“ไอคอนสยาม” ปั้น “สุขสยาม” ขนร้านค้าชุมชน 3,000 ราย ขึ้นห้างหรู ใช้โค-ครีเอชั่นเข้าช่วย

เมื่อทุนใหญ่ค้าปลีกอย่าง “กลุ่มสยามพิวรรธน์” ได้ผนึกพันธมิตรบิ๊กเบิ้มเหมือนกันอย่าง “เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)” และ “แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น” ในเครือซีพี พลิกกรุที่ดินย่านเจริญนคร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผุดโปรเจกต์ “ไอคอนสยาม” พัฒนาศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย มูลค่า 54,000 ล้านบาท เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของไทย ที่เทียบชั้นระดับโลก

ปัจจุบันไอคอนสยามก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 85% และคาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้เดือนตุลาคม 2561 ในส่วนพื้นที่ค้าปลีกได้ทยอยส่งมอบห้องให้ลูกค้าแล้ว

จังหวะนี้ “ชฎาทิพ จูตระกูล” กรรมการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารโครงการไอคอนสยาม จึงต้องทยอยนำเสนอ “แม่เหล็ก” ของโครงการภายใต้คอนเซ็ปต์  “7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก”

ล่าสุดเป็นคิวของโครงการ “สุขสยาม” ใช้งบลงทุน 700 ล้านบาท แปลงพื้นที่ 10 ไร่ หรือราว 15,000 ตร.ม. บริเวณชั้น G ซึ่งเป็นด้านล่างสุดของไอคอนสยาม ให้เป็นเมืองมรดกทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ด้วยการนำเสนอค้าปลีกรูปแบบใหม่ ดึง “ร้านค้าชุมชน 3,000 ร้าน” จากทั่วประเทศมาไว้ในห้าง

แต่ดึงแค่ร้านค้าชุมชนเปิดร้านเพียงอย่างเดียวก็คงไม่แปลกใหม่ ห้างไหนก็ทำได้ ไอคอนสยามจึงต้องใช้วิธีคอนเซ็ปต์ของการโค-ครีเอชั่น (Co-Creation) ถ่ายทอดโนว์ฮาวด้านธุรกิจ รวมถึงการผนึกกำลังกับพันธมิตรทางธุรกิจ ศิลปิน วิสาหกิจท้องถิ่น ชุมชนวิถีไทย และผู้ประกอบการรายย่อยระดับท้องถิ่นจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ มาร่วมกันสร้างสรรค์ในการนำเสนอสินค้าและสิ่งที่เป็นไทย ให้กับร้านค้าดังกล่าว เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงนักช้อปทั้งไทยและต่างชาติ 

นอกจากสินค้าดังจากชุมชน ยังมีพื้นที่ให้กับแบรนด์ไทยระดับแชมเปี้ยน 50 แบรนด์ เข้ามานำเสนอสินค้าและบริการในโครงการ “สุขสยาม” ด้วย ประเดิม “ไทยเบฟเวอเรจ” แบรนด์แรกเข้ามามีส่วนร่วม เพราะมีสินค้าดังในไทยและต่างประเทศจำนวนมาก

“ไอคอนสยามเรามีแม็กเน็ตเยอะมากที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนรวมอยู่ที่นี่ ทั้งร้านแบรนด์เนมหรูหลากหลาย มีห้างหรูทาคาชิมาย่าจากญี่ปุ่น ขณะที่สุขสยามเราไม่ได้ขายสินค้าอย่างเดียว แต่มีเรื่องราวบอกเล่าเกี่ยวกับสินค้าเพื่อเป็นจุดขาย รวมถึงมีวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแต่ละภาคมานำเสนอ”

สำหรับการสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้เป็น “แม่เหล็ก” ดึงคนเข้าไอคอนสยาม ถือว่าแตกต่างจากคำว่า “มหัศจรรย์” ทั่วไปที่คนจะนึกถึงคำว่า “พิเศษ” แต่ในฐานะห้างค้าปลีก โจทย์ใหญ่ของการดึงนักช้อป นักท่องเที่ยวคือต้องทำให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย “รู้สึกว้าว!” ตั้งแต่แวบแรกที่เห็นสินค้าและบริการเหล่านั้น “ลักขณา นะวิโรจน์” ผู้บริหารและจัดการโครงการสุขสยาม กล่าว

ลักขณา เป็นอดีตผู้บริหารเดอะมอลล์ กรุ๊ป แต่ได้เข้ามาลุยโปรเจกต์สุขสยามให้กับไอคอนสยามมาเป็นเวลา 18 เดือนแล้ว.