ฉุดไม่อยู่! ครึ่งปี “ไทยเบฟ” โกยเงินจากเหล้าเบียร์อีก “แสนล้าน” “เคเอฟซี” น้องใหม่กลุ่มอาหารดันกำไรโตกว่า 700% 

ยักษ์ใหญ่ “เครื่องดื่ม” อย่าง “บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด” ได้รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 และภาพรวมครึ่งปีแรก (ต.ค.60 – มี.ค.61) ตัวเลขที่โชว์ออกมามีความน่าสนใจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น “ชาเขียว” ที่เป็น “ขาลง” อย่างต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจ “อาหาร” ที่ไทยเบฟเดินเกมซื้อกิจการปลายปีที่ผ่านมาหลายรายการ แต่การซื้อร้าน “เคเอฟซี” 252 สาขา ถือเป็น “ตัวแปร” ในการพลิกทำ “กำไร” จากเดิมที่ต่ำ และเคย “ขาดทุน” ให้กลับมาโตกระฉูด!

สำหรับไฮไลต์ผลการดำเนิงานไตรมาส 2 (ม.ค. – มี.ค.61) ไทยเบฟ รายงานว่า ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่าง “สุราขาว” ในเชิงปริมาณยังเติบโต 0.7% นี่ยังไม่รวมธุรกิจสุราของ “แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป” ในประเทศเมียนมา ที่บริษัทเพิ่งซื้อกิจการปลายปี 2560 ซึ่งตรงไตรมาสแรกของปีงบประมาณบริษัท แต่ถ้ารวม ได้ส่งผลให้กำไรเพิ่ม 2.8% บริษัทได้รวมรายรับของ “บริษัท ไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์ปอเรชั่น” หรือซาเบโก (Sabeco) หลังทุ่มเงินราว 1.56 แสนล้านบาทปลายปีที่แล้วด้วย แต่การทำดีลก็มีค่าใช้จ่ายให้ที่ปรึกษามากถึง 2,490 ล้านบาทเช่นกัน   

ส่วนครึ่งปีแรก ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงได้รับผลกระทบจากการสต๊อกสินค้าของบรรดาตัวแทนจำหน่ายหรือเอเย่นต์ เพราะต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลเพิ่งดำเนินการจัดเก็บภาษีเหล้าเบียร์อีก 2% เพื่อนำเงินเข้ากองทุนผู้สูงอายุ 4,000 ล้านบาท ต่อเนื่องจากกันยายนปีก่อนเผชิญการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตแล้วระลอกหนึ่ง ถือเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอเมื่อรัฐรีดภาษีเหล้าเบียร์ เอเย่นต์จะต้องตุนสินค้าเพราะกลัว “ราคา” สินค้าที่ปรับสูงขึ้นนั่นเอง

++ Q2 ยอดขาย-กำไรเหล้าเบียร์โต

เมื่อแยกรายละเอียดของรายได้ไทยเบฟไตรมาส 2 บริษัทโกยยอดขาย 67,603 ล้านบาท เติบโต 34.3% จากช่วงดียวกันปีก่อน มีกำไรสุทธิ 7,433 ล้านบาท เติบโต 13%

ทั้งนี้ ยอดขายสินค้าหลักๆกลุ่มสุรายังทำเงินสูงสุด 51.1% ตามด้วยเบียร์ 36.7% เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ 7.2% อาหาร 5.1% และตัดบางส่วนทิ้ง 0.1% แต่ถ้าดูความสามารถในการทำกำไร “สุรา” ยังเป็นหัวหอกโกยเงิน 85.8% เบียร์ 16.2% อาหาร 2.8% ขณะที่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์กลับเป็นตัวฉุดกำไร 4.8%   

หากดูยอดขายไตรมาส 2 ใน “เชิงปริมาณ” ของสินค้าแต่ละกลุ่มพบว่า สุรา ขายได้ 187 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 17.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนเบียร์ 580 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 153.3% โซดาขายกว่า 13 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 0.8% ส่วนเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ขายได้ 419 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 1.7% หากแยกย่อยตามสินค้าแต่ละหมวดที่โตดีนำโด่งคือ “น้ำดื่ม” ขายได้ 282 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 9.1% เครื่องดื่มอัดลมเอส และฮันเดรดพลัส 68 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 0.2%

ส่วน “ชาเขียวพร้อมดื่ม” และเครื่องดื่มสมุนไพร “จับใจ” ยอดขายตกเหลือ 66 ล้านลิตร หดตัวมากถึง 19.4% และอื่นๆ ได้แก่ เครื่องดื่มชูกำลังแรงเยอร์ เครื่องดื่มเกลือแร่พาวเวอร์พลัส ยอดขาย 3 ล้านลิตร หดตัว 25.5%

ด้านยอดเชิงมูลค่า กลุ่มสุราโกยเงินมากถึง 33,043 ล้านบาท เติบโต 14.3% มีกำไรสุทธิ 6,050 ล้านบาท เติบโต 9.2% เบียร์ยอดขาย 27,077 ล้านบาท เติบโต 74.4% มีกำไรสุทธิ 1,022 ล้านบาท เติบโต 10.7% โดยยอดขายเบียร์ที่เพิ่มขึ้นมาจากการขายเบียร์ของซาเบโกโตเพิ่มขึ้น ส่วนเครื่องดื่มนอนแอลกฮอล์มียอดขาย 4,089 ล้านบาท หดตัว 4.8% และ “ขาดทุน” 340 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 25% เพราะมีการใช้จ่ายเงินเพื่อโฆษณาและทำโปรโมชั่นมากขึ้น

