“Facebook” แพลตฟอร์ม Social Media ได้เปิดเผยถึงการเติบโตของแพลตฟอร์ม รายได้ กำไร จำนวนผู้ใช้ (User) เพราะแค่ไตรมาสแรกที่ผ่านมา พบว่าทั่วโลกมีผู้ใช้เฟซบุ๊กแล้วกว่า 2,200 ล้านบัญชี (Account) โตขึ้น 13%
ในประเทศไทย “เฟซบุ๊ก” ก็โตไม่แพ้กัน เพราะล่าสุดได้ลงทุนขยายออฟฟิศแห่งใหม่ในประเทศไทย ด้วยการยึดอาคารสำนักงานเกรดเอ บนทำเลทองอย่าง “เกษร ทาวเวอร์” เป็นที่ทำงาน
รวมถึงการเปิดเผยทิศทางธุรกิจโดยละเอียดในไทย เพราะปัจจุบันเฟซบุ๊ก ไม่ใช่แค่ช่องทางเชื่อมต่อ สื่อสารกับเพื่อนสนิท มิตรสหาย ผ่านโลกออนไลน์ แต่ยังเป็น “แพลตฟอร์ม” ให้ธุรกิจ “แบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่” ใช้เป็นเครื่องมือเครื่องมือในการทำตลาด สร้างแบรนด์ ปั๊มยอด Engament และเปิดให้ช้อปปิ้งออนไลน์ได้ด้วย
จากข้อมูลของเฟซบุ๊ก ระบุว่า ปีที่ผ่านมาคนไทยใช้ “เวลา” กับอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือสูงสุดถึง 94% เป็นอันดับ 1 ของโลก จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในแต่ละวัน แถมการใช้งานยังเข้าถึงประชากรในเมืองและต่างจังหวัด 44.1%
ส่วนการใช้เฟซบุ๊กแต่ละเดือนพบว่า มีคนไทยใช้งานมากถึง 51 ล้านคนต่อเดือน เติบโต 11% (ข้อมูลไตรมาส 4 ปี 2560) และใช้งานต่อวันมากกว่า 34 ล้านคน
ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยเข้าสู่ “ดิจิทัล” เต็มตัวแล้ว (Digital Transformation) และนั่นทำให้เฟซบุ๊กไม่พลาด! ที่จะคว้าโอกาสในการมีส่วนร่วมในการ “หนุน” 3 ภาคส่วนให้บรรลุเป้าหมายในสังคมดิจิทัล ได้แก่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดใหญ่ และภาคประชาสังคม
เริ่มที่การโฟกัสธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ “เอสเอ็มอี” เพราะผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีมากถึง 3 ล้านราย แต่ค้าขายบนเฟซบุ๊กมาถึง 2.5 ล้านราย
“จอห์น แวกเนอร์” กรรมการผู้จัดการ Facebook ประเทศไทย ที่ระบุว่า เอสเอ็มอี คือเครื่องยนต์กลไกสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษกิจประเทศ (GDP) สร้างมูลค่าให้กับจีดีพีราว 40% จากสัดส่วนของผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจมากถึง 98% และยังจ้างงานกว่า 70% ดังนั้นบริษัทจึงให้น้ำหนักในการหนุนให้พ่อค้าแม่ขายมาใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กเพื่อขายสินค้ามากขึ้น
โดยเทรนด์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยกร้านไปไว้บนแพลตฟอร์มช้อปออนไลน์ก็ไม่ใช่ “เว็บไซต์” หรือ “แอปพลิเคชั่นเดิมๆ” อีกต่อไป แต่กลายเป็นร้านบนเฟซบุ๊กหรือ Social Commerce ที่มาแรง
โดยปี 2560 ไทยเป็นประเทศที่ใช้เฟซบุ๊กขายของ และแชตพูดคุยค้าขายผ่าน Messenger ติดท็อป 5 ของโลก และเป็นเบอร์ 1 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ผู้ขายเปิดร้านเยอะแล้ว คนซื้อสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซเฟซบุ๊กก็ล้นหลามไม่แพ้กัน เพราะมีสัดส่วนถึง 51% นำโด่งทุกชาติในโลก ตามด้วยอินเดีย 32% มาเลเซีย 31 จีน 27% และตะวันออกกลาง 26%
การเกาะติดพฤติกรรมและเทรนด์โซเชียลคอมเมิร์ซฮอต! ทำให้เฟซบุ๊กสร้าง Market Place เพื่อให้พ่อค้าแม่ขายไทยได้ “ทดลองใช้” เป็นแห่งแรกในเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ยังมีการจัดเวิร์กช็อป เทรนนิ่ง เฟซบุ๊กบลูปรินต์ ตลอดจนโปรแกรมแชต Messenger เพื่อหนุนการค้าขายให้เอสเอ็มอีมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“จอห์น” ยกตัวอย่างร้านค้าออนไลน์ที่ใช้เฟซบุ๊กหาเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ได้แก่ mom2babyshop.com เปิดร้านด้วยทุน 30,000 บาท แต่มียอดการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคุณแม่มากถึง 7 ล้านราย การพูดคุยผ่าน Messenger กว่า 1,000 การสนทนาต่อวัน ขณะที่ร้าน IMAX ซึ่งเดิมมีหน้าร้านออฟไลน์ แต่ระยะหลังยอดขายตก จึงมาเปิดร้านบนเฟซบุ๊ก ทำให้ยอดการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย 6 ล้านคน ช่วยเพิ่มยอดขายออฟไลน์ 70% และออนไลน์โตเป็น 100%
เทรนด์ดังกล่าวหากขยายตัวมีร้านค้าบนเฟซบุ๊กมากขึ้น นั่นหมายถึงเฟซบุ๊กจะมีช่องทางทำเงินบนแพลตฟอร์มของตัวเองได้มากตามไปด้วย
มาถึง “ธุรกิจขนาดใหญ่” บ้าง ตัวเลขบิ๊กคอร์ปอเรทอาจไม่มาก แต่กลุ่มนี้ใช้เฟซบุ๊กในการทำตลาดอยู่แล้ว แต่ก็ใช่ว่าทั้งหมดที่เข้ามาสู่แพลตฟอร์มนี้ ทำให้เฟซบุ๊กรีบชี้ช่องในการ “คว้าโอกาส” ทางธุรกิจก้อนโต
“จอห์น” บอกว่า ปัจจุบันธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยตื่นตัวในการรับมือยุคดิจิทัลมากถึง 89% แต่กลับมีเพียง 29% เท่านั้นที่มี “กลยุทธ์” เข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทั้งที่ค้นพบว่าหากผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัลเต็มสูบ จะทำให้เพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้มหาศาลราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 3.2 แสนล้านบาท
ที่มั่นใจขนาดนี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า “เฟซบุ๊ก” มีเครื่องมือที่สามารถจับ Insight ผู้บริโภค มีการเก็บข้อมูลผู้บริโภคขนาดมหึมา (Big Data) เหล่านี้ ล้วนนำไปวิเคราะห์และต่อยอดให้กับธุรกิจได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นหากร้านค้าวางกลยุทธ์เชื่อมต่อร้านออฟไลน์กับออนไลน์ได้ ย่อมส่งผลให้ธุรกิจโต
เป็นทิศทางที่ดูเอื้อต่อธุรกิจเล็กใหญ่รอบด้าน แต่ในอีกด้านหนึ่งเฟซบุ๊กมีการปรับอัลกอริธึ่ม ปรับ News Feed จนยอด Reach ของเพจแบรนด์สินค้าและบริการเล็กใหญ่ ตลอดจนพ่อค้าแม่ขายจนโอดครวญไปพักหนึ่ง แน่นอนว่าหากอยากได้ยอด Reach เท่าเดิม ต้อง “เทเงิน” ปั๊มยอดการเข้าถึง เพิ่ม Engagement ให้แบรนด์ตัวเอง ประเด็นนี้ ทางผู้บริหารเฟซบุ๊กบอกว่า หากทำคอนเทนต์ที่ดี และมีความแข็งแรง ก็จะเพิ่มโอกาสในการเห็นได้
นอกจากนี้ การขายเฟซบุ๊กยังมีจุดให้ต้องแก้ไข โดยเฉพาะการสแกนร้านค้าที่ดีมีคุณภาพ เพราะต้องยอมรับว่ามีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊กได้รับสินค้าไม่มีคุณภาพตามที่อวดสรรพคุณไว้ จ่ายเงินแล้วไม่ได้สินค้า ประเด็นนี้เฟซบุ๊กพยายามหาทางแก้ไข และหากผู้บริโภคพบปัญหาให้พากันกด Report เพื่อทำการบล็อกร้านค้าต่อไป เป็นต้น
ขณะที่ภาคประชาสังคม เฟซบุ๊ก พยายามหนุนการเปิดเพจ กลุ่มต่างๆเพื่อมีส่วนช่วยสังคมมากขึ้น เช่น ฟีเจอร์สำหรับคนตาบอด.