ผ่ากลยุทธ์ “ลอรีอัล” แข่งสวยแสนล้าน  ด้วยอินไซต์ และดิจิทัล ชิงเบอร์ 1 ยักษ์ธุรกิจความงามในไทย

ลอรีอัลเป็นบริษัทความงามยักษ์ใหญ่ของโลกทำเงินในปี 2560 มาถึง 26,020 ล้านยูโร หรือกว่า 1 ล้านล้านบาท เติบโต 4.8% แต่ในประเทศไทยลอรีอัลยังเป็นแค่เบอร์ 2 ในตลาดความงามซึ่งไล่หลังยูนิลีเวอร์คู่แข่ง นอกจากเผชิญการแข่งขันโกลบอลแบรนด์ด้วยกันแล้ว ยังเจอคู่แข่งรีจินัลแบรนด์ และโลคัลแบรนด์ไทยอีก แต่ลอรีอัลก็ไม่หลัง ยังเดินหน้าสานเป้าหมายใหญ่โค่นคู่แข่งเพื่อขึ้นเป็นผู้นำตลาด ด้วยการเพิ่มสินค้าใหม่เสริมพอร์ตโฟลิโอปีละหลายร้อยรายการต่อปี กวาดลูกค้าตั้งแต่ตลาดล่างถึงบน ขายสินค้าเจาะทุกช่องทางออนไลน์ออฟไลน์

นอกจากนี้ ลอรีอัล (ประเทศไทยเป็นตลาดใหญ่ และเติบโตสูงสุดในอาเซียนมากกว่า 8% จึงเป็นตลาดสำคัญมาก ปี 2561 ลอรีอัลจึงวางหมากรบรุกตลาดความงาม โดยโฟกัสกลยุทธ์สำคัญ 2 ด้าน คือ มุ่งเน้นผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง (Consumer Centricity) ขับเคลื่อนด้วยดิจัลเต็มรูปแบบ(Digital Acceleration)

การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางคือรู้อินไซต์ผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่สินค้า มีการนำแบรนด์ใหม่ๆ มาเติมพอร์ตตลอด ปีนี้ส่ง 2 แบรนด์ทำตลาด ได้แก่ เครื่องสำอางแบรนด์หรูจิออร์จิโอ อาร์มานี บิวตี้มีลิปสติก แป้งคุชชั่น เจาะลูกค้ากระเป๋าหนัก และแบรนด์เซราวี (CeraVe) ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าเสริมพอร์ตเวชสำอางเจาะตลาดแมสขึ้น จากเดิมมีแบรนด์ลา โรชโพเซย์ วิชชี่ จับตลาดระดับบน  

ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ สินค้าลดเลือนริ้วรอยต้องมา ผู้บริโภคเห่อทำสีผม สินค้านวัตกรรมทำสีผมเปลี่ยนได้บ่อยๆต้องมี เป็นต้น

นางนาตาลี เกอร์ชไตน์ เคอโรวดี ลอรีอัล

 “การมุ่งเน้นผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางยังคงเป็นกลยุทธ์สำคัญของลอรีอัล ทั้งการออกสินค้าใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน มีสินค้าอย่างการ์นิเย่ เมย์เบลลีน จับตลาดแมส คนกำลังซื้อน้อย แต่ถ้าอยากได้แบรนด์ระดับบนเราก็มีวายเอสแอลบิวตี้ ลังโคม ไบโอเธิร์ม เป็นต้น นาตาลี เกอร์ชไตน์ เคอโรวดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

นอกจากนี้ การเปิดร้านเครื่องสำอางแบรนด์นิกซ์ (NYX) นิกซ์ โปรเฟสชั่นแนล เมคอัพ แฟล็กชิพสโตร์แห่งแรกในเอเชีย สาขาสยามสแควร์วัน เป็นการออกแบบสโตร์ใหม่ ให้มีความสนุกสนานมากขึ้นเมื่อลูกค้าเข้ามาทดลองสินค้าต่างๆของนิกซ์ และนำดิจิทัลเข้ามาใช้ภายในร้าน เมื่อลูกค้าเดินเข้ามาเช็คอินเป็นสมาชิก จะช่วยจดจำรายการสินค้าไหนมีหรือใช้แล้วหมดไปบ้าง รวมถึงอัพเดทสินค้าใหม่ให้รับรู้ด้วย

เพื่อให้ลูกค้ามีประสบการณ์แต่งหน้ากับแบรนด์จึงมีเซลฟี่บาร์ ให้ลองถ่ายรูปเปลี่ยนลุคตัวเอง ว่าเหมาะกับสินค้าอะไรด้วย เดิมเป็นการใส่แว่นแล้วลองแต่งหน้า เมื่อลูกค้าไม่ชอบก็เปลี่ยน และยังมี Makeup Genius แอพลิเคชั่นความงามให้ลูกค้าลองสินค้า

ร้านนิกซ์แฟล็กชิพสโตร์ เราต้องการให้เป็นจุดหมายของผู้บริโภคที่ชื่นชอบการแต่งหน้า ให้รู้จักดีเอ็นเอของแบรนด์ให้มาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆในการแต่งหน้าด้วยดิจิทัล และบริษัทยังต้องการโฟกัสร้านค้าคอนเซ็ปต์ใหม่ เพื่อให้ลูกค้ารู้จักตัวตนของแบรนด์มากขึ้น

ส่วนกลยุทธธ์รุกดิจัลเต็มรูปแบบ ปีที่ผ่านมา ลอรีอัลได้เข้าซื้อกิจการ “Modifcae” ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญตลาด AR Beauty และนำมาใช้ในการแต่งหน้าเสมือนจริงสำหรับลูกค้าทุกลักษณะผิวพรรณ

ปัจจุบันดิจิทัลกับผู้บริโภคใกล้กันมาก แบรนด์จึงต้องทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์หลากหลายรูปแบบ

ที่ขาดไม่ได้ในการรุกดิจิทัล คือการขยายช่องทางจำหน่ายรุกออนไลน์ทุกรูปแบบ ทั้ง E-Retailers กลุ่มเซ็นทรัล ท็อปส์ เทสโก้ โลตัส วัตสัน เซโฟร่าฯ มีอีคอมเมิร์ซไหน บริษัทนำสินค้าไปขายหมด, E-Tailers อย่างลาซาด้า อีเลฟเว่นสตรีท Konvy Looksi ค่ายไหนมีแพลมฟอร์มใดต้องไป, Social Commerce ไลน์ เฟซบุ๊ก CRAZE สินค้าต้องขายในนั้นเพราะคนไทยใช้เฟซศบุ๊กติดท็อปของโลก หากไม่มีสินค้าขายอาจพลาดจับกลุ่มเป้าหมายได้ รวมทั้งมี Owned E-Boutique แพลตฟอร์มออนไลน์ขายสินค้าแต่ละแบรนด์ เช่น ลังโคม คีลส์ อีฟแซงต์ โลร็องส์ ซึ่งบริษัทเปิดตัวไตรมาส 3 ปีก่อน

ในไทยยอดขายออนไลน์ลอรีอัลโตแรง 97% แต่สัดส่วนยอดขายยังน้อยมาก และบริษัทต้องการดันสัดส่วนให้ใกล้เคียงกับบริษัทแม่ที่มียอดขายออนไลน์ 8% เติบโต 33.6%

จากแผนดังกล่าวลอรีอัล ตั้งเป้ายอดขายเติบโตต่อเนื่องมากกว่าตลาด 8% จากช่วง 6 ปีที่ผ่านมา บริษัทโตมากกว่าตลาดโดยตลอด

ขณะเดียวกันเกมรุกจะยังสอดคล้องวิชั่นของ ส่งผลให้ลอรีอัล ประเทศไทย ที่ต้องการให้ทุกครัวเรือนมีผลิตภัณฑ์ของลอรีอัลอย่างน้อย 1 ชิ้น และผลักดันให้บริษัทฯ ก้าวสู่บริษัทความงามอันดับหนึ่งของประเทศไทยต่อไป

สำหรับตลาดความงามในประเทศไทย ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า ปี 2560 มีมูลค่า 168,470 ล้านบาท เติบโต 7.8% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตใกล้เคียงกันต่อเนื่อง 5-6 ปี เพราะคนไทยรักสวยรักงามไม่ว่าจะเจอปัญหาเศรษฐกิจ กำลังซื้อชะลแต่ง แต่ขอหน้าสวยไว้ก่อน 

ทั้งนี้ เมื่อแบ่งตามหมวดสินค้าพบว่า

ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (Skincare) 47% หรือมูลค่าราว 78,700 ล้านบาท เติบโต 8.7% แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า 84% ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย 16%, ผลิตภัณฑ์ผม(Hair) 18% มูลค่าราว 30,800 ล้านบาท เติบโต 6.7% แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม 83% ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม 11% ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม 4% และผลิตภัณฑ์ยืดดัดผม 1%

เครื่องสำอาง (Makeup) 14% มูลค่า 22,700 ล้านบาท เติบโต 7.6% แบ่งเป็น สำหรับผิวหน้า 56% ริมฝีปาก เช่น ลิปติก 26% แต่งตา 17% และเล็บ 1% ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่างกาย(Hygiene) 16% น้ำหอม (Fragrance) 5% มูลค่า 8,500 ล้านบาท เติบโต 7.6% ส่วนแนวโน้มตลาดความงามปี 2561 คาดว่าจะเติบโต 7-8%