คณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์เปิดเผยจำนวนสปอตโฆษณาปี 2561 ไตรมาสแรก 2,132 เรื่อง แต่คาดว่าจะมีโอกาสสูงขึ้น 10-15% จากปี 2560 ที่มีปริมาณผลงานโฆษณา 8,596 เรื่อง แต่ต้องดูเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกอีกครั้ง
เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับนโยบายของคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ เปิดเผยว่า แม้ว่าสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลหลายแห่งยังประสบปัญหาด้านผลประกอบการทั้งอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบมาที่ธุรกิจผลิตหนังโฆษณาทางโทรทัศน์มากนัก
ก่อนการเกิดทีวีดิจิทัลในปี 2554-2557 ปริมาณชิ้นงานตรวจพิจารณาภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ จะมีประมาณ 12,000 – 14,000 เรื่อง/ปี มาเริ่มลดลงในปี 2557 ที่เริ่มต้นทีวีดิจิทัลและมีสื่อใหม่ๆ ทาง Social Media
ส่วนในไตรมาสแรกของปี 2561 นี้ มีจำนวนสปอตโฆษณาผ่านการพิจารณาพร้อมออกอากาศแล้ว 2,132 เรื่อง โดยเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีเอเยนซี่ส่งชิ้นงานสปอตโฆษณาเข้ามาตรวจมากที่สุด เฉลี่ย 800-900 เรื่องต่อเดือน
จากจำนวนการส่งผลงานเข้าพิจารณาในต้นปีนี้ คณะกรรมการคาดว่า ปี 2561 มีโอกาสที่จะมีชิ้นงานภาพยนต์โฆษณาผ่านการพิจารณาและออกอากาศเพิ่มขึ้นจากปี 2560 อีกประมาณ 10% หรือประมาณ 9,500 เรื่อง ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2559 ที่มีจำนวน 9,671 เรื่อง
ภาพยนตร์โฆษณาที่ผ่านการตรวจพิจารณานี้ ได้สร้างเม็ดเงินให้กับอุตสาหกรรมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท นอกเหนือจากรายได้ค่าโฆษณาทางโทรทัศน์ที่กระจายอยู่ทุกสถานี
เนื่องจากภาพยนตร์โฆษณา 1 เรื่อง จะมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 1-2 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับ presenter ความยาว สถานที่ถ่ายทำ และเทคโนโลยี ซึ่งชิ้นงานภาพยนตร์โฆษณาของประเทศไทยได้รับความนิยม และยอมรับว่ามีมาตรฐานระดับโลก
การขยายตัวของธุรกิจผลิตสปอตโฆษณาดังกล่าวนี้ เกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มี Brand สินค้าใหม่ๆ เกิดขึ้น และสินค้าเดิมที่แตกไลน์ออกไปตาม Segment ของผู้บริโภค
คณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ ประกอบด้วย ผู้แทนจากสมาคมธุรกิจโฆษณาแห่งประเทศไทย สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ รวมทั้ง ผู้แทนสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลเกือบทุกสถานีร่วมเป็นกรรมการ
โดยแบ่งโครงสร้างเป็นคณะกรรมการกำกับนโยบายที่มีหน้าที่ควบคุมจริยธรรม/กฎหมายตามระเบียบของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ กสทช. และคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ ซึ่งหมุนเวียนช่วยกันโดยเจ้าหน้าที่จากผู้แทนสถานีโทรทัศน์ เช่น ช่อง 3 ช่อง 9 Mcot HD โทรทัศน์ดิจิทัลทุกสถานี โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการตรวจพิจารณา
นอกจากนั้นในการตรวจพิจารณาสปอตโฆษณายังมีขั้นตอนของการตรวจพิจารณาบทของภาพยนตร์โฆษณา (Per Censor) การรับฟังคำชี้แจงของผู้ผลิตหนังโฆษณา และการตรวจพิจารณาสปอตโฆษณาที่มีการแก้ไข ก่อนอนุญาตให้ออกอากาศ ซึ่งในแต่ละปีมีปริมาณเฉลี่ย 6,000-7,000 เรื่อง ทำให้มีปริมาณงานเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณจำนวนชิ้นงานภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ในปัจจุบัน.