++ รวมครึ่งปีกำไรลดแรง 27%

ภาพรวมครึ่งปีแรกบริษัทมียอดขาย 113,207 ล้านบาท เติบโต 16.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรสุทธิ 10,451 ล้านบาท “ลดลง” 27% แบ่งตามสินค้า เหล้ายังขายมากสุด 57,812 ล้านบาท เติบโต 4.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรสุทธิ 10,076 ล้านบาท ลดลง 5.4% โดยยอดขายที่เพิ่มมาจากยอดขายเหล้าในเมียนมา ส่วนกำไรที่ลดลง มาจากการใช้เงินโฆษณา โปรโมชั่น ต้นทุนพนักงานเพิ่ม ส่วนเบียร์ยอดขายรวม 45,511 ล้านบาท เติบโต 35.8% กำไรสุทธิ 1,908 ล้านบาท ลดลง 12.6% สำหรับยอดขายที่เพิ่มมาจากซาเบโกมาเติมพอร์ตเบียร์ไซง่อน 333 จากเดิมมีเพียงเบียร์ช้างเป็นหัวหอกทำตลาด กำไรที่ลดเพราะใช้เงินโฆษณาและโปรโมชั่น ค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่ม

เครื่องดื่มนอนแอลกฮอล์ มียอดขาย 8,202 ล้านบาท โตต่ำ 0.3% แถม “ขาดทุน” อีก 567 ล้านบาท ขาดทุนมากกว่าปีก่อน 11% ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนภาษีเครื่องดื่ม โดยเฉพาะภาษีความหวาน

ส่วนยอดขายเชิงปริมาณกลุ่มเหล้าอยู่ที่ 332 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 9.6% เบียร์ 786 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 75.1% โซดา 25 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 8.4% เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ขายได้ 826 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 3.7% แบ่งตามหมวด น้ำดื่มขายมากถึง 549 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 8.9% เครื่องดื่มอัดลมเอส และฮันเดรดพลัส 132 ลิตร เพิ่มขึ้น 4.5% ส่วน “ชาเขียวโออิชิ” และ “จับใจ” ขายลดลง 12.1% อยู่ที่ 140 ล้านลิตร และอื่นๆ ขายไป 5 ล้านลิตร ลดลง 24.8%

++ ธุรกิจอาหารฮอต! เพราะไก่ทอด “เคเอฟซี”

ภาพจาก : facebook.com/kfcth

ขณะที่ “ธุรกิจอาหาร” ไตรมาส 2 มียอดขาย 3,421 ล้านบาท โตพุ่งปรี๊ด! 107.7% เช่นเดียวกับ “กำไร” ที่ทำได้ 217 ล้านบาท โตแรง! 520% เหตุผลหลักๆมาจากการ “ซื้อและควบรวมกิจการ” (Mergers and Aqusition:M&A) บริษัท สไปซ์ ออฟ เอเชีย เจ้าของแบรนด์ชิลลี่ คาเฟ่, อีทพ็อท, พ็อท มินิทรี เป็นต้น ที่สำคัญคือการซื้อร้าน “เคเอฟซี” 252 สาขา แบรนด์ไก่ทอดเบอร์ 1 ของโลกมาครอง ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารกำไรดี

ยิ่งรวมครึ่งปีแรกธุรกิจอาหารมียอดขาย 5,749 ล้านบาท เติบโต 75.1% กำไรสุทธิ 326 ล้านบาท โตสุดๆ 715% ยอดขายโตจาก “จำนวนสาขา” ของร้านอาหารมากขึ้นทั้งของ เคเอฟซี” และสไปซ์ออฟเอเชีย จากเดิมมีเพียงร้านโออิชิเป็นหัวหอก

++ ซื้อเหล้าเมียนมา-เบียร์เวียดนามหนุนยอดขายน้ำเมาอาเซียนโต

ส่วนธุรกิจต่างประเทศ ครึ่งปีแรกทำเงิน 20,900 ล้านบาท เติบโต 554% จากปีก่อน เหตุผลเพราะบริษัทรวมผลการดำเนินงานของแกรนด์ รอยัล กรุ๊ป หรือธุรกิจเหล้าในเมียนมา ที่รับรู้รายได้ 6 เดือน และธุรกิจเบียร์ของซาเบโก ในเวียดนาม ก็นำมารับรู้รายได้ 3 เดือน ซึ่งเมื่อแยกตามหมวดสินค้า “สุรา” โตถึง 357% จากแกรนด์ รอยัล กรุ๊ป ด้านการขายวิสกี้ เป็น Bulk ในสหราชอาณาจักรอยู่ในเกณฑ์ดี เหล้าพรีเมียมแบรนด์ของบริษัทยังโต 2 หลัก ส่วนเหล้าในจีนยังคงอ่อนแอ ขณะที่ “เบียร์” ในต่างประเทศรายได้โตมากถึง 925% หลักๆ มาจากซาเบโก ในฐานะเบียร์เบอร์ 1 เวียดนาม แต่ถ้าตัดธุรกิจเบียร์ซาเบโกออก กลับพบว่ายอดขายเบียร์ในอาเซียนค่อนข้างชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา ไทยเบฟประกาศปิดดีลซื้อกิจการ 2 แสนล้านบาท ทั้งอาหาร เหล้า เบียร์ และ “ทางลัด” ที่ทุ่มเทเงินไป ได้ส่งผลให้ “ยอดขาย” และ “กำไร” ของบริษัทดีอย่างที่รายงานงบออกมานั่นเอง นับเป็นการลงทุนที่ “คุ้มค่า” สไตล์ราชันย์น้ำเมา “เจ้าสัวเจริญ” จริงๆ.