ชำแหละ งบฟุตบอลโลก 2018 มูลค่า 1,400 ล้าน

กว่าการเจรจาลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2018 ของประเทศไทยจะจบลงได้ รัฐบาลต้องยื่นมือออกมาขอความร่วมมือ ระดมเงินสนับสนุนจาก 9 องค์กร รวมมูลค่า 1,400 ล้านบาท

“ทรูวิชั่นส์” ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนฝ่ายไทย รับช่วงต่อจากคิงเพาเวอร์ เจรจาขอลิขสิทธิ์จากฟีฟ่า ซึ่งได้มีการกดปุ่มเปิดตัวแคมเปญ “สวัสดีบอลโลก” อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมนี้

พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้ดูแลแคมเปญนี้ ให้รายละเอียดของดีลบอลโลกมูลค่า 1,400 ล้านนี้ แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ค่าลิขสิทธิ์ เทคนิค และการตลาด

ค่าลิขสิทธิ์ จากทางฟีฟ่า กำหนดมาในราคา 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 960 ล้านบาท สำหรับลิขสิทธิ์เพียงปี 2018 เพียงปีเดียว เนื่องจากมีเวลาเหลือน้อย ต้องรีบเจรจาและเซ็นสัญญา

ส่วนที่ 2 คือค่า Technical Cost ที่รวมตั้งแต่ระบบเทคนิค ค่าดาวเทียม, การส่งสัญญาณ, โปรดักชั่น การเตรียมทีมงานทีมพากย์ของทุกแมตช์ ไม่ได้ระบุจำนวนเงิน

ส่วนที่ 3 คือ Marketing Cost หรือค่าใช้จ่ายการตลาด การโปรโมตแคมเปญ “สวัสดีบอลโลก” ทั้งหมด ที่รวมถึงการซื้อสื่อประชาสัมพันธ์ทางช่องทางหลัก และ Social Media มูลค่ารวม 65 ล้านบาท

ค่าลิขสิทธิ์นั้น จ่ายให้กับ “ฟีฟ่า” ไปแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายเรื่อง Marketing และเทคนิคนั้น ทางทรูวิชั่นส์เป็นผู้รับดำเนินการ

พีรธน กล่าวว่า ทรูได้ว่าจ้างกรุ๊ป เอ็ม เอเจนซี่โฆษณาเข้ามารับผิดชอบเรื่องของการตลาด รวมถึงซื้อสื่อทั้งแคมเปญ เพื่อความเป็นกลาง ตรวจสอบได้ เนื่องจากเงินที่ได้มาจากผู้สนับสนุนทุกราย จึงต้องมีการแจกแจงรายละเอียด

รอเจรจาจัดสรรแมตช์ลง 3 ช่อง

สำหรับสถานีโทรทัศน์ที่ทำการออกอากาศ มีทั้งหมด 3 ช่องทีวีดิจิทัล คือ ทรูโฟร์ยู, อมรินทร์ทีวี และช่อง 5 ใช้เวลาของสถานี เพื่อมาให้ออกอากาศโดยไม่ได้รับค่าเช่าหรือส่วนแบ่งใด

เนื่องจากในกลุ่มผู้สนับสนุนทั้ง 9 ราย มีเพียง 2 บริษัทคือ ทรู และกลุ่มช้าง ที่มีสถานีทีวีดิจิทัล ทรูโฟร์ยู, อมรินทร์ทีวี และจีเอ็มเอ็ม25 แต่กลุ่มช้างเลือกออกอากาศช่องอมรินทร์ทีวีเท่านั้น

การออกอากาศทางฟรีทีวี 2 ช่องนี้ ถือว่าทำตามกฎ Must Have ของ กสทช. ที่ระบุว่า ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เป็นประเภทกีฬาที่ต้องออกอากาศผ่านฟรีทีวีเท่านั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของคนดู และเพิ่มช่อง ททบ.5 เข้ามาอีกช่อง

โดยในเบื้องต้นนี้ ในแมตช์เปิดสนามวันที่ 14 มิถุนายน และแมตช์ชิงชนะเลิศ จะถ่ายทอดสดพร้อมกันทั้ง 3 ช่อง ด้วยทีมพากย์ทีมเดียวกันทั้งหมด

ส่วนรายละเอียดแต่ละแมตช์นั้น จะต้องรอเจรจารายละเอียดกันอีกครั้ง และต้องรอ กสทช.อนุมัติผังใหม่ ยังมีกรณีที่ทรูโฟร์ยู อยู่ระหว่างทำเรื่องขอออกอากาศเป็นระบบ HD เฉพาะแมตช์ที่ถ่ายทอดสด เพื่อให้เป็นระบบ HD เหมือนกับช่องอมรินทร์ทีวี และช่อง 5 เป็นช่อง HD อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ทรูวิชั่นส์ ซึ่งเป็นเพย์ทีวี จะออกอากาศในระบบ 4k ซึ่งอยู่ระหว่างขออนุมัติจาก กสทช. เป็นช่องพิเศษในช่วงเทศกาลบอลโลกด้วยเช่นกัน

เวลาโฆษณา 1,344 นาที 

สำหรับการออกอากาศทั้งหมด 64 แมตช์ มีเวลาโฆษณาทั้งหมด 1,344 นาที ใครได้เวลามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าสัดส่วนเงินสนับสนุนของ 9 ราย ที่ประกอบไปด้วย -คิงเพาเวอร์, ซีพี, ไทยเบฟ, บีทีเอส, กสิกรไทย, กัลฟ์, พีทีที โกลบอล เคมิคอล, บางจาก และคาราบาวแดง

นอกจากแต่ละบริษัทจะต้องจัดงบประมาณเพื่อทำสปอตโฆษณามาออกอากาศในแต่ละช่วง รวมถึงต้องจัดสรรงบมาทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงบอลโลกต่างหากด้วย เช่น ค่ายซีพี และทรู เตรียมใช้งบ 200 ล้านบาท ในการทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลบอลโลก.