กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมกับ 16 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรม “depa Transformation in Action 2018” ภายใต้แนวคิดปฏิวัติธุรกิจ ติดอาวุธดิจิทัล”เพื่อสร้างการรับรู้และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับเอสเอ็มอีทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายก้าวไปสู่ยุคดิจิทัล 4.0 อย่างยั่งยืน
นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (กลุ่มงานเศรษฐกิจดิจิทัล) หรือ ดีป้า ในฐานะประธานโครงการฯ กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าวเกิดจากการตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างเข้าใจ และสามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม ตลอดจนสร้างมูลค่าและคุณค่าให้กับธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ผนึกกำลังกับพันธมิตร 16 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีเป้าหมายและความแข็งแกร่งในด้านการพัฒนาและส่งเสริมเอสเอ็มอี ได้แก่
– กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
– สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
– ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม – SMEs Bank
– สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
– หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
– กรมทรัพย์สินทางปัญญา
– ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สวทช.
– สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
– สถาบันอาหาร
– มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
– บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) – Dtac Accelerate
– บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) – AIS
– บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) – TrueBusiness
– ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) – SME
– ธนาคารกสิกรไทย – KSMEs
– บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
สำหรับการดำเนินการนั้น นายฉัตรชัย กล่าวว่า จะเป็นการโรดโชว์ ในพื้นที่ 9 จังหวัด ครอบคลุมทั้ง 5 ภูมิภาค ทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต สงขลา เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น และอุบลราชธานี โดยมีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม 2561 ภายในงานประกอบด้วย กิจกรรมนิทรรศการแสดงผลงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล และหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมสัมมนาถ่ายทอดความรู้ด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) และนำเสนอตัวอย่างผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จหรือมีประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยีไปใช้ยกระดับธุรกิจ โดยมีหัวข้อการสัมมนา อาทิ ถอดรหัสความสำเร็จเอสเอ็มอีไทย ก้าวสู่Smart Industry ด้วยเทคโนโลยี IoT และเปลี่ยนผ่านธุรกิจ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย e-logistics (อี โลจิสติกส์) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมให้คำปรึกษาเบื้องต้นแก่ผู้ประกอบการ ที่ต้องการใช้ดิจิทัลในธุรกิจ โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการในทุกช่วงธุรกิจ และกิจกรรมเจรจาธุรกิจ สำหรับสร้างตลาด หาพันธมิตรทางธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ eCommerce & Logistic กลุ่มเทคโนโลยีด้านการขนส่งออนไลน์ การนำเข้าและการส่งออก รวมถึงระบบจัดเก็บสินค้าแบบครบวงจร Business Services กลุ่มเทคโนโลยีที่ช่วยการเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานการผลิต Big Data & Digital Marketing กลุ่มเทคโนโลยีที่เน้นการตลาดแบบดิจิทัล การสร้างแบรนด์ และช่องทางการขาย Digital Financial Services กลุ่มเทคโนโลยีที่ช่วยการเงิน ภาษี และสินเชื่อเพื่อธุรกิจ
นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า ในระยะ 6 เดือน ที่ผ่านมาของปี 2561 ดีป้าได้มีการดำเนินงานโครงการนำร่องต่าง ๆ ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน โครงการ depa Mini-Transformation Voucher จำนวน 400 ทุนทั่วประเทศ โครงการส่งเสริมการจัดทำแผนการประยุกต์ใช้ดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวน 80 ทุน ทุนละ 50,000 บาท โครงการนำร่องสร้างต้นแบบธุรกิจดิจิทัลและSmart Factory จำนวน 10 ทุน ทุนละ 1,050,000 บาท และจะมีการขยายจำนวน ทุนดังกล่าวภายในปีนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีไทยได้มีโอกาสเข้าถึง บริการ และการสนับสนุนทุนการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเพื่อยกระดับธุรกิจ รวมถึงการขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการดิจิทัลในประเทศไทย ที่มีเครื่องมือและบริการด้านดิจิทัลที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดและการรับรู้ จาก SMEs และภาคธุรกิจไทย ถือเป็นการส่งเสริมเอสเอ็มอีในการประยุกต์ใช้ดิจิทัล เพื่อปรับเปลี่ยนข้อมูลการทำธุรกิจจากอนาล๊อกสู่ดิจิทัล การเชื่อมโยงกระบวนการทำงาน รวมถึงการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ในอนาคต