CEA ผุดตลาดกลาง “Content Project Market” เปิดโอกาสจับคู่ระหว่างนายทุนกับนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชัน เพื่อดีลลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์ส่งคอนเทนต์เข้าโรงภาพยนตร์-สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ปีนี้มีคอนเทนต์ผ่านการคัดเลือก 59 เรื่อง ดึงนักลงทุนเข้าร่วมได้ 64 บริษัททั้งจากในไทย เวียดนาม สิงคโปร์ และเกาหลีใต้
2567 เป็นปีที่ 2 ที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เปิดโครงการ “Content Lab” ขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ชาวไทย จัดแคมป์บ่มเพาะบุคลากรในสายวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชัน เช่น ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ นักเขียนบท
แคมป์ Content Lab จะแบ่งตามระดับความเชี่ยวชาญของนักสร้างสรรค์ ตั้งแต่ระดับเริ่มต้น (Newcomers), ระดับกลาง (Mid-Career) และขั้นสูง (Advanced) โดยแคมป์เหล่านี้มีการจัดอบรมกันมาตลอดทั้งปี 2567 จนมาถึงโค้งสุดท้ายคือขั้นตอนการนำเสนอไอเดีย เนื้อหา และคอนเซ็ปต์ของคอนเทนต์เพื่อการซื้อขาย (Pitch Deck)
“ดร.ชาคริต พิชญางกูร” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า CEA มีการจัดงาน “Content Project Market” ขึ้นเพื่อต่อยอดผลักดันให้คอนเทนต์ของไทยมีโอกาสได้รับการลงทุนสร้างเป็นสื่อเชิงพาณิชย์ได้จริง เป็นพื้นที่การพบปะพูดคุยและนำเสนอระหว่างนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ (sellers) และกลุ่มนักลงทุน (buyers)
ในปีนี้กลุ่มนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการให้เข้าสู่ตลาดกลาง Content Project Market มีทั้งหมด 59 โปรเจ็กต์ โดยแบ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่เกิดจากบ่มเพาะใน Content Lab 2024 ทั้งหมด 37 โปรเจ็กต์ และมาจากการเปิดรับสมัครเพิ่ม (Open Call) อีก 22 โปรเจ็กต์
ฟากฝั่งนักลงทุนที่ตอบรับคำเชิญมารับฟังเวที Pitch Deck และการจับคู่ทางธุรกิจแบบตัวต่อตัวมีทั้งหมด 64 บริษัท มีทั้งค่ายผู้ผลิตภาพยนตร์/ซีรีส์และกลุ่มสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มที่ต้องการลงทุนออริจินอลคอนเทนต์ เช่น บริษัท เนรมิตหนัง ฟิล์ม จำกัด, บริษัท ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์ จำกัด, บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด, บริษัท ไอ-ฉีอี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ฯลฯ ในจำนวนนี้มี 3 บริษัทที่เป็นนักลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาร่วมงานด้วย ได้แก่ Skyline Media Group จากเวียดนาม, Mocha Chai Laboratories จากสิงคโปร์ และ Barunson E&A จากเกาหลีใต้
ดร.ชาคริตกล่าวต่อว่า งานครั้งนี้มีการจัดนัดจับคู่ทางธุรกิจล่วงหน้า (Pre-matching) มาแล้วกว่า 300 คู่ ซึ่งทาง CEA คาดหวังว่าจะมีคู่ที่สามารถตกลงทางธุรกิจได้สำเร็จไม่ต่ำกว่า 10-20% ของทั้งหมด นำไปสู่การสร้างคอนเทนต์จริงเพื่อจัดฉายต่อไปไม่ว่าจะในโรงภาพยนตร์หรือสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม
ด้าน “หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล” ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ กล่าวว่า การจัด Content Project Market จับคู่ระหว่างนักลงทุนคอนเทนต์กับนักสร้างสรรค์ในลักษณะนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีในอุตสาหกรรมคอนเทนต์เมืองไทย จากที่ผ่านมานักสร้างสรรค์คอนเทนต์จะต้องหาทางเข้าหานักลงทุนด้วยตนเองหากต้องการ Pitch ไอเดีย
“Content Project Market จะเป็นต้นน้ำในการเชื่อมโปรเจ็กต์เข้ากับเงินทุนที่มีในตลาด และวางเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนมากขึ้น” หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรีกล่าว “ต่อไปเราควรจะผลักดันให้เป็นตลาดประจำปีที่มีนักลงทุนจากทั่วโลกบินเข้ามาช้อปคอนเทนต์ เหมือนอย่างงาน FILMART ของฮ่องกง หรืองาน ATF สิงคโปร์”
หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี กล่าวด้วยว่า โครงการ Content Project Market มองอนาคตจะต่อยอดเป็นตัวกลางในการสร้างดาต้าเบสเก็บข้อมูลคอนเทนต์ทุกเรื่องที่เข้ามาในตลาดไว้ เพราะถึงแม้โปรเจ็กต์นั้นๆ อาจจะยังไม่ได้นักลงทุนในปีแรกที่เข้าสู่ตลาด แต่ในปีต่อๆ ไปอาจจะมีนักลงทุนมาเลือกช้อปและนำไปผลิตได้
อุตฯ คอนเทนต์ไทยยังติดเรื่องการ “Pitch” ให้ถึงเครื่อง
ในแง่ความต้องการคอนเทนต์ไทยในตลาดนั้น หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรีมองว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมาคอนเทนต์ไทยถือว่ากำลังเข้าสู่ยุคทอง เพราะพิสูจน์แล้วว่าได้รับเสียงตอบรับในตลาดสากลสูงขึ้นเรื่อยๆ ภาพยนตร์มีโอกาสได้ฉายโรงต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น “หลานม่า” ที่ได้ฉายในหลายประเทศจนกวาดรายได้รวมไปมากกว่า 1,500 ล้านบาท หรือ “สัปเหร่อ” ที่ได้จัดจำหน่ายฉายในประเทศญี่ปุ่นสำเร็จ บนสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มเองคอนเทนต์ไทยก็ได้รับการยอมรับ เช่น “สืบสันดาน” ขึ้นสู่ Top 10 ซีรีส์ภาษาต่างประเทศที่มียอดเข้าชมบน Netflix สูงที่สุดทั่วโลก
บรรยากาศอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในประเทศไทยเองก็มีการปรับตัวจากเดิมที่เดินในแนวทางของตนเอง มาเป็นการร่วมมือกันทำงานและพัฒนาด้วยกันมากขึ้น ส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรร่วมกันในวงการ
- Apple TV+ เตรียมตัดงบสร้างหนัง-ซีรีส์ หลังทุ่มจนกระเป๋าฉีกแต่คนดูทั้งเดือนน้อยกว่า Netflix วันเดียว
- มองตลาด ‘หนังไทย’ ในช่วงขาขึ้น ที่ทำให้ ‘ช่อง 3’ กลับมาลงทุนอีกครั้งในรอบเกือบ 20 ปี
หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรีกล่าวว่า ในแง่บุคลากรในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยยังมีหลายตำแหน่งที่ขาดแคลนมาก เช่น โปรดิวเซอร์ ผู้ช่วยผู้กำกับ ทีมอาร์ต และหนึ่งในบุคลากรที่ขาดรุนแรงในอุตสาหกรรมนี้คือ “Pitch Team” ในประเทศไทยมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านนี้ไม่เกิน 40 คน ซึ่งทำให้เกิดคอขวดในการนำเสนอไอเดียเรียกความสนใจจากนายทุน ยิ่งเป็นนายทุนจากต่างประเทศยิ่งยากลำบากมากขึ้นเพราะเพิ่มอุปสรรคด้านภาษาทับซ้อนเข้าไปอีก
งาน Content Project Market จึงน่าจะช่วยยกระดับทักษะการ Pitching ของคนทำคอนเทนต์ไทยไปอีกระดับ สร้างบุคลากรกลุ่มที่จะเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ดึงเม็ดเงินทุนสร้างเข้ามาได้มากขึ้น