ธุรกิจลักชัวรีพรีเมียมเอาท์เล็ตกำลังเป็นที่หมายตาของบิ๊กศูนย์การค้าถึง 2 ราย ที่ประกาศแตกขยายเพิ่มพอร์ตธุรกิจค้าปลีกในมือ.
ล่าสุดเป็นคิวของ สยามพิวรรธน์ จรดปากกาเซ็นสัญญาร่วมทุนกับ ไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป อสังหาริมทรัพย์จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าของลักซ์ชัวรีพรีเมียมเอาท์เล็ต 96 แห่งทั่วโลก 15 แห่งอยู่ในเอเชีย ซึ่งได้แก่ 9 แห่งในญี่ปุ่น 4 แห่งในเกาหลี และ 2 แห่งในมาเลเซีย
ทั้งคู่จะร่วมกันจัดตั้ง บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน ทุนจดทะเบียน 130 ล้านบาท ถือหุ้นฝ่ายละครึ่ง
เป้าหมายคือการแจ้งเกิดลักซ์ชัวรีพรีเมียมเอาท์เล็ต 3 แห่งในประเทศไทย สาขาแรกตั้งอยู่โซนบางนา บนเนื้อที่ขนาด 150 ไร่ มีพื้นที่ 50,000 ตารางเมตร บนที่ดิน 150 ไร่ จากนั้นจะเปิดอีก 2 แห่ง คือทางภาคเหนือ และภาคใต้ ทั้ง 3 สาขาจะใช้เวลา 3 ปี ใช้เงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท
ไซม่อนพรีเมียมเอาท์เล็ต สาขาแรกเปิดบริการในเดือนตุลาคม 2562 จะประกอบไปด้วยร้านค้ามากกว่า 200 ร้าน ครอบคลุมสินค้าลักซ์ชัวรีแบรนด์และแบรนด์ของดีไซเนอร์ที่เป็นที่รู้จัก รวมถึงแบรนด์ระดับอินเตอร์เนชันแนลและแบรนด์ไทย
ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ กล่าวว่า จุดขายของที่นี่ นอกจากสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากดีไซเนอร์ต่างๆ แอคเซสเซอรี แฟชั่น เครื่องหนัง แบรนด์พิเศษ ใกล้เคียงกับแบรนด์ที่พบได้ในพรีเมียมเอาท์เล็ตของไซม่อนในที่ต่างๆ ทั่วโลก ในราคาส่วนลด 25-70% ทุกวัน
การเพิ่มเติมในเรื่องการให้เป็นแหล่งนัดสังสรรค์กินดื่ม ร้านอาหาร รวมทั้งกิจกรรมเพื่อสาระและความบันเทิงต่างๆ ถือเป็นการสร้าง ENGAGEMENT ให้มีคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการทุกวัน
ปัจจัยบวกที่ทั้งคู่มองว่าน่าลงทุนเปิดพรีเมียมเอาท์เล็ตในไทย ทั้งจำนวนประชากรมีมาก 70 ล้านคน นักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่า 35 ล้านคน ซึ่งกรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองใหญ่ระดับโลก
ชฎาทิพย์ บอกว่า สนใจพรีเมียมเอาท์เล็ตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ นำกลับมาพิจารณาอีกครั้งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว จนนำไปสู่การติดต่อ และเจรจากับไซม่อนเป็นเวลา 1 ปี
การเลือกไซม่อนให้มาลงทุนร่วมกันนั้น เพราะการทำธุรกิจลักซ์ชัวรีพรีเมียม เอาท์เล็ตไม่เหมือนกับการทำศูนย์การค้า มีรายละเอียดแตกต่างกัน ทั้งเรื่องสินค้าลักซ์ชัวรี การตั้งราคา จึงต้องหาพันธมิตรอย่าง ไซม่อน ซึ่งเป็นผู้พัฒนาลักซ์ชัวรีพรีเมียมเอาท์เล็ตรายแรกของโลกมากว่า 40 ปี มีมูลค่าธุรกิจ 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.56 ล้านล้านบาท ปัจจุบันเป็นเจ้าของโครงการลักซ์ชัวรีพรีเมียมเอาท์เล็ตรวม 96 แห่งทั่วโลก เช่น WOODBURY COMMON PREMIUM OUTLETS (NEW YORK), DESERT HILLS PREMIUM OUTLETS (PALM SPRINGS), GOTEMBA PREMIUM OUTLETS (TOKYO)
และด้วยรูปแบบธุรกิจในครั้งนี้ ยังเป็นก้าวสำคัญของสยามพิวรรธน์ ขยายการลงทุนไปในต่างจังหวัดได้เป็นครั้งแรก เนื่องจากโมเดลศูนย์การค้าเดิม เช่น สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ รวมถึงไอคอนสยาม ยังไม่เหมาะกับการไปเปิดในต่างจังหวัด
ส่วนไซม่อนเองก็ได้โอกาสมาเปิดตลาดในไทยเป็นครั้งแรก โดยใช้ความชำนาญของสยามพิวรรธน์ซึ่งเชี่ยวชาญในตลาดค้าปลีก และความแข็งแกร่งด้านการเงินเข้ามาช่วยในการเข้าสู่ตลาดไทยในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เซ็นทรัลพัฒนา ได้เปิด เซ็นทรัล วิลเลจ โครงการลักซ์ชัวรีเอาท์เล็ต ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ล่าสุดของกลุ่มเซ็นทรัล ตั้งอยู่บนที่ดิน 100 ไร่ พื้นที่ 40,000 ตารางเมตร ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นโครงการที่ศึกษามานานกว่า 6 ปี โดยมีที่ปรึกษาต่างประเทศคือบริษัท ดิ เอาท์เล็ท คอมพานี เป็นที่ปรึกษา คาดว่าเปิดบริการได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2562
ภายในโครงการจะมีทั้งลักซ์ชัวรีพรีเมียมเอาท์เล็ต โรงแรมขนาด 200 ห้อง ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านสินค้าไทยแบรนด์สินค้าที่เป็นเครือของเซ็นทรัลเองด้วย รวมทั้งหมดกว่า 235 ร้านค้า
งานนี้ โซนบางนามีเดือดแน่ๆ!