ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อยอดดนตรีไทยสู่โลกเศรษฐกิจ สมกับยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการเปิดตัวนวัตกรรมเทียบเสียงดนตรีไทย… แอปพลิเคชันแรกของโลก ภายใต้ชื่อ “Thai Tuner” บนสมาร์ทโฟน ทั้งในระบบiOS และ Android นับเป็นเครื่องมือการเทียบเสียงเครื่องดนตรีไทยที่คิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตเครื่องดนตรีไทยต้นแบบด้วยกรรมวิธีดิจิตอล โดยการผลิตฉิ่งและขลุ่ย ที่ได้ค่าความถี่เสียงที่ถูกต้องตามมาตรฐาน เป็นผลงานชิ้นแรกของโลก ทั้งนี้เพื่อสืบสานและรักษามาตรฐานเสียงดนตรีไทยให้คงเอกลักษณ์ความเป็นไทย รวมทั้งส่งต่อองค์ความรู้ใหม่ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเครื่องดนตรีไทย และขยายตัวสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ผศ.ดร.สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ริเริ่มโครงการ Thai Tuner กล่าวว่า “ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนานวัตกรรม แอปพลิเคชัน Thai Tunerขