‘เอพี ไทยแลนด์’ ผนึกกำลัง ‘กสิกรไทย’ เปิดตัวบริการ ‘CASHLESS PAYMENT’ ครั้งแรกในธุรกิจอสังหาฯ เพิ่มช่องทางการซื้อที่อยู่อาศัย


  • ส่งมอบความสะดวก ปลอดภัย ไร้สะดุดให้กับผู้ซื้อบ้านเอพี
  • มั่นใจด้วยจุดต่างในการสร้าง ‘Personal QR Code’ เฉพาะบุคคล

บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สำหรับคนเมือง จับมือธนาคารกสิกรไทย เปิดตัวบริการ CASHLESS PAYMENT ครั้งแรกของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในการใช้เทคโนโลยี ‘QR Code’ เพื่อจองซื้อบ้าน โดยระบบจะสร้าง “คิวอาร์โค้ดเฉพาะบุคคล” (Personal QR Code) ให้ลูกค้าชำระค่าจองซื้อบ้านเอพี ผ่าน คิวอาร์ โค้ด เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองอย่างแท้จริง เริ่มใช้จองบ้านครั้งแรก ณ โครงการต้นแบบ “พลีโน่ ปิ่นเกล้า-จรัญฯ” และ “บ้านกลางเมือง ราชพฤกษ์- รัตนาธิเบศร์” ก่อนขยายให้ครอบคลุมทุกโครงการของเอพี


นายภมร ประเสริฐสรรค์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาธุรกิจกลุ่มสินค้าบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม กล่าวว่า “เอพีเป็นผู้นำรายแรกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ร่วมมือกับสถาบันการเงินชั้นนำอย่างธนาคารกสิกรไทยในการนำแนวคิด CASHLESS PAYMENT เข้ามาเสริมให้การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการซื้ออสังหาฯ เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการอำนวยความสะดวก และไม่ต้องใช้เงินสด หรือเตรียมเช็คเมื่อต้องจองซื้อบ้านในโครงการต่างๆ ของเอพี เราตระหนักว่าปัจจุบันมีผู้ซื้อสินค้าและบริการบนระบบออนไลน์เป็นสัดส่วนมากถึง 61% จากประชากรโลกทั้งหมดกว่า 1,660 ล้านคน1 และการใช้บริการธุรกรรมทางการเงินในระบบออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในหลากหลายรูปแบบ เอพีจึงมุ่งมั่นพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ครอบคลุมไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคอย่างครบวงจร”


นายอมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “ธนาคารรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เอพีได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ ภายใต้แคมเปญ ‘ปิ๊ปจัง’ ซึ่งถือเป็นการร่วมมือกันครั้งแรกของธนาคารและเอพี ไทยแลนด์ที่นำเทคโนโลยี QR Code Payment ประเภท “คิวอาร์โค้ดเฉพาะบุคคล” (Personal QR Code) มาประยุกต์ใช้จริงในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อีกทั้งยังสอดคล้องกับการเดินหน้า สู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ตามนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาล”


1https://www.statista.com/topics/871/online-shopping/