิน ๓ ครั้งในเวลา ๑ ปี)
- ได้รับการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการโฆษณาในสื่อต่างๆ รวมทั้งนำสินค้าไปจัดแสดงนิทรรศการทั้งในและต่างประเทศ อาทิ งานแสดงสินค้า Good Design Exhibition 2018 (G – mark) ณ ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงในเมืองใหญ่เช่น มิลาน,ไต้หวัน,เมซอง เป็นต้น
โครงการ DEmark Award 2018 เปิดรับสมัครทั้งในรูปแบบของบริษัทและนักออกแบบอิสระ ซึ่งผู้สมัคร ๑ ราย หรือ ๑ บริษัท สามารถสมัครได้มากกว่า ๑ ผลิตภัณฑ์ แต่ไม่เกิน ๕ ผลิตภัณฑ์ และจะต้องเตรียมเอกสารการสมัครและเอกสารประกอบต่างๆ ให้ครบทุกผลิตภัณฑ์ โดยสมัครในช่องทางออนไลน์ได้ที่ www.demarkaward.net จนถึง ๓๐ เมษายน ๒๕๖๑ นี้
Related