TMA และสภาพัฒน์ เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันจาก IMD ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 30

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2561 ซึ่งทำการสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับสูงสุด 5 อันดับแรกยังเป็นกลุ่มเดิมแต่มีการสลับตำแหน่ง โดยสหรัฐอเมริกาเลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับที่ 1 ตามมาด้วยฮ่องกง สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และสวิสเซอร์แลนด์

สำหรับเขตเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับ 5 เขตเศรษฐกิจ คือ สิงคโปร์มีอันดับคงที่ที่อันดับ 3 มาเลเซียอันดับขยับดีขึ้นจาก 24 เป็นอันดับที่ 22 และมีอันดับลดลง 3 เขตเศรษฐกิจได้แก่ ไทย ที่มีอันดับลดลงจาก 27 เป็น 30 อินโดนีเซียจากอันดับที่ 42 เป็น 43 และฟิลิปปินส์จากอันดับที่ 41 เป็น 50

เมื่อพิจารณาผลการจัดอันดับของไทย จากผลการจัดอันดับที่แบ่งเป็น 4 ด้านได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance)ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มีผลการจัดอันดับดีขึ้น 1 ด้าน เท่าเดิม 2 ด้าน และลดลง 1 ด้าน โดยด้านที่ดีขึ้นได้แก่โครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ด้านสภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจคงเดิม ส่วนด้านประสิทธิภาพของภาครัฐมีอันดับลดลง

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA (TMA Center for Competitiveness) และ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและสื่อสารประชาสัมพันธ์ กพข. กล่าวว่า จากผลการจัดอันดับในปีนี้ถึงแม้อันดับในภาพรวมจะลดลง แต่จะเห็นได้ว่าประเด็นที่เป็นการวางรากฐานในระยะยาวคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่รัฐบาลพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีอันดับดีขึ้น ในขณะที่การลงทุนโดยรัฐในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Mega Projects) ส่งผลลบต่ออันดับบางด้านในระยะสั้น แต่เชื่อว่าจะมีผลบวกต่อเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ทั้งนี้ประเด็นที่รัฐบาลยังคงต้องให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาทางด้านสังคม การศึกษา และสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ

ในขณะที่ นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าในปีนี้แม้ว่าผลการจัดอันดับในภาพรวมจะลดลงแต่ในองค์ประกอบนั้นมีดีขึ้น 1 ด้าน และสามารถรักษาอันดับไว้ได้ใน 2 ด้านคือด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจและประสิทธิภาพภาคเอกชน สำหรับด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ซึ่งมีอันดับลดลงจาก 22 ในปีที่แล้วเป็น 24 ในปีนี้นั้น เป็นผลมาจากการการใช้จ่ายขาดดุลเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีความคืบหน้าชัดเจนมากขึ้นและจะสร้างความสามารถในการแข่งขันและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ได้มีการเฝ้าระมัดระวังในการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง รวมทั้งกำกับดูแลให้การใช้งบประมาณภาครัฐก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความคุ้มค่าอยู่อย่างต่อเนื่องแล้วภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง สำหรับการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจก็ส่งผลให้อันดับด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ (business legislation) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้นถึง 2 อันดับ และรัฐบาลก็มีแนวทางที่จะดำเนินการให้เกิดผลอย่างกว้างขวางมากขึ้นต่อไปจากการปรับกฎระเบียบให้ทันสมัย คล่องตัว และการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลในการให้บริการให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาปัจจัยที่เป็นพื้นฐานเชิงโครงสร้างในทุกด้าน

“ทั้งนี้ ในวันที่ 11 – 12 กรกฎาคม 2561 สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จะมีการจัดสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2018 ภายใต้หัวข้อ Powering Thailand Competitiveness Through Digital Transformation ที่มุ่งเน้นการปรับตัวของทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี และแนวทางการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการให้บริการในภาครัฐและสร้างความสามารถของภาคธุรกิจในการแข่งขันในระดับสากล”นายเทวินทร์ กล่าวทิ้งท้าย