ผู้บริโภคในเอเชียคาดหวังบริการจัดส่งฟรี การรับคืนสินค้า และช็อปได้ทั่วโลก เพื่อทางเลือกที่ดีกว่า ด้วยความสะดวกสบายผ่านสมาร์ทโฟน


  • นักช็อปออนไลน์ในเอเชียพึงพอใจกับประสบการณ์การช็อปออนไลน์น้อยที่สุดในทุกด้าน เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ
  • บริการจัดส่งฟรียังถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะนักช็อปออนไลน์ในเอเชียที่ยอมจ่ายค่าส่งโดยเฉลี่ยมีเพียง 15% ของการสั่งซื้อสินค้าที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในโลก
  • 90% ของนักช็อปออนไลน์ในเอเชียนิยมสั่งซื้อจากผู้ค้ารายย่อย ขณะที่ 55% เลือกซื้อจากผู้ค้าระดับนานาชาติที่ส่วนใหญ่มีฐานธุรกิจในเอเชีย (77%)

ผลการศึกษา UPS Pulse of the Online Shopper™  เผยว่าขณะที่นักช็อปในเอเชียหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงส่งผลให้ความต้องการด้านบริการจัดส่งฟรี การส่งที่รวดเร็ว  และนโยบายการรับคืนสินค้าที่ให้ความสะดวกกับลูกค้าเพิ่มมากขึ้น โดยมองว่าเป็นสิ่งพื้นฐานที่ควรมีให้บริการ ผลจากการวิจัยซึ่งยูพีเอสว่าจ้างให้จัดทำขึ้นเป็นปีที่หกนี้ สะท้อนให้เห็นทั้งภาวะที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและแนวโน้มใหม่ ๆ ที่ส่งผลให้พฤติกรรมและความชื่นชอบของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทั้งใน จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก ยุโรป และบราซิล โดยผลการศึกษาแบ่งออกเป็นสามส่วน ประกอบด้วยConstants, Movers และ Emergers


ซิลวี แวน เดน เคอร์คอฟ รองประธานฝ่ายการตลาด ยูพีเอส เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า “ผลการวิเคราะห์กระบวนความคิดและแรงผลักดันของนักช็อปหลายพันคนจากทั่วโลกเผยให้เห็นว่า นอกจากต้นทุนที่จ่ายไปแล้ว การจัดส่งที่ชาญฉลาดและการรับคืนสินค้า คือสิ่งที่ทำให้ผู้ค้าสามารถครองใจและรักษาลูกค้าได้ ทั้งยังช่วยทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีก และส่งผลให้นักช็อปเลือกสินค้าใส่ตะกร้าจ่ายเงินมากขึ้น ทั้งบนช่องทางออนไลน์และในร้านค้า”


รัสเซล รี้ด กรรมการผู้จัดการ ยูพีเอส ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน ตลาดอีคอมเมอร์ซของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 22% ต่อปีต่อเนื่องจนถึงปี 2563[1] อุตสาหกรรมค้าปลีกออนไลน์ของไทยมีความโดดเด่น ด้วยธุรกิจขนาดเล็กและกลางจำนวนมากที่อาศัยกลยุทธ์การตลาดบนแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ทั้ง LINE, Facebook และ Instagram เพื่อเข้าถึงนักช็อปออนไลน์ ยูพีเอสมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ประสบความสำเร็จด้วยโซลูชั่นด้านโลจิสติกส์อันหลากหลายที่จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการส่งสินค้าและรับคืนสินค้า พร้อมทั้งช่วยเชื่อมโยงสู่ตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์การค้าปลีกแบบไร้รอยต่อ


Constants: นักช็อปออนไลน์ในเอเชียยังคงไม่พึงพอใจกับการซื้อสินค้าออนไลน์ และสรรหาร้านค้าที่ให้บริการส่งฟรี ส่งได้รวดเร็ว และรับคืนสินค้า


สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ มีเพียง 57% ของนักช็อปในเอเชียที่มีความพึงพอใจกับประสบการณ์การช็อปออนไลน์ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ และเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาเพียง 11 จุดจากปี 2558 [2] ซึ่งอยู่ที่ 46%แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างพึงพอใจให้ลูกค้าเกิดขึ้นช้ามาก


ประสบการณ์ในด้านอื่น ๆ ที่ยังคงมีความสำคัญอย่างต่อเนื่องและมีผลต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้าคือ การส่งที่ฟรีและรวดเร็ว เช่นเดียวกับการรับคืนสินค้าที่ง่ายและไม่เสียค่าใช้จ่าย กล่าวคือ นักช็อปออนไลน์ในเอเชียชื่นชอบบริการส่งสินค้าฟรี ซึ่งมีสัดส่วนเฉลี่ยถึง 85% ของการสั่งซื้อทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าการให้บริการส่งฟรีคือความได้เปรียบทางการแข่งขันของผู้ค้า


ที่ไม่น่าแปลกใจคือเกือบสองในสามของผู้ตอบแบบสำรวจในเอเชียระบุว่าบริการส่งฟรีคือปัจจัยสำคัญในขั้นตอนการเช็คเอาท์สินค้า โดย 46% ของนักช็อปมีการสั่งสินค้าเพิ่มเติมใส่ตะกร้าเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของบริการส่งฟรี ยิ่งกว่านั้น ราวครึ่งหนึ่งของนักช็อปออนไลน์ในเอเชียยอมทิ้งตะกร้าสินค้าหากผู้ค้าไม่สามารถระบุวันส่งสินค้าได้ หรือระยะเวลาในการส่งสินค้ายาวนานเกินไป โดยจำนวนวันในการรอส่งสินค้าโดยเฉลี่ยซึ่งส่งผลให้นักช็อปทิ้งตะกร้าสินค้าอยู่ที่ 11 วัน


ขณะเดียวกัน นโยบายการคืนสินค้าที่สะดวกและโปร่งใสจะช่วยเพิ่มยอดขายและความพึงพอใจให้กับลูกค้า โดย 67% ของนักช็อปในเอเชียระบุว่าการรับคืนสินค้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายคือปัจจัยสำคัญในการเลือกร้านค้าออนไลน์ ที่น่าเสียดายคือ ผู้ค้าในเอเชียยังคงไม่ให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงในเรื่องนี้มากนัก เพราะมีนักช็อปเพียง 47% เท่านั้นที่พึงพอใจกับนโยบายการรับคืนสินค้า แม้ว่าจะมีการคืนสินค้าจากการสั่งซื้อออนไลน์เกิดขึ้นในสัดส่วนเพียงสี่ในสิบในช่วงปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น 79% ของนักช็อปคืนสินค้าที่สั่งซื้อในสัดส่วนเพียง 10% หรือน้อยกว่านั้น โดยในจำนวนนี้ 69% ได้ซื้อสินค้าใหม่เมื่อทำเรื่องคืนสินค้าออนไลน์ที่หน้าร้าน และ 67% สั่งซื้อสินค้าใหม่ขณะที่ทำเรื่องคืนสินค้าบนช่องทางออนไลน์ ชี้ให้เห็นว่าบริการรับคืนสินค้าที่ง่าย ไม่ยุ่งยากเป็นเรื่องสำคัญมาก


Movers: ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคในเอเชียหันมาใช้สมาร์ทโฟนในการช็อปสินค้ามากขึ้น ทั้งการสั่งซื้อเพื่อไปรับสินค้าที่หน้าร้าน และการสั่งซื้อทั้งจากผู้ค้าระดับนานาชาติจนถึงร้านค้าขนาดเล็ก


พฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนได้แพร่หลายมากขึ้นในหมู่นักช็อปในเอเชีย โดยการสั่งซื้อผ่านสมาร์ทโฟนเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เห็นได้จาก 77% ของนักช็อปทำการสั่งสินค้าผ่านสมาร์ทโฟน (สัดส่วนที่สูงสุดจากทั่วโลก) เพิ่มขึ้นจาก 55% ในปี 2558 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใช้สมาร์ทโฟนชาวอเมริกัน พบว่ามีเพียง 48% เท่านั้นที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน


การสั่งซื้อแบบรับสินค้าที่หน้าร้านกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดย 37% ของนักช็อปเลือกการสั่งซื้อรูปแบบนี้ในปีที่ผ่านมา และ 59% ของนักช็อปเหล่านี้มีแผนจะสั่งซื้อแบบนี้มากขึ้นอีกในปีนี้ ที่น่าสังเกตคือ ผู้ค้าสามารถสร้างโอกาสในการขายเพิ่มขึ้น เนื่องจาก 60% ของนักช็อปในเอเชียที่สั่งซื้อสินค้ารูปแบบนี้ในปีที่ผ่านมาได้ซื้อสินค้าเพิ่มเติมจากที่หน้าร้าน โดยเฉพาะในจีน ที่มีสัดส่วนสูงถึง 74%  


ซิลวี เสริมว่า “ผลการสำรวจพบว่านักช็อปออนไลน์ในเอเชียเริ่มซื้อสินค้าจากร้านค้าที่หลากหลายประเภทมากขึ้น ตั้งแต่แหล่งซื้อขายสินค้าออนไลน์ขนาดใหญ่ จนถึงร้านขายสินค้าเฉพาะขนาดเล็ก ทั้งร้านค้าในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่ชัดเจนและฐานลูกค้าสำหรับธุรกิจขนาดเล็กในเอเชียในการขยายสู่ระดับนานาชาติ และสามารถเติบโตต่อไปได้อีกในอนาคต”


การวิจัยพบว่า 55% ของนักช็อปออนไลน์ในเอเชียเปิดรับผู้ค้าระดับนานาชาติมากขึ้น โดยในจำนวนนี้ 49%ของผู้ซื้อสรรหาสินค้าจากผู้ค้าต่างประเทศเพราะต้องการแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีจำหน่ายในประเทศของตน หรือต้องการคุณภาพที่ดีกว่า (39%) หรือราคาที่ดีกว่า (38%)


สิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจในเอเชียคือ ผู้บริโภคนิยมสั่งซื้อสินค้าจากผู้ค้าในเอเชียด้วยกัน โดย 77% ของผู้ซื้อสินค้าจากต่างประเทศสั่งซื้อจากผู้ค้าที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ 31% สั่งซื้อจากผู้ค้าในสหรัฐอเมริกา โดยนักช็อปออนไลน์ในฮ่องกงสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศในสัดส่วนสูงสุดคือ 82% ตามด้วยจีนที่ 64% ขณะเดียวกัน มีเพียง 21% ของนักช็อปในญี่ปุ่นที่สั่งสินค้าจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นนิยมสินค้าภายในประเทศมากกว่า


Emergers: แง่มุมใหม่ ๆ ในธุรกิจค้าปลีกที่อาจมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต


บริการจุดรับสินค้าทางเลือกได้รับความนิยมสูงสุดในเอเชียเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น โดย 71% ของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียม และนักช็อปในเมือง สนใจทางเลือกในการส่งสินค้าที่สั่งซื้อไปยังจุดรับสินค้าทางเลือกซึ่งเปิดให้บริการในช่วงเวลาที่ยาวนานเพื่อประหยัดค่าส่ง โดยความนิยมในบริการจุดรับสินค้าทางเลือกนั้นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจาก 46% ของการสั่งซื้อในปี 2558 เป็น 59% ในปี 2561


นักช็อปในเอเชียยังชื่นชอบตลาดซื้อขายสินค้า โดย 98% เลือกซื้อสินค้าจากที่นี่ และกว่าหนึ่งในสามของจำนวนนี้กล่าวว่าจะซื้อจากที่นี่มากขึ้นอีกในปีหน้า ด้วยเหตุผลหลักด้านราคาที่ดีกว่า (64%) และมีบริการส่งฟรีหรือค่าส่งถูกกว่า (42%) แทนที่จะซื้อจากผู้ค้าโดยตรง 


ซิลวี เสริมว่า “การวิจัย UPS Pulse of the Online Shopper แสดงให้เห็นว่า ขณะที่นักช็อปออนไลน์ได้รับประโยชน์จากทางเลือกที่ดีกว่า นักช็อปกลุ่มนี้ก็ต้องการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ของประสบการณ์ในการซื้อสินค้าด้วยตัวเองมากขึ้น และผู้ค้าจำเป็นต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อตอบสนองและปรับตัวเพื่อรองรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงนี้”


เกี่ยวกับ UPS Pulse of the Online Shopper™


การศึกษา UPS Pulse of the Online Shopper™ คือการประเมินอุปนิสัยและความชื่นชอบของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าตั้งแต่ขั้นตอนก่อนตัดสินใจซื้อจนถึงหลังจากได้รับสินค้าแล้ว การศึกษาในปี 2561 จัดทำขึ้นระหว่างไตรมาส 1 ไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปี 2560 และใช้ผลการสำรวจของ comScore จากนักช็อปออนไลน์กว่า 18,000 คนทั่วโลก โดยผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 3,300 คนในเอเชียมาจากจีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น


เกี่ยวกับยูพีเอส


ยูพีเอส เป็นผู้นำระดับโลกในธุรกิจโลจิสติกส์ ด้วยโซลูชั่นต่าง ๆ ที่หลากหลายครบวงจรสำหรับการจัดส่งพัสดุภัณฑ์และคอนเทนเนอร์ บริการอำนวยความสะดวกสำหรับการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการมุ่งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อการบริหารโลกของธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ยูพีเอสมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองแอตแลนต้า และให้บริการในกว่า 220 ประเทศและเขตการปกครองต่าง ๆ ทั่วโลก ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับบริษัท สามารถค้นหาได้ที่เว็บไซต์ups.com และบล็อกขององค์กรที่  longitudes.ups.com  หรือรับข่าวสารโดยตรงจากยูพีเอสได้ที่ Twitter@UPS_News


เกี่ยวกับ comScore


comScore เป็นบริษัทชั้นนำที่ให้บริการตรวจวัดผลบนหลากหลายแพลตฟอร์ม โดยให้บริการด้านการตรวจวัดกลุ่มผู้ชม แบรนด์ และพฤติกรรมของผู้บริโภคในทุก ๆ ที่ ด้วยนวัตกรรมและความแม่นยำ จากฐานข้อมูลที่เหนือชั้นของเราผสานรวมข้อมูลข่าวกรองทางด้านดิจิตอล ทีวี และภาพยนตร์ เข้ากับข้อมูลประชากรศาสตร์จำนวนมหาศาล เพื่อประเมินพฤติกรรมของผู้บริโภคจากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านช่องทางต่างๆ ในขอบเขตที่กว้างขวาง แนวทางนี้ช่วยให้บริษัทสื่อสามารถสร้างรายได้ที่เป็นรูปธรรมจากผู้ชมทุกกลุ่ม และช่วยให้นักการตลาดเข้าถึงกลุ่มผู้ชมเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยลูกค้ากว่า 3,200 ราย และการดำเนินงานในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก คอมสกอร์กำลังสร้างอนาคตใหม่ของบริการตรวจวัดผล ปัจจุบัน หุ้นของ comScore มีการซื้อขายในตลาด OTC ในชื่อ SCOR ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทฯ ได้ที่ comscore.com



[2] ในการศึกษาปี 2558 ผู้ตอบแบบสำรวจมาจากห้าประเทศและเขตการปกครอง ประกอบด้วยจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้