เอ็นอีเอ รุก 5 แนวทาง เสริมแกร่งผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องมี พร้อมโชว์ 150 กิจกรรม ติดปีกการค้าไทยตอบโจทย์ “สมาร์ทเวิลด์”


สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) เผย 5 แนวทางเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการให้ทันต่อโลกธุรกิจและการค้ายุคใหม่ ได้แก่ การก้าวด้วยเทคโนโลยี และระบบดิจิทัลเพื่อสร้างรูปแบบการดำเนินธุรกิจ การผลักดันให้ก้าวเข้าสู่ตลาดการค้าที่มีศักยภาพเดิม และเติมโอกาสในการเข้าถึงตลาดรองให้มากขึ้น การสร้างพันธมิตรและเครือข่ายทางการค้า การสร้างมาตรฐานและคุณภาพให้เทียบชั้นระดับสากล และการส่งเสริมผู้ประกอบการให้ก้าวด้วยธุรกิจบริการที่สอดคล้องกับ Global New Demand โดยการส่งเสริมทั้ง 5 แนวทางNEA ได้เตรียมกิจกรรมและโครงการภายใต้ 5 หลักสูตร และกว่า 150 กิจกรรม อาทิ หลักสูตรอบรม “Facebook Content Marketing โพสต์อย่างไร ได้ทั้งยอด ได้ทั้งแบรนด์” “รวยลัด รวยไว กับการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดโลก กับอาลีบาบา” “โครงการเสริมสร้างความรู้ทางการค้า สินค้า Life Style ไทยสู่สากล” ฯลฯ เพื่อเป็นตัวช่วยและสนับสนุนความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการยุคใหม่ ซึ่งได้ตั้งเป้าให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมฝึกอบรม สัมมนา และพัฒนาองค์ความรู้ไห้ได้กว่า 100,000 ราย พร้อมตอบโจทย์กับความต้องการในตลาดโลกที่กำลังก้าวสู่สมาร์ทเวิลด์ให้มากขึ้น


นายพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) เผยถึงการแผนการดำเนินงานในปีนี้ว่า “ในช่วงเวลานี้ที่โลกกำลังหมุนไปสู่ความเป็น Smart World สถาบันฯ จึงได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในทุกระดับให้มีศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันในโลกการค้ายุคใหม่ให้มากขึ้น ซึ่งในปี 2561 นี้ได้วางแนวทางส่งเสริมผู้ประกอบการด้วย 5 แนวทาง ได้แก่

  • การก้าวด้วยเทคโนโลยี และระบบดิจิทัลเพื่อสร้างรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีคุณสมบัติความเป็น Smart Enterprise โดยจะมุ่งเน้นพัฒนาระบบการผลิต การค้า การตลาด รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ ด้วยการอาศัยเครื่องมือใหม่ๆอาทิ IoT หรือการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อระหว่างธุรกิจและผู้บริโภค การสนันสนุนระบบ Big Data เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เห็นถึงข้อมูลหรือแนวโน้มทางเศรษฐกิจ และนำไปใช้ในการพยากรณ์และวางแผนธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้ระบบ AI เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างเครื่องมือหรือระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรองรับความต้องการของผู้บริโภคและสร้างช่องทางทางการค้าใหม่ๆ ในยุคที่กำลังแข่งขันกันด้วยความรวดเร็ว
  • การผลักดันให้ก้าวเข้าสู่ตลาดการค้าที่มีศักยภาพเดิม และเติมโอกาสในการเข้าถึงตลาดรองให้มากขึ้น โดยจะชี้ให้เห็นถึงโอกาสของสินค้าและการบริการที่สามารถไปสู่ตลาดคู่ค้าหลัก อาทิ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ด้วยการเติมองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญการทำธุรกิจในตลาดต่างประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรู้จักการมองหาตลาดการค้าที่เป็นเมืองรอง เช่น ตลาดCLMV ตลาดอินเดีย ตลาดอาหรับ เพื่อลดข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการกระจายสินค้า ตลอดจนขยายฐานผู้บริโภคให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
  • การสร้างพันธมิตรและเครือข่ายทางการค้า เพื่อให้ธุรกิจของผู้ประกอบการไปสู่เป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะมุ่งเน้นการแสวงหาพันธมิตรที่จะร่วมกันเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจโดยเฉพาะจากการจัดกิจกรรมอบรม สัมมนา และการให้ความรู้ในโครงการต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่การพบปะกันของผู้ประกอบการ ต่อเนื่องถึงการแลกเปลี่ยนกลยุทธ์และองค์ความรู้ การร่วมมือพัฒนาหรือปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสรรหาช่องทางที่จะนำสินค้าหรือบริการไปสู่ตลาดที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ และทำให้ได้ผลประโยชน์ร่วมกันแบบ Win – Win
  • การสร้างมาตรฐานและคุณภาพให้เทียบชั้นระดับสากล โดยจะขับเคลื่อนการสร้างมาตรฐานใหม่ๆโดยใช้ตัวอย่างจากธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั้งของไทยและต่างประเทศมาเป็นต้นแบบให้กับผู้ประกอบการ พร้อมกระตุ้นให้แต่ละธุรกิจเกิดการตื่นตัวที่จะแข่งขันกันในเรื่องของคุณภาพ เพื่อนำมาซึ่งความแตกต่างและความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว
  • การส่งเสริมผู้ประกอบการให้ก้าวด้วยธุรกิจบริการที่สอดคล้องกับ Global New Demand โดยเฉพาะแนวโน้มจากการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในตลาดต่างๆ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของหลายประเทศ การให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่ใส่ใจสุขภาพ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นต้น

โดยในการพัฒนาตามแนวทางข้างต้น ทางสถาบันฯ ได้ตรียมกิจกรรมและโครงการฝึกอบบรมภายใต้กรอบเนื้อหาใน 5 หลักสูตร รวมกว่า 150 กิจกรรม ประกอบด้วย หลักสูตร New Economy Amplifier ซึ่งเป็นหลักสูตร เตรียมความพร้อมในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการในด้านการดำเนินธุรกิจและการค้ายุคใหม่พร้อมกระจายองค์ความรู้ไปยังทุกพื้นที่ของประเทศได้อย่างทั่วถึง อาทิ หลักสูตรอบรม “Facebook Content Marketing โพสต์อย่างไร ได้ทั้งยอด ได้ทั้งแบรนด์” หลักสูตร New Economy Foundation หลักสูตรที่จะเตรียมพร้อมให้กับผู้ประกอบการมือใหม่ โดยจะส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดต่างประเทศและการทำธุรกิจต่อยอดสู่การค้าแบบ E-Commerce อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่เตรียมเติบโตในตลาดโลก อาทิหลักสูตรอบรมโครงการ “Startup 101 – สตาร์ทอัพ สตาร์ทเลย : เริ่มธุรกิจใหม่ให้ประสบความสำเร็จ” หลักสูตรNew Economy Driver หลักสูตรขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ  อาทิ. “รวยลัด รวยไว กับการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดโลก กับอาลีบาบา”


พร้อมด้วย หลักสูตร New Economy Connector หลักสูตรสร้างเครือข่ายการค้าสำหรับผู้บริหาร ซึ่งจะสร้างเวทีเครือข่ายและแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างบุคลากรชั้นนำทั้งภาครัฐ และเอกชนตามความเหมาะสมในแต่ละกลุ่มภูมิภาค อาทิ หลักสูตรอบรม “โครงการเสริมสร้างความรู้ทางการค้า สินค้า Life Style ไทยสู่สากล” และ  หลักสูตร IT 4 SME (E-Business) หลักสูตรสำคัญในยุคที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจโดยหลักสูตรจะส่งเสริมสร้างองค์ความรู้ด้าน IT ให้กับผู้ประกอบการ SME ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยทักษะด้าน E-Business รวมไปถึงความเข้าใจในธุรกิจ อาทิ โครงการสัมมนา “เจาะตลาด E-Commerce” และกระบวนการต่างๆ ซึ่งทั้ง 5 หลักสูตรตั้งเป้าไว้ว่าจะผลักดันให้ผู้ประกอบการ และผู้มีความต้องการดำเนินธุรกิจใหม่เข้าร่วมกิจกรรมให้ได้มากกว่า 100,000 ราย  พร้อมตอบโจทย์กับความต้องการในตลาดโลกที่กำลังก้าวสู่สมาร์ทเวิลด์ให้มากขึ้น นายพรวิช กล่าว


สำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทรศัพท์ 02 507 7999 หรือwww.nea.ditp.go.th , facebook.com/nea.ditp