เมื่อถึงเส้นตายวันที่ 23 พ.ค. ที่บรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะต้องจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัลในงวดที่ 5 ปี 2561 นี้ โดยที่ยังไม่มีประกาศ ม.44 ประกาศในราชกิจกานุเบกษา เพื่อพักการจ่ายเงินค่าประมูล เป็นเวลา 3 ปี ตามมติที่ประชุม คสช. เคยอนุมัติ เมื่อวันที่ 24 เมษายน ทำให้บรรดาช่องทีวีดิจิทัลต่างก็วิ่งวุ่นหาเงินมาจ่ายค่างวดประมูล บางรายติดต่อ กสทช.ว่า กำลังเจรจากับแบงก์ อาจจะต้องจ่ายล่าช้า เนื่องจากที่ผ่านมามีความหวังมาโดยตลอดว่าภาครัฐจะเข้ามาช่วย
แม้ว่าทั้งนายกรัฐมนตรี และรองนายกประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่างออกมาประสานเสียงพร้อมกันว่า จะมีมาตรการช่วยเหลือออกมาได้ทันการแน่นอนก็ตาม
มีหลายสาเหตุที่ทำให้การออก ม.44 ครั้งนี้ออกมาล่าช้า เรื่องแรกคือการที่กสทช. นำเรื่องการขอผ่อนผันการจ่ายเงินค่าคลื่นในการประมูลคลื่น 900 MHz ของเอไอเอส และทรู เข้าไปรวมอยู่ในแพ็กเกจเดียวกัน แต่เมื่อโดนโจมตีมากขึ้น ถึงความไม่ชอบมาพากล คสช.จึงต้องแยกเรื่องโทรคมนาคมออกไปพิจารณาต่างหาก
อีกประการคือ มีการเพิ่มเติมเงื่อนไขให้สามารถเปลี่ยนมือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเข้าไป โดยมียังไม่ได้ศึกษาว่าจะมีผลกระทบอย่างชัดเจนอย่างไร
ช่อง 7 โชว์ป๋า จ่ายล่วงหน้าแล้ว 372 ล้าน
สถานการณ์ของช่องพี่ใหญ่สุด ไม่ได้สะทกสะท้านว่า รัฐบาลจะมี ม.44 ออกมาช่วยเหลือหรือไม่ ช่อง 7 เป็นรายแรกที่มาจ่ายค่างวดที่ 5 วงเงิน 372 ล้านบาทก่อนใคร ในวันที่ 21 พ.ค. ก่อนถึงกำหนดการจ่ายด้วยซ้ำ สถานการณ์ของช่อง 7 จึงเหลือภาระการจ่ายเงินค่างวดประมูลอีกเพียง 1 ครั้งในปีหน้า 2562 อีกจำนวน 372 ล้านบาทเท่านั้น
ด้วยผลประกอบการปี 2560 ช่อง 7 เป็นช่องเดียวในบรรดาทีวีดิจิทัลทั้งหมดที่มีกำไรสูงสุด ในขณะที่บางช่องยังขาดทุน จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ หรือช่อง 7 มีกำไรอยู่ที่ 1,516 ล้านบาท จากรายได้รวม 5,723 ล้านบาท แม้ว่ารายได้และกำไรจะลดลงจากปี 2559 ที่ได้กำไร 1,567 ล้านบาท และรายได้ 5.825 ล้านบาท จากการแข่งขันวงการทีวีดิจิทัลสูงขึ้นก็ตาม
ช่อง 7 เป็นหนึ่งใน 5 ช่องทีวีดิจิทัลที่ไม่ได้ขอเข้าโครงการผ่อนผันการจ่ายค่างวดเงินประมูลทีวีดิจิทัล ที่ คสช.เคยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2559 โดยรัฐบาลออกคำสั่ง ม.44 โดยให้ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินค่าประมูลออกไปใน 2 ส่วนคือ ส่วนราคาขั้นต่ำที่ต้องจ่ายในปีที่ 4 ให้ยืดออกไปจ่าย 2 ปี ส่วนวงเงินประมูลส่วนเกินที่ต้องจ่ายปีที่ 4 -6 ให้ยืดออกไปเป็น 6 ปี โดยทั้งหมดที่ยืดออกไปต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี
หลังรัฐออกมาตรการ ม.44 ฉบับแรกนั้น มีเพียง 5 รายที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการคือ ช่อง7, เวิร์คพอยท์,สปริงนิวส์ และ 2 ช่องในกลุ่มทรูได้แก่ ทรูโฟร์ยู และทีเอ็นเอ็น ที่ยังคงจ่ายตามกฎการประมูลตลอดมา
ทรูโฟร์ยู ทีเอ็นเอ็น ยื่นขอเข้าโครงการผ่อนจ่าย
อย่างไรก็ตาม ช่องทรูโฟร์ยู และทีเอ็นเอ็น สองช่องทีวีดิจิทัลจากกลุ่มทรู เพิ่งทำเรื่องขอเข้าโครงการผ่อนผันการจ่ายเงินงวดที่ 5 ตาม ม.44 ฉบับแรกของคสช. มาที่ กสทช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ภาระเดิมที่จะต้องจ่ายในปีนี้ 387 ล้านบาท และ 219 ล้านบาท ของทรูโฟร์ยูและทีเอ็นเอ็น ทำให้เหลือยอดที่จะจ่ายปีนี้อยู่ที่ 193.5 และ 109.6 ล้านบาท
ทำให้จนถึงตอนนี้ มีเพียง 3 รายที่ไม่ประสงค์เข้าโครงการตาม ม.44 ฉบับก่อนหน้านี้ เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพทางการเงินของบริษัท ได้แก่ ช่อง 7 ที่ชิงจ่ายล่วงหน้าก่อนครบกำหนดไปแล้ว และช่องเวิร์คพอยท์ ที่จะต้องจ่าย 395 ล้านบาท และสปริงนิวส์อีก 219 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ตามกฏกติกาของ กสทช.แล้ว การจ่ายเงินค่างวดประมูลจะต้องจ่ายให้ตรงเวลาของแต่ละปี ซึ่งปีนี้เป็นวันที่ 23 พ.ค. หากเกินกำหนด กสทช.จะต้องทำหนังสือเตือนเพื่อให้ผู้ประกอบการมาจ่าย ซึ่งมีกรอบเวลารวมกันจากการทำหนังสือเตือน 3 ครั้งต่อเดือน รวม 90 วัน ที่บรรดาผู้ประกอบการจะสามารถมาจ่ายได้ โดยไม่โดนยึดใบอนุญาต แต่ต้องรับภาระดอกเบี้ยจ่ายช้า 1.5% และค่าปรับ 7.5% ในแต่ละวันด้วย
ในงวดที่ 4 ปีที่แล้ว ก็เคยมีบางรายหาเงินจ่ายไม่ทันตามกำหนดเวลาเส้นตาย แต่ยอมจ่ายดอกเบี้ยค่าปรับรายวันให้ กสทช.มาแล้ว
ตราบใดที่ ม.44 ฉบับใหม่ยังไม่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ ผู้ประกอบการทุกรายต่างก็ยังจำเป็นต้องทำทุกทางที่จะหาเงินมาจ่ายตามกำหนดเวลาไปก่อน จนกว่าจะมีคำสั่งใดๆ ออกมา ที่อาจจะมีผลย้อนหลังครอบคลุมการช่วยเหลือก็เป็นไปได้.