การทำธุรกิจในตอนนี้ขึ้นชื่อว่ามีความท้าทายอยู่รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้วิธีการทำธุรกิจเปลี่ยนไปค่อนข้างมากโดยเฉพาะในส่วนของค้าปลีก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องปรับตัวขนาดหนัก รวมไปถึงผู้ประการรายย่อยอย่าง SME ก็ต้องเร่งปรับตัวเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงไปของโลกธุรกิจดังกล่าว จึงเป็นที่มาของงานสัมมนา “โครงการ K SME Good to Great ธุรกิจค้าปลีก” ที่ธนาคารกสิกรไทยจัดขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่ ผู้ประกอบการ SME ในการปรับตัวเข้าสู่ค้าปลีกยุค4.0 ตอบรับเทรนด์ออนไลน์ที่กำลังบูม เพื่อหาวิธีปรับตัวจากธุรกิจที่มีแค่หน้าร้านอย่างเดียวไปสู่การมีตัวตนในโลกออนไลน์
ภายในงานมีกูรูด้านค้าปลีกไทย และด้านอีคอมเมิร์ซมาให้ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจ รวมทั้งการใช้เครื่องมือการตลาดบนโลกดิจิทัล เพื่อให้แบรนด์มีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ รวมทั้งยังมีกรณีศึกษาจากเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวจากการขายออฟไลน์สู่ออนไลน์ด้วย
ตลาดอีคอมเมิร์ซโตไม่หยุด
เป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิม ได้รับผลกระทบโดยตรงจากพฤติกรรมของคนที่นิยมการช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น ซึ่งตลาดอีคอมเมิร์ซในปีที่แล้วมีมูลค่าสูงถึง 2.8 ล้านล้านบาท เติบโต 10% คาดว่ากลุ่ม B2C จะมีมูลค่า 256,000 ล้านบาทในปีนี้ และในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเป็น 470,000 ล้านบาท หรือเติบโต 16% ภาครัฐจึงมีการผลักดันให้ผู้ประกอบการ SME กว่า 3 ล้านราย หรือคิดเป็น 42% ของ GDP ประเทศ ให้สามารถเข้าถึงโลกออนไลน์มากขึ้น
สินค้าแฟชั่น เติบโตสูงสุด SME ต้องจับตา
กลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตมากที่สุดคือสินค้าแฟชั่น เติบโตถึง 38% สินค้าอื่นๆ อย่างเฟอร์นิเจอร์ เติบโต 23% และสินค้าไอที เติบโต 14% ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มสินค้าดังกล่าว ต้องมองหาโอกาสในการขายให้มากขึ้น การได้รู้พฤติกรรมของลูกค้าในแต่ละกลุ่มแต่ละวัยว่ามีความชอบสินค้าอะไร จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าและบริการได้ตอบโจทย์มากที่สุด
Omni Channel ไม่ใช่แค่สำคัญ แต่จำเป็นแล้วสำหรับยุคนี้
สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “การที่ผู้ประกอบการจะปรับตัวเข้าสู่ Omni Channel ควรเริ่มต้นจากการเลือกแพลตฟอร์มให้เหมาะกับธุรกิจของตัวเอง ควรใช้โซเชียลมีเดียในการทำตลาด เพราะเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลและเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก ที่สำคัญคือต้องเข้าใจในตลาด เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างถ่องแท้ เพื่อปรับวิธีการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสม เรียกได้ว่าผู้ประกอบการ SME ยุคนี้จะนิ่งนอนใจไม่ปรับรูปแบบธุรกิจให้เป็น Omni Channel ไม่ได้แล้ว เพราะอาจจะอยู่ลำบากหากทุกคนต่างหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อการดำเนินชีวิตที่มากขึ้น”
ใช้เครื่องมือ Digital Marketing อย่างไรให้เหมาะกับธุรกิจ
ยุคนี้มีเครื่องมือการตลาดบนโลกออนไลน์มากมายทั้งโซเชียลมีเดีย เสิร์จเอ็นจิ้น รวมถึงแอพพลิเคชั่นต่างๆ แต่ที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ LINE@ และ Google เป็น 2 แพลตฟอร์มที่เหมาะกับลูกค้ากลุ่ม SME โดยที่ทั้งคู่มีความน่าสนใจที่แตกต่างกัน
LINE@ เป็นบริการย่อยจาก LINE จุดเด่นก็คือคนไทยใช้ LINE เป็นประจำทุกวัน อยู่ใกล้ชิดกับ LINE มาก เรียกได้ว่าตื่นเช้ามาก็ต้องเปิดอ่าน LINE ก่อน จึงเป็นที่มาของ LINE@ บริการตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะ ให้มีการสื่อสารกับลูกค้าได้ง่ายขึ้น เหมาะกับธุรกิจ SME ในทุกธุรกิจ
ถ้าให้เปรียบก็คือ LINE@ เป็นเหมือนหน้าร้านบนโลกออนไลน์ ที่สามารถเปิดรับลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าลูกค้าต้องการซื้อเสื้อผ้าก็พูดคุยหรือสอบถามข้อมูลกับเจ้าของร้านได้ตลอดเวลา ช่วยเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้า และสร้างเอ็นเกจเมนต์ระหว่างแบรนด์ และลูกค้าได้ดีขึ้นด้วย
สำหรับ Google เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือดิจิทัลที่จำเป็นในแง่ของการ “ค้นหา” เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ต้องการค้นหาข้อมูลบนโลกออนไลน์ ก่อนทำการตัดสินใจซื้อทุกครั้ง Google มีความจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ที่จะช่วยทำให้แบรนด์น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
ธุรกิจที่มีเว็บไซต์ของตัวเอง เมื่อเว็บไซต์ติดอันดับของ Google ในหน้าแรกๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายได้ดียิ่งขึ้น หรืออย่างร้านอาหารสามารถเพิ่มข้อมูลร้านใน Google My Business ได้ รวมถึงใส่แผนที่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการมาร้าน มีผลสำรวจพบว่า SME ที่มีเว็บไซต์จะมีรายได้ดีขึ้น 80% เมื่อเทียบกับที่ไม่มีเว็บไซต์ เพราะมรายได้ กำไร มูลค่าทางการตลาดที่เพิ่มมากขึ้น มากจากการที่แบรนด์เข้าถึงลูกค้าได้เร็วขึ้น
พลิกโฉมธุรกิจจากออฟไลน์สู่ออนไลน์อย่างไรให้ปัง
ภายในงานยังได้มีการแชร์ประสบการณ์ในการทำธุรกิจของหลากหลายธุรกิจ บางธุรกิจเริ่มต้นจากออฟไลน์ก่อน แล้วเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ บางธุรกิจก็เริ่มจากออนไลน์ แล้วเข้าสู่ออฟไลน์ เพื่อเป็นการขยายช่องทางการขาย และสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้มากขึ้น
บริษัท เฮงเฮง 168 จำกัด
วุทธิพัฒน์ วิศาลศักดิ์ เจ้าของธุรกิจขายตี่จู้เอี๊ยะ หินอ่อน เนื้อกระเบื้อง ทองคำ ศาลพระภูมิหินอ่อน ศาลเจ้า และของมงคลเสริมฮวงจุ้ยต่างๆ เล่าจุดเริ่มต้นของธุรกิจเฮงเฮง 168ว่าเกิดเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศ เมื่อปี 2554บ้านเรือนรวมถึงโรงงานเสียหายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ตี่จู้เอี๊ยะที่ตั้งไว้กับพื้นก็เสียหายด้วยเช่นกัน ช่วงนั้นทำให้ความต้องการตามหาตี่จู้เอี๊ยะสูงมากเป็นพิเศษ วุทธิพัฒน์มองเห็นโอกาสดังกล่าว เพราะการขายตี่จู้เอ๊ยะเป็นธุรกิจกำไรดี คู่แข่งน้อย ไม่ค่อยมีผู้เล่นในตลาด เป็นเหตุผลให้เขาเปิดร้านแรกขึ้นที่รามอินทรา ในยุคนั้นถือว่าเป็นผู้ขายเพียงเจ้าเดียวในทำเลนั้น จึงทำให้เกิดการบอกต่อจนเป็นร้านที่ขายดีมาก พอทำธุรกิจไปสักพัก วุทธิพัฒน์ก็เริ่มพบว่า “ไม่ได้มีน้ำท่วมทุกปี” เพราะฉะนั้นคนก็ไม่ได้ตามหาตี่จู้เอี๊ยะเหมือนตอนน้ำท่วม การมีหน้าร้านเพียงอย่างเดียว เริ่มไม่ตอบโจทย์การทำธุรกิจ เขาจึงคิดขยายสู่ช่องทางออนไลน์เริ่มต้นจากการเปิดเว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก ผลตอบรับที่ได้ก็คือ ได้ลูกค้าต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น รวมถึงลูกค้าคนจีนที่อยู่ในไทยเพิ่มมากขึ้น ส่วนลูกค้าในกทม.ส่วนใหญ่มักจะค้นหาสินค้าจากออนไลน์แล้วมาดูของจริงที่ร้าน หลังจากบุกตลาดออนไลน์ ยอดขายในช่วง 3 เดือนแรกเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า
กลยุทธ์หลักของเฮงเฮง 168 เน้นการจับตลาดพรีเมี่ยมโดยไม่ใช้วิธีลดราคาเพื่อเอาชนะคู่แข่ง แต่จะเน้นการเพิ่มมูลค่าเข้าไปในสินค้า เช่น ใช้วัสดุที่ดี และคงทนกว่า มีเพิ่มเรื่องดวงหรือฮวงจุ้ย เข้าไปเพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าได้มากกว่าคู่แข่ง
ปัจจุบันเฮงเฮง 168 มีร้านทั้งหมด 3 สาขา โดยมียอดขายจากออฟไลน์หรือหน้าร้าน 65% และจากออนไลน์ 35% วุทธิพัฒน์ให้คำแนะนำว่าการทำธุรกิจในปัจจุบันควรทำควบคู่กันไปทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพราะลูกค้ายุคนี้มักจะดูสินค้าจากเว็บไซต์ แล้วเข้ามาซื้อที่หน้าร้าน การมีหน้าร้านจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น
Kprint
“จิตร์งาม รักษาแก้ว” เจ้าของธุรกิจ Kprintธุรกิจรับพิมพ์สติ๊กเกอร์สินค้าระบบออนดีมานด์ โดยลูกค้าสามารถสั่งพิมพ์ยอดน้อยได้ไม่มีขั้นต่ำ ส่วนใหญ่เหมาะกับ SME ที่กำลังสร้างแบรนด์ โดยจิตร์งามทำธุรกิจนี้มาได้ 7 ปี มีหน้าร้านอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี มีลูกค้าประจำค่อนข้างเยอะ แต่ด้วยความที่เธอชอบโพสท์เรื่องสติกเกอร์สินค้าต่างๆที่เธอผลิตในเฟซบุ๊กส่วนตัว ก็เริ่มมีเพื่อน และคนรู้จักของเธอเห็นสินค้าและชื่นชอบ จนมีการถามไถ่เรื่องราคาเพราะต้องการสั่งผลิตนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้จิตร์งามหันมาเริ่มเปิดเพจเฟซบุ๊กของร้านแบบจริงจัง หลังจากนั้นทำให้เธอได้ลูกค้าที่กว้างขึ้น ทั้งจากกทม.และจังหวัดอื่นๆ ส่งผลทำให้ยอดขายโตขึ้นถึง 2-3 เท่า
กลยุทธ์ของ Kprintจิตร์งามบอกว่าจะเน้นการสร้างเอ็นเกจเมนต์กับลูกค้าด้วยการบริการอย่างเต็มที่จนลูกค้าประทับใจและนำสินค้าไปรีวิวบนโลกออนไลน์ กดให้ดาวเพื่อเป็นการบอกถึงเรตติ้งในเพจ ที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ จนทำให้ร้านได้รับการบอกต่อและเป็นที่รู้จักในวงกว้างจิตร์งามได้วางตัวเองไปกับทุกแพลตฟอร์มทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ แต่จะทำการศึกษาธรรมชาติของแต่ละแพลตฟอร์มเพื่อเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้าและส่งมอบสินค้าได้ตอบโจทย์ที่สุด เช่น อินสตาแกรมจะสื่อสารด้วยภาพสวยๆ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาหาได้มากขึ้น
จิตร์งามทิ้งท้ายว่า SME ที่จะนำธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์ ต้องหาตัวเองให้เจอ ต้องรู้ว่าสินค้าเหมาะกับลูกค้ากลุ่มไหนโดยหัวใจของการทำออนไลน์ คือการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ใจลูกค้าอย่างยั่งยืน
บริษัท มั่นคงแก็ดเจ็ท จำกัด
2 คู่หู “กมล พูนทรัพย์” และ “อัฐพงษ์ เอี่ยมไพบูลย์” เจ้าของธุรกิจ มั่นคงแก็ดเจ็ท เล่าว่า เริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากขายหูฟัง ลำโพงพกพา เน้นขายในออนไลน์เป็นหลัก เนื่องจากเป็นช่องทางฟรี เพราะไม่มีทุนเปิดร้าน
ด้วยความที่สินค้าของมั่นคงแก็ดเจ็ทมีทั้งหูฟังระดับแมส และหูฟังระดับไฮเอนด์ ทำให้ช่องทางออนไลน์เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ทั้งคู่มองหาช่องทางออฟไลน์ เพื่อสร้างหน้าร้านที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะพฤติกรรมคนไทยส่วนใหญ่ ไม่กล้าซื้อสินค้าราคาแพง หากไม่ได้เห็นของจริง โดยได้เปิดมั่นคงแก็ดเจ็ทสาขาแรกที่พันทิพย์งามวงศ์วาน ซึ่งได้รับความนิยมและช่วยสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น จากนั้นก็เริ่มเปิดสาขาอื่นๆ ตามมา อาทิ ดิจิอตอลเกตเวย์ พาราไดซ์ พาร์ค อัมรินทร์พลาซ่า และสยามพารากอน
ทั้งคู่ได้ให้คำแนะนำว่า ตอนนี้เกือบทุกธุรกิจต้องพาตัวเองเข้าสู่ออนไลน์ เพื่อ ไม่ให้เสียโอกาส อย่างไรก็ตามก่อนเริ่มเข้าสู่ออนไลน์ อย่าลืมทำการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างถี่ถ้วน อย่าเพิ่งคิดอะไรเข้าข้างตัวเองว่าทำออนไลน์แล้วจะประสบความสำเร็จ แต่ต้องคิดผลกระทบทางลบไว้บ้าง เพื่อหาวิธีแก้ไขหรือแผนสำรอง หากสิ่งที่ทำไม่ได้เหมือนที่คิดไว้ จะได้แก้ไขและเดินหน้าต่อได้สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ คือ ต้องสนุกไปกับมัน อย่าทำให้ธุรกิจดูเครียด ต้องใส่ความสนุกให้ธุรกิจบ้าง เพราะเมื่อใดที่เราสนุกกับสิ่งที่ทำ เวลาพบปัญหาเราจะไม่ท้อ แต่จะหาทางแก้และพบกับความสำเร็จในที่สุด
สำหรับโครงการ K SME Good to Great ธุรกิจค้าปลีก นอกเหนือจากการจัดงานสัมมนา “ค้าปลีกยุคใหม่ ปรับอย่างไรให้อยู่รอด” เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในการปรับธุรกิจไปสู่ Omni Channel แล้ว ยังมีการต่อยอดด้วยการอบรมเชิงลึก 5 วัน กับผู้เชี่ยวชาญตัวจริง โดยคัดเลือกผู้สมัครเพียง 50 รายเท่านั้นเพื่อเข้าร่วมการอบรม พร้อมทั้งมีการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวในการทำตลาดออนไลน์ สำหรับ 5 ธุรกิจที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งจะได้รับเงินรางวัลรายละ 100,000 บาท เพื่อเป็นเงินสนับสนุนการทำตลาดออนไลน์อีกด้วย