รู้จักกับ GB Prime Pay ผู้ท้าชิง Paypal คนล่าสุด

หลายคนสนใจว่า GB Prime Pay เป็นใครมาจากไหน ทำธุรกิจอะไรมาก่อน จึงกล้าท้าชนรายใหญ่อย่าง Paypal, AliPay และ WeChatPay วันนี้ GB Prime Pay แสดงตัวว่าไม่ใช่สตาร์ทอัพฟินเทคเพราะบริษัทมีความพร้อมทั้งทุนและเทคโนโลยี รวมถึงการวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความท้าทาย ในวันที่ต้องเข้ามาในสมรภูมิแข่งขันอีเพย์เมนต์ ซึ่งผู้เล่นแต่ละรายในตลาดไทยล้วนเป็นรายใหญ่

ระบบรับชำระเงินออนไลน์ของ GB Prime Pay สามารถรองรับหลายแพลตฟอร์ม ทั้งเว็บไซต์, แอปพลิเคชั่น, ระบบจอง (Booking Engine), เครื่อง POS (Point of sale) และโซเชียลคอมเมิร์ซ ทำให้พ่อค้าแม่ขายรายย่อยไม่ต้องใช้วิธีแปะเลขที่บัญชี แต่สามารถรับบัตรเครดิตหรือใช้ QR Code โดยที่ไม่ต้องมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง

ขณะเดียวกัน ฝั่งลูกค้าก็ไม่ต้องถ่ายรูปส่งสลิปยืนยันการโอนเงินให้แม่ค้าโซเชียล สามารถคลิกลิงก์ที่แม่ค้าให้เพื่อจ่ายแล้วจบเลย

ปัจจุบันมีธุรกิจที่ใช้ระบบ GB Prime Pay แล้วราว 600 ราย มียอดรูดบัตรเครดิตทะลุ 10 ล้านบาทต่อวัน แม้จะเพิ่งเริ่มให้บริการเพียง 6 เดือน คาดว่าจะเพิ่ม 3 เท่าเป็น 30 ล้านบาทต่อวันให้ได้ในปีนี้

ไม่ใช่สตาร์ทอัพ

นางสาวสศิรา อภิรัชเหมภาส กรรมการบริหารบริษัทโกลบอล ไพรม์ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด

GB Prime Pay ก่อตั้งโดยสศิรา อภิรัชเหมภาส, พชร ลิ่วเฉลิมวงศ์ และชาลี ศรีเพียร ทั้ง 3 ร่วมกันตั้งบริษัทโกลบอล ไพรม์ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (Global Prime Corporation) ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท จุดนี้ผู้บริหารระบุว่าเป็นทุนไทยล้วนไม่มีต่างชาติ โดยได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงดิจิทัลฯ และธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ประกอบธุรกิจรับชำระเงินออนไลน์เมื่อปี 2560

ผู้บริหารและพาร์ตเนอร์

สศิรา อภิรัชเหมภาส วัย 29 ปี เล่าว่า ก่อนเรียนจบ เธอประกวดมิสไทยแลนด์ไซนีส และอยู่ในแวดวงบันเทิง ควบคู่ไปกับธุรกิจส่งออกที่ทำร่วมกับคุณป้า เรียกว่าคลุกคลีกับการขายอยู่แล้ว ทั้งออกบูธและการเซอร์เวย์ เมื่อมาพบกับพชร ลิ่วเฉลิมวงศ์ ซึ่งเป็นเพื่อนกับชาลี ศรีเพียร ก็เกิดปิ๊งไอเดียสร้างบริการอีเพย์เมนต์ เพราะแผนทำธุรกิจโซเชียลคอมเมิร์ซที่คิดทำมาก่อนหน้านี้ติดปัญหาเรื่องการรับชำระเงินออนไลน์

“แต่ละคนมีธุรกิจของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว คุณชาลีก็ทำธุรกิจโรงพิมพ์ ตอนแรกเราอยากทำอีกธุรกิจหนึ่งแต่ติดปัญหาไม่สามารถทำให้ร้านรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตได้ ทำให้เรามองว่ายังมีโอกาส” สศิรา เล่า “ทุนจดทะเบียนเราไม่กู้เลย เราจึงไม่ใช่สตาร์ทอัพเพราะไม่ต้องขอ funding แผนของเราคือรอให้บริษัทใหญ่ขึ้นแล้วค่อยทำ IPO ยอมรับว่ามีต่างชาติเสนอซื้อกิจการเหมือนกัน แต่เราไม่อยากขาย เพราะถ้าขายก็เหมือนการขายใบอนุญาตที่ได้มา”

ร้านมอง GB Prime Pay เป็นแค่เครื่องรูดบัตร

สศิรา บอกว่า ความท้าทายที่ GB Prime Pay พบเมื่อต้องเดินเข้ามาในสมรภูมิอีเพย์เมนต์นั้นไม่ได้อยู่ที่คู่แข่ง แต่อยู่ที่มุมมองของร้านค้าที่ยังไม่เข้าใจ GB Prime Pay

“แน่นอนว่าเราไม่ได้แข่งกับใคร ที่ยากคือร้านค้าเอาเราไปเปรียบเทียบกับเครื่องรูดบัตร แต่จริงๆ แล้วคนละแบบ ขณะเดียวกัน ร้านค้ายังคิดว่าทำไมต้องรับบัตร หลายร้านมองข้ามความสำคัญของบัตรเครดิต ทั้งที่บัตรเครดิตช่วยเพิ่มยอดขายได้ เมื่อเทียบกับความจำกัดของเงินสด”

ธุรกิจของ GB Prime Pay เพราะต้องการอุดช่องว่างร้านค้าออนไลน์และออฟไลน์ที่ไม่มีเครื่องรูดบัตรเครดิต ประเด็นนี้ สศิรา มองว่า การที่ร้านออฟไลน์จะได้เครื่องรูดบัตรก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีเงื่อนไขมาก  ส่วนร้านที่ใช้เครื่องรูดบัตรยังต้องรวบรวมสลิปด้วยมือ แล้วลงบัญชีเอง ในขณะที่ GB Prime Pay จะได้รับรีพอร์ตที่จะสามารถเอาข้อมูลไปต่อยอดทำระบบสมาชิก หรือต่อยอดการตลาดอื่นได้

ส่วนที่ขาดคือระบบส่งเงิน

แต่หากเทียบกับคู่แข่งอย่าง Paypal GB Prime Pay ยังไม่มีส่วนที่ Paypal ครองตลาดเหนียวแน่น นั่นคือบริการ transfer เงินไปต่างประเทศ

ดังนั้น GB Prime Pay จึงต้องต่อยอดบริการ transfer เงินไปต่างประเทศให้มากขึ้น โดยที่ผ่านมา ระบบโอนเงินต่างประเทศดำเนินการเสร็จแล้ว แต่จะปรับเพิ่มให้กว้างขึ้น

สำหรับแตกต่างของ GB Prime Pay เมื่อเทียบกับบริการอื่น คือการไม่ต้องวางเงินประกันหรือขั้นตอนที่ตีกรอบเกินไป แต่ GB Prime Pay ซึ่งเป็นระบบรับชำระเงินออนไลน์ที่ได้มาตรฐาน PCI-DSS 3.2 จะคัดกรองผู้ใช้ด้วยการดูตัวตนและดำเนินการพิสูจน์ทราบรายบุคคล บริษัทจะตรวจชื่อผู้ประกอบการกับฐานข้อมูล ปปง. ทำให้ผู้ที่มีชื่อหรือนามสกุลเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงินจะไม่สามารถรับบริการจาก GB Prime Pay ได้ แต่จะไม่มีการพิจารณารายชื่อบุคคลที่ติดเครดิตบูโร

รวมถึงระยะเวลาส่งเงินให้ผู้ประกอบการ แทนที่จะกำหนดตายตัว 30 วันเหมือน Paypal แต่ GB Prime Pay แบ่งประเภทผู้ประกอบการเพื่อส่งเงินให้ในระยะเวลาที่ต่างกันตามรูปแบบบริการ เช่น ร้านอาหารจะได้รับเงินภายใน 2 วัน หรือผู้ค้าสินค้าที่ต้องจัดส่งจะได้รับเงินใน 7 วัน เพราะอาหารหรือสินค้านั้นถูกนำส่งถึงลูกค้าแล้ว

ยังมีส่วนค่าบริการต่อทรานเซกชั่นของ GB Prime Pay ที่อยู่ระหว่าง 3-4% ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งอย่าง Paypal ที่อยู่ที่ 4%

GB Prime Pay ยืนยันว่ามีจุดเด่นในเรื่องความง่ายในการชำระ เพราะ Paypal นั้นกำหนดให้พ่อค้าและลูกค้าต้องมีบัญชี Paypal ทั้ง 2 ฝ่ายจึงจะจ่ายเงินได้ แต่กรณีของ GB Prime Pay ลูกค้าผู้บริโภคทั่วไปไม่จำเป็นต้องรู้จัก GB Prime Pay ก็สามารถชำระเงินได้ เรียกว่าใช้บนแพลตฟอร์มใดก็ได้ และไม่มีแอป ทุกคนใช้ได้หมดทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต คิวอาร์เพย์เมนต์ หรือบิลเพย์เมนต์

หากมองที่ระบบชำระเงินอย่าง AliPay หรือ WeChatPay ยังรองรับผู้จดทะเบียนที่จีน แต่ GB Prime Pay รองรับได้ทั้งในประเทศไทยและข้ามประเทศ

ปัจจุบัน GB Prime Pay มีรายได้หลักจากค่าธรรมเนียม และส่วนต่างจากที่ต้นสังกัดอย่าง VISA และ Master Card กำหนด โดยขณะนี้ GB Prime Pay กำลังทำโปรโมชั่น ให้ผู้ค้าที่สมัครใช้บริการภายในมิถุยายนได้รับสิทธิ์ฟรีค่าธรรมเนียม ซึ่งผลการสมัครจะทราบได้ภายใน 2 วันทำการ เบื้องต้นไม่มีการกำหนดเพดานจำนวนเงินที่ฝั่งร้านค้า ขณะที่ฝั่งผู้ใช้สามารถกำหนดเพดานใช้จ่ายเงินได้เอง

ไม่หวังชนแบงก์

สศิรา คิดว่า ธุรกิจอีเพย์เมนต์ออนไลน์วันนี้แบ่งส่วนชัดเจน GB Prime Pay จึงไม่ใช่คู่แข่งของธนาคาร เนื่องจากธนาคารจะเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ธุรกิจใหญ่เป็นหลัก

“แบงก์ไม่เล่นรายย่อยอยู่แล้ว แบงก์จะดูเรื่องเงินแต่ไม่ลงรีเทลรายย่อย เน้นแต่ที่เป็นรายใหญ่ ส่วนคู่แข่งบางรายก็เน้นที่การออกเหรียญ คริปโต และ funding คู่แข่งอีกรายก็เน้นรายใหญ่ ตลาดนี้ใหญ่มาก เรามองว่าไม่ต้องแย่งลูกค้ากัน แต่เราจะใช้ความยืดหยุ่น รู้ว่าอะไรเป็นความต้องการของร้านค้า ซึ่งรายย่อยเหล่านี้ยังไม่มีใครเข้าถึง”

กลยุทธ์ของ GB Prime Pay จะเน้นที่บริการ เป้าหมายใหญ่ของ GB Prime Pay คือการจับมือพันธมิตร 7-8 รายในมือ เช่น ACOMMERCE, SWATDEE GROUP THAILAND บริษัทซัพพลายเออร์อย่างเป็นทางการของ Alibaba, MAKE WEB EASY, BULE HOUSE TRAVEL, KETSHOPWEB และ XSELLY

ทำให้ GB Prime Pay ให้บริการระบบรับชำระเงินออนไลน์กับธุรกิจหลากหลายสาขา เช่น สาขาธุรกิจท่องเที่ยว สายการบิน โรงแรม, ธุรกิจออนไลน์ทั้ง E-Commerce รวมทั้ง Social Commerce และยังมีธุรกิจออฟไลน์แบบร้านอาหาร รวมไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ และยานยนต์

สศิรา มองว่า วันนี้โซเชียลคอมเมิร์ซเมืองไทยหันมาเปิดหน้าร้านสาขามากขึ้น เพราะเมื่อร้านค้าโซเชียลรายย่อยจำนวนมากพบปัญหาไม่สามารถรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต โซเชียลคอมเมิร์ซที่ต้องการเติบโตจึงต้องหันมาหาทางเปิดร้านค้าออฟไลน์

“หลายรายพยายามหาช่องทางฝากขายสินค้าให้มีหน้าร้าน หรือลงทุนเปิดร้านขึ้นมาจึงจะทำให้สามารถรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต กลายเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในโซเชียลคอมเมิร์ซเมืองไทยขณะนี้.