ขนาดในวงการ สตาร์ทอัพ ยังเคยล้อวงการ หนัง ว่ากู้เงินมาลงทุนยากพอ ๆ กัน เพราะความเสี่ยงสูง แต่ดูเหมือนว่าหลังช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา วงการ หนังไทย หรือ ภาพยนตร์ไทย ก็เริ่มกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะปี 2023 ที่ผ่านมา สัดส่วนรายได้ของหนังไทยสามารถแซงหน้าหนังฮอลลีวูดที่ 55% : 45% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในวงการ
โรงภาพยนตร์มากขึ้น ก็ทำรายได้มากขึ้น
ในช่วง 20 ปีมานี้ จำนวนหนังไทยที่ฉายต่อปีมีอยู่ราว 50 เรื่อง ส่วนภาพยนตร์จากต่างประเทศฉายประมาณ 200-300 เรื่อง ซึ่งถ้าเทียบกันแล้วหนังไทยถือว่ามีสัดส่วนน้อยมาก แม้จำนวนจะน้อยกว่าหลายเท่า แต่ปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีแรกที่สัดส่วนรายได้หนังไทยสูงกว่าหนังฮอลลีวูด ด้วยสัดส่วน 55 : 45 จากในอดีตที่สัดส่วนจะหนังฮอลลีวูดจะอยู่ที่ 80 : 20
โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้รายได้ของหนังไทยเติบโตมากขึ้นก็เป็นผลมาจาก จำนวนโรงภาพยนตร์ ที่มีมากขึ้น สามารถกระจายไปถึงระดับชุมชน อย่างใน เครือเมเจอร์ฯ มีโรงภาพยนตร์ทั้งหมด 180 สาขา รวม 838 โรงภาพยนตร์ ส่วนเครือ SF มีโรงภาพยนตร์อยู่ในเครือ 66 สาขา รวม 400 โรงภาพยนตร์ ด้วยจำนวนโรงภาพยนตร์ที่มากขึ้น ก็ทำให้หนังไทยมีโอกาสทำรายได้ได้มากขึ้น ดังนั้น จะเห็นว่ามีหนังไทยหลายเรื่องทำรายได้หลัก 100 ล้านบาทในวันเดียว
“เราเริ่มเห็นเทรนด์ในหลายประเทศที่รายได้จากหนังโลคอลเริ่มมีแชร์สูงขึ้น เนื่องจากคุณภาพที่สูงขึ้น และคนโลคอลก็ยังสนับสนุนหนังของตัวเอง” สุรเชษฐ์ อัศวเรืองอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร M Studio กล่าว
ผู้ชมเปิดใจกับภาพยนตร์โลคอล
การมาของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งไม่ได้เป็นคู่แข่งกับโรงภาพยนตร์ เพราะหลังจากหมด COVID-19 โรงภาพยนตร์ก็กลับมาอีกครั้ง เพราะโรงหนังเป็นการ ขายประสบการณ์ บางคนมาดูหนังกับเพื่อน กับแฟน กับครอบครัว นอกจากนี้ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งก็มีส่วนช่วยให้คนเปิดใจรับชมโลคอลคอนเทนต์ หรือคอนเทนต์จากประเทศอื่น ๆ ไม่ใช่ฮอลลีวูดมากขึ้น
“เราจะเห็นว่าคอนเทนต์อันดับ 1 ในหลายแพลตฟอร์มไม่ใช่คอนเทนต์จากฝั่งฮอลลีวูด แต่มีทั้งเกาหลีใต้, ตุรกี, อเมริกาใต้ ผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มเปิดใจกับคอนเทนต์ของประเทศอื่น ๆ มากขึ้น”
ดังนั้น ทิศทางการเติบโตของหนังไทยก็มาจากการยอมรับของคนไทยที่เปิดใจมากขึ้นด้วย อาทิ ภาพยนตร์ สัปเหร่อ หรือ ของแขก ที่ดูเป็นภาพยนตร์เฉพาะกลุ่มแต่ก็สามารถประสบความสำเร็จได้
พลังนักแสดงและมีเดียของพาร์ตเนอร์
อีกปัจจัยที่ทำให้หนังไทยมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นก็คือ การที่บริษัทผู้ผลิตหนังได้ พาร์ตเนอร์ ที่แข็งแรง อย่างเช่น ช่อง 3 ที่เป็นพาร์ตเนอร์กับ M STUDIO ทำให้ภาพยนตร์ที่สร้างนั้น ๆ ได้ ศิลปิน ระดับแม่เหล็กของช่อง 3 รวมถึงได้ มีเดียของช่อง 3 ด้วย ซึ่งในส่วนนี่ก็จะช่วยดึงดูดกลุ่มแฟนคลับของศิลปิน ช่วยโปรโมตให้ภาพยนตร์เข้าถึงวงกว้าง รวมถึงการดึงแบรนด์มาเป็นสปอนเซอร์ได้อีกด้วย
ที่น่าสนใจคือ ช่อง 3 หรือ BEC world ได้ร้างราจากการลงทุนทำหนังไปเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่บริษัทในเครืออย่าง ฟิล์มบางกอก ที่ผลิตภาพยนตร์คุณภาพ อาทิ ฟ้าทลายโจร, บางระจัน ได้ปิดตัวไปในปี 2005 จนมาปี 2022 ที่ช่อง 3 ได้ลงทุนในการทำหนังอีกครั้ง ผ่านการเป็นพาร์ตเนอร์กับ M Pictures ผลิตภาพยนตร์ บัวผันฟันยับ และในปี 2023 เรื่อง ธี่หยด
ไม่ใช่แค่ขาขึ้น แต่ทีวีต้องหาโอกาสใหม่ ๆ
การที่ผู้ผลิตหนังจะหาพาร์ตเนอร์จากทีวีถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากประโยชน์ที่ได้รับก็มีส่วนช่วยให้หนังประสบความสำเร็จง่ายขึ้น ขณะที่สื่อทีวีเองก็ต้องพยายามหารายได้ใหม่ ๆ เข้ามา เพราะ รายได้โฆษณาของทีวี ลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้บริโภคย้ายไปอยู่บนออนไลน์ ขณะที่คอนเทนต์ที่เคยเป็นจุดเด่นของทีวีอย่าง ละคร ก็ไม่ได้เป็นคอนเทนต์หลักที่ใช้ดึงดูดผู้ชม กลายเป็นรายการ ข่าว ที่เป็นคอนเทนต์ที่ขายได้ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ช่อง 3 จะกลับมาลงทุนในธุรกิจภาพยนตร์อีกครั้ง เพื่อหาโอกาสสร้างรายได้ใหม่ ๆ
สำหรับปี 2024 นี้ ช่อง 3 ได้ร่วมลงทุนกับ M STUDIO ในการผลิตภาพยนตร์ 2 เรื่อง ได้แก่ ธี่หยด 2 และ มานะแมน โดย เทรซี แอนน์ มาลีนนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่ม บมจ.บีอีซี เวิลด์ เปิดเผยว่า ช่อง 3 จะร่วมทุนแบบ 50:50 กับบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ และพร้อมจะร่วมทุนกับทุกค่ายถ้าภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ น่าสนใจ และช่อง 3 ก็มองว่า รายได้จากภาพยนตร์อาจเป็นขาสำคัญในอนาคต โดยปัจจุบันรายได้ 85% ของบริษัทมาจากโฆษณา อีก 15% มาจากอื่น ๆ รวมถึงภาพยนตร์
ปั้นจักรวาลภาพยนตร์ตามรอยฮอลลีวูด
สุรเชษฐ์ มองว่า อีกเทรนด์ที่เห็นของวงการหนังไทยก็คือ เริ่มเป็น แฟรนไชส์หรือจักรวาลภาพยนตร์ เช่น จักรวาลไทบ้าน เดอะ ซีรีส์ ดังนั้น การต่อยอดจากหนังที่ประสบความสำเร็จ ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะทำให้หนังไทยเติบโตได้ เหมือนกับหนังฮอลลีวูดที่เมื่อหนังประสบความสำเร็จก็จะทำเป็นแฟรนไชส์หรือจักรวาลภาพยนตร์ออกมา เพราะตอนนี้หนังไทยเริ่มสร้างแฟนคลับ ดังนั้น แนวคิดการทำภาพยนตร์จากนี้ต้องต่อยอดเป็นแฟรนไชส์ได้ด้วย
“อย่างธี่หยดที่ประสบความสำเร็จไป เราเลยทำธี่หยด 2 ซึ่งเราก็คาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จในระดับเดียวกันกับภาคแรกที่ทำรายได้แตะ 500 ล้านบาท ซึ่งเรามองว่ามันต่อยอดไปได้อีก เช่น สปินออฟของตัวละครในหนัง”
สุดท้ายกลับมาเรื่องคุณภาพ
สุรเชษฐ์ ทิ้งท้ายว่า ตอนนี้โอกาสของภาพยนตร์เปิดกว้างไม่ใช่แค่ฉายในไทย แต่สามารถนำไปขายในต่างประเทศรวมถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งได้ หนังบางเรื่องสามารถขายได้ทุนคืนตั้งแต่ยังไม่ฉาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณภาพต้องดี ซึ่งถ้าหนังไทยในยุคที่ประสบความสำเร็จแบบนี้ก็จะยิ่งดึงดูดคนเก่ง ๆ ให้มาทำหนัง ดังนั้น มั่นใจว่ารายได้จากหนังไทยปีนี้จะมากกว่าหนังฮอลลีวูด อย่างในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 มีภาพยนตร์ 3 เรื่องที่มีคนดูมากกว่า 20 ล้านคน ทำรายได้รวมกันกว่าพันล้านบาท ได้แก่ สัปเหร่อ, ธี่หยด และ 4 King 2
“ตอนนี้หนังไทยเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน อย่างธี่หยดก็ขึ้นอันดับ 1 ในเวียดนาม ต่างประเทศยอมรับหนังไทยเนื่องจากเนื้อหาที่สดใหม่ มีความลึกซึ้ง ดังนั้น โจทย์แรกที่จะทำให้หนังไทยประสบความสำเร็จในตลาดโลกได้คือ ต้องเป็นคอนเทนต์คุณภาพ พอประสบความสำเร็จ ต่างชาติก็จะหันมาเสพผลงานของไทย”