ละคร “บุพเพสันนิวาส” สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการทีวีดิจิทัล เป็นละครที่สร้างกระแสทั้งบนโลกออนไลน์ และเรตติ้งสูงสุดในยุคทีวีดิจิทัล กลายเป็นละครแห่งชาติที่ดังไปทั่วประเทศ ที่ดูเหมือนจะทำให้สถานการณ์ของบีอีซี เวิลด์ หรือกลุ่มช่อง 3 ในปี 2560 ซึ่งมีผลประกอบการที่ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกำไรจากผลประกอบการเพียง 61 ล้านบาท น่าจะพลิกฟื้นกลับคืนมาได้
แต่หลังจากกลุ่มช่อง 3 แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 กลับพบว่า ผลประกอบการยังขาดทุนอยู่ถึง 126 ล้านบาท มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,420 ล้านบาท
จึงเกิดคำถามว่า อิทธิฤทธิ์ของออเจ้าไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ช่อง 3 พลิกฟื้นขึ้นมาเลยหรือ
รายได้จากโฆษณา เป็นรายได้หลักของช่อง 3 มาโดยตลอด โครงสร้างรายได้ของบริษัทในไตรมาส 1 จะพบว่า 91.8% มาจากค่าจากโฆษณา, 7.2% มาจากรายได้ค่าลิขสิทธิ์และบริการอื่น รายได้ส่วนนี้อยู่ที่ 173.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.6% จากไตรมาส 4/60 และ 9.5% จากไตรมาส 1/60 โดยได้แรงส่งจากกระแสของละครบุพเพสันนิวาสผ่านแพลตฟอร์ม เมลโล และพันธมิตรรายอื่นๆ
ช่อง 3 เปิดตัวแอปเมลโล วันที่ 29 มีนาคม เป็นช่วงจังหวะที่ละครบุพเพสันนิวาสกำลังพุ่งแรงพอดี และดูรีรันละครได้หลังละครจบ ทำให้มียอดคนดาวน์โหลดแอปเวลานี้ 490,000 ดาวน์โหลด ส่วนแอป Ch3Thailand มียอดผู้คนดาวน์โหลด 2.9 ล้านราย
ความจริงแล้ว ไตรมาส 1 ของปี 2561 นี้ ไม่ได้เป็นไตรมาสแรกที่กลุ่มช่อง 3 ขาดทุน เพราะได้เริ่มขาดทุนเป็นครั้งแรก มาตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว โดยขาดทุนอยู่ที่ 335.5 ล้านบาท ทำให้รวมทั้งปีบริษัทจึงมีกำไรเหลืออยู่เพียง 61 ล้านบาท
สาเหตุหลักมาจากรายได้จากโฆษณาลดลงต่อเนื่อง ทั้งสภาวะเศรษฐกิจ เม็ดเงินโฆษณาลดลง บวกกับการแข่งขันทีวีดิจิทัลที่มีถึง 22 ช่อง
ถ้ามองในแง่รายได้ไตรมาสนี้ถือว่าเพิ่มสูงขึ้น 17.5% ถ้าเทียบกับไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ส่งผลให้ขาดทุนลดลง 209.5 ล้านบาท หรือ 62.4% แต่ถ้าไปเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว รายได้ลดลง 563.4 ล้านบาท หรือ 18.9% ทำให้พลิกจากกำไร 249 ล้านบาท มาเป็นขาดทุน 126 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสาหัสสากรรจ์สำหรับช่อง 3 ทีเดียว
ช่อง 3 ได้ชี้แจงว่า การที่รายได้ลดลงนี้ เป็นผลมาจากรายงานตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาทีวี ได้ลดลงต่อเนื่องจากตั้งแต่เดือนธันวาคม 60 และค่อยๆ เพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 61 แต่ถือว่าลดลงทุกเดือนเมื่อเทียบกับแต่ละเดือนในปีที่แล้ว โดยเป็นผลมาจากรายได้ของประชาชนลดลง จากการว่างงาน ส่งผลให้กำลังซื้ออ่อนแอ และยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนนัก
นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายรวมของกลุ่ม BEC ไตรมาสแรกปี 61 อยู่ที่ 2,110.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% จาก Q4/60 แต่ลดลง 4.3% จาก Q1/60 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต้นทุนรายการที่เพิ่มขึ้น โดยประมาณ 64%
ต้นทุนรายการที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากช่อง 3 ได้ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลมาถึง 3 ช่อง แม้ว่าจะมีการนำรายการมาออนแอรซ้ำก็ตาม แต่ก็ยังมีรายการที่ผลิตใหม่ และก็ยังมีทั้งค่าใบอนุญาต ค่า MUX ที่ต้องชำระต่อเนื่อง
ทีมขายมือใหม่ เรตติ้งดี แต่รายได้เข้าไม่เต็ม
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ปัญหาหลักของกลุ่มช่อง 3 ตอนนี้คือ ด้านการขาย เนื่องจากเป็นทีมใหม่ แม้บางช่วงจะขายเต็ม แต่รายได้จากเรตที่ตั้งไว้แต่ละช่วง ไม่ได้เข้ามาเต็มเม็ดเต็มหน่วย บางช่วงเวลาเป็นเวลาแถมฟรี ไม่เคยมีรายได้ บางช่วงมีการลดแลกแจกแถมสารพัด
“ก่อนหน้านี้ปัญหาของช่องที่โดนวิจารณ์มากคือ เรื่องคอนเทนต์ โดยเฉพาะละคร ที่ไม่โดนใจตลาด เรตติ้งไม่ดี รายได้จึงไม่มา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ คอนเทนต์ดีขึ้น เรตติ้งฟื้นมาได้ แต่ขายไม่ได้ ซึ่งกลายเป็นปัญหาหลักที่กลุ่มช่อง 3 ต้องแก้ปัญหาโดยด่วน ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องเจอกับสภาพขาดทุนไปอีกหลายไตรมาส”
ตั้ง 2 ทีมกระตุ้นรายได้และลดค่าใช้จ่าย ดึง “สมประสงค์” กลับมาคุมหารายได้
เมื่อเร็วๆ นี้ ช่อง 3 ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุดคือ คณะกรรมการการตลาดและกระตุ้นการขาย และคณะกรรมการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย
โดยได้มีการตั้งให้ สมประสงค์ บุญยะชัย กรรมการบริษัท มาเป็นประธานคณะทำงานการตลาดและกระตุ้นการขาย ชุดนี้ โดยมีหน้าที่กำหนดกลยุทธ์การขาย มุ่งหาลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่เอเจนซี่อย่างเดียว และมุ่งหารายได้ในรูปแบบอื่นๆ
ทั้งนี้ สมประสงค์ เคยเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท แต่ได้ลาออกไปในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ท่ามกลางปัญหารายได้และผลประกอบการบริษัทตกต่ำ โดยยังคงตำแหน่งบอร์ดบริษัทอยู่
สาย “ประวิทย์ มาลีนนท์” ไม่เหลือใย แม้เก้าอี้ในบอร์ด
ในวันเดียวกันนี้ บีอีซี เวิลด์ ยังได้แจ้งว่า วรวรรธน์ มาลีนนท์ ลูกชายนายประวิทย์ มาลีนนท์ ได้แจ้งลาออกจากการเป็นบอร์ดบริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ วรวรรธน์ หรือ อ๋อง เป็นตัวแทนของสายนายประวิทย์ ที่เป็นบอร์ดบริษัทมาเป็นเวลานาน แต่ได้ขายหุ้นที่ถือทั้งหมด 1.47% ออกไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และในเดือนมีนาคม ลูกสาวและลูกชายในสายนายประวิทย์ ทั้ง อรอุมา, วัลลิภา และชฎิล ที่เคยถือหุ้นคนละ 1.47% ก็ได้ขายหุ้นที่ถือทั้งหมดในบริษัทออกมาจนหมด
ปัจจุบัน ตระกูลมาลีนนท์ผู้ก่อตั้งช่อง 3 ได้ถือหุ้นในบริษัทผ่าน 7 พี่น้องในครอบครัว ตั้งแต่สายนายประสาร, ประชา, ประชุม, รัชนี, รัตนา, นิภา และอัมพร รวม 40.25%.