นิติศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเวทีสัมมนาเชิงลึก รวมพลเหล่ากูรูทั้งไทย และเทศ ร่วมชี้แนวทางองค์กรธุรกิจไทยต้านภัยคอร์รัปชัน ปูทางภาคธุรกิจไทยสู่เวทีโลก

นิติศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเวทีสัมมนาแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ดึงเหล่ากูรูทั้งไทยและเทศ เข้าร่วมให้ความรู้เชิงลึก ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ความรับผิดชอบและแนวปฏิบัติขององค์กรธุรกิจเอกชนในการป้องกันและต่อต้านการทุจริต” นำทีมโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  รพี สุจริตกุล เลขาธิการ กลต. ดร.ภากร ปีตธวัชชัย ว่าที่กรรมการผู้จัดการ ตลท. กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานบริษัทเบเคอร์ แมคเคนซี่ ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านในแวดวงกฎหมาย-ธุรกิจ ทั้งไทยและเทศ โดยมีศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทนายความจากฮ่องกง ที่เชี่ยวชาญด้าน FCPA  บินมาร่วมให้แนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม กำหนดจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2561 เวลา 9.00 – 16.00น.  ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี กรุงเทพฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาอย่างรวดเร็วของโลกและเทคโนโลยีในปัจจุบัน กระตุ้นให้การทุจริตเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น รุนแรงขึ้นและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แม้ประเทศไทยจะพัฒนากฎหมายหลายฉบับ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในรูปแบบต่างๆ แต่จากการจัดอันดับดัชนีบ่งชี้ระดับคอร์รัปชันระหว่างประเทศปีล่าสุด 2017 ที่ไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 96 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ย่อมแสดงว่า ปัญหาคอร์รัปชันยังเป็นปัญหาสำคัญและอยู่ในระดับรุนแรงที่ต้องเร่งแก้ไข

“การทุจริตคอร์รัปชันมีหลากหลายรูปแบบและเกิดขึ้นได้ในทุกวงการ ที่สำคัญ คือ หากเราปล่อยให้มีการทุจริตเกิดในภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตภายในองค์กรหรือระหว่างองค์กรธุรกิจกับภาครัฐ จะส่งผลให้ระบบ    การแข่งขันและระบบเศรษฐกิจถูกบิดเบือนหรือถูกทำลาย เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ที่ผ่านมาหนึ่งในปัจจัย ที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกก็คือ ผลพวงจากการทุจริตในภาคเอกชนและภาคเอกชนร่วมกับรัฐนั่นเอง  ซึ่งท้ายที่สุดองค์กรธุรกิจนั่นเอง คือ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง”

คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย เริ่มเล็งเห็นว่า ภาคเอกชนหรือธุรกิจ คือ ส่วนหนึ่งของการทุจริต จึงเริ่มออกกฎหมายมาเข้มงวดกับเอกชนมากขึ้น ประกอบกับมีการลงทุนหรือทำธุรกิจข้ามประเทศจนเป็นปกติ บางประเทศจึงมีกฎหมายที่เข้ามากำกับองค์กรธุรกิจของตัวเองที่ทำธุรกรรมอยู่ในต่างประเทศตามแบบกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการที่เป็นการทุจริตในต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า FCPA (Foreign Corrupt Practice Act) ของสหรัฐอเมริกา มากขึ้น

“กฎหมายฉบับนี้เป็นต้นแบบที่กำหนดให้ธุรกิจภาคเอกชนของอเมริกาที่ไปทำธุรกิจในประเทศอื่นมีหน้าที่ต้องรายงานถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ใช้ไปกับเจ้าหน้าที่ในประเทศอื่นนั้น และหากพบการทุจริตก็จะเอาผิดกับเอกชนนั้นและผู้เกี่ยวข้องได้เลย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ส่วนใหญ่จะเข้าใจหลักการ แต่จริงๆ พวกเรายังไม่ค่อยเข้าใจในรายละเอียดว่า ทำอย่างไรได้ ทำอย่างไรไม่ได้ เพราะการตีความและการบังคับใช้นั้นมีความซับซ้อนมาก จึงน่าจะต้องมีการศึกษาพูดคุยกัน”

“การสัมมนาครั้งนี้ เราไม่ได้จัดเพื่อมาพูดถึงปัญหา ผลกระทบ หรือเรียกร้องให้ภาคเอกชนหันมาสนใจ การต่อต้านการทุจริต เพราะเราตระหนักว่า องค์กรธุรกิจรู้อยู่แล้วว่า เรื่องนี้สำคัญ ในภาคเอกชนเองก็มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายต่อต้านทุจริตโดยIOD (Thai Institute of Directors หรือสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย) แต่ก็ยังต้องมีแนวทางที่ต้องพัฒนากันต่อ การสัมมนานี้ จึงเน้นมุ่งตรงลงไปในสิ่งที่องค์กรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชน ทราบว่า ควรจะทำอย่างไร ควรต้องระวังอะไรบ้าง และนำไปวางแนวปฏิบัติภายในของตัวเอง

เราหวังว่า คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จะเป็นเวทีเชื่อมต่อ เพื่อนำองค์ความรู้จากเหล่าคณาจารย์ อาจารย์พิเศษและเครือข่ายของเราที่ฮาร์วาร์ด ตลอดจนความรู้และประสบการณ์ของผู้นำ-ผู้รู้-ผู้ปฏิบัติจริง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทยและต่างประเทศ มาถ่ายทอดให้องค์กรธุรกิจสามารถนำไปใช้จริง เพราะเราเล็งเห็นว่า ถึงเวลาที่องค์กรธุรกิจเอกชนจะต้องตื่นตัว เข้ามามีบทบาทเชิงรุกและรู้ว่าจะจะต้องทำอย่างไร เพื่อป้องกันองค์กรไม่ให้ต้องรับผลกระทบกฎหมายต่างประเทศ ไม่ให้เกิดทุจริตภายในองค์กร และป้องกันตนเองจากการทุจริตของคนอื่น

สุดท้าย เราหวังว่า นิติศาสตร์ จุฬาฯ จะได้มีส่วนสร้างความมั่นคง ความเชื่อมั่น และความเป็นธรรมให้แก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” ดร.ปารีณา คณบดีกล่าวในตอนท้าย

ทั้งนี้ งานสัมมนาเชิงลึก “ความรับผิดชอบและแนวปฏิบัติขององค์กรธุรกิจเอกชนในการต่อต้านการทุจริต” จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่25 พฤษภาคม 2561 เวลา 9.00 – 16.00 น. ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี กรุงเทพฯ ผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาเชิงลึกแบบเอ็กซ์คลูซีฟ สามารถลงทะเบียนที่นั่งได้ที่ [email protected]  หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2218-2017 ต่อ 216หรือ 226