เก็บภาษีกำไรเงินดิจิทัล 15% นิติบุคคล 15% พ่วง VAT

หลังจากการซื้อขายเงิน “ดิจิทัล” เข้ามามีบทบาทอย่างมาก ทำให้รัฐบาลต้องออกพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 พ.ศ. 2561 เพื่อกำกับดูแล มิให้มีการนำสินทรัพย์ “ดิจิทัล” ไปหลอกลวงประชาชน หรือเป็นแหล่งฟอกเงิน 

โดยผู้ที่จะประกอบธุรกิจ เป็นศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (ICO Portal) จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น สำหรับผู้ประกอบกิจการดังกล่าวอยู่แล้ว ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปอีก 90 วัน หรือถึงวันที่ 14 ส.ค. นี้ แต่ระหว่างนี้ต้องทำเรื่องขออนุญาตประกอบธุรกิจอีกครั้ง

ส่วนกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในคริปโตเคอเรนซี และโทเคนดิจิทัล โดยจะต้องเป็นนักลงทุนเฉพาะ เช่น นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนที่มีสินทรัพย์มาก และเศรษฐี ก.ล.ต.กำลังจัดทำ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป

ในเรื่องของ “ภาษี” จะต้องจัดเก็บเพิ่มเติม กรมสรรพากรได้แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 19 พ.ศ. 2561 ให้มีผลบังคับใช้แล้วเพื่อเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย

รายได้ที่ได้จากกำไรหรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนเงินคริปโตเคอเรนซี หรือโทเคนดิจิทัล ต้องเสียภาษีกำไรหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของเงินได้ และนักลงทุนต้องนำรายได้มาคำนวณการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ สิ้นปีด้วย

นักลงทุนรายย่อย ที่เป็นบุคคลธรรมดา ที่ซื้อขายคริปโตเคอเรนซี และโทเคนดิจิทัล ผ่านศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาต กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. พิจารณาให้มีการยกเว้นการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ในการซื้อขายดังกล่าว

ส่วนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น อยู่ระหว่างเสนอแก้กฎกระทรวงต่อ ครม. เบื้องต้นจะเสนอให้ ครม. พิจารณาเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขาย 15% เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา โดยนิติบุคคลต้องนำรายได้มาคำนวณการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ สิ้นปี รวมทั้งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7%.