หลังจากที่ สายการบินนกแอร์ ต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องปัญหารายได้ จนต้องเขย่าองค์กร หามาตรการต่างๆ มาช่วยแก้ปัญหา
ล่าสุด นกแอร์ได้ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2561 (มกราคมถึงเดือนมีนาคม 2561) สามารถลดการขาดทุนรวมลงได้จาก 295.57 ล้านบาท ลดลงเหลือ 26.88 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
นกแอร์ ระบุว่า แม้ว่าต้องรับมือกับต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 23.2 แต่สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากไตรมาสก่อนหน้า คิดเป็น 4.32 พันล้านบาท เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยต่อที่นั่งลดลง และอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) มีการปรับตัวดีขึ้น และมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีนี้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ สะท้อนถึงแผนการฟื้นฟูธุรกิจของสายการบินให้ผลลัพธ์อย่างดี และสายการบินกำลังแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง
ที่ผ่านมา นกแอร์ ได้การปรับรูปแบบการจองบัตรโดยสารและแผนการตลาดใหม่ เช่น การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายกลุ่ม โดยทำคู่ขนานไปกับการควบคุมต้นทุน รวมถึงการเพิ่มเส้นทางบินไปจีน
- ทำให้อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร ไตรมาสแรกอยู่ที่ร้อยละ 93.8 เพิ่มขึ้น 6.1 จุด จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
- จำนวนผู้โดยสาร 2.52 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.83 % จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 2.43 ล้านคน
เส้นทางบินจีนช่วย
ผลมาจากการเพิ่มในเส้นทางบินจีนที่เพิ่มมากขึ้น จากเดิม 8 เมือง เพิ่มเป็น 19 เมือง ทำให้จำนวนผู้โดยสารเฉพาะในเส้นทางบินนี้เพิ่มขึ้นจาก 94,302 คน เป็น 235,363 คน หรือ 149.57% เป็นผลให้รายได้ในเส้นทางบินจีนมีสัดส่วน 19.82% ของรายได้โดยรวมของสายการบิน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 7.51
ส่วนอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำ (Aircraft Utilization) เพิ่มขึ้นเป็น 10 ชั่วโมงปฏิบัติการการบินต่อวันจากเดิมที่ 8.23 ชั่วโมงปฏิบัติการการบินต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.5
ปัจจจุบันนกแอร์มีเครื่องบินอยู่ในฝูงบินจำนวน 29 ลำ ลดลงจากจำนวนฝูงบินเฉลี่ยอยู่ที่ 31.26 ลำ เมื่อปีที่แล้ว โดยได้เพิ่มเส้นทางบินภายในประเทศเพิ่มขึ้น 2 เส้นทาง ทำให้ในไตรมาสแรกนกแอร์มีเส้นทางบินภายในประเทศจำนวน 25เส้นทาง ในขณะที่เส้นทางบินระหว่างประเทศยังคงเดิมอยู่ที่ 3 เส้นทางบิน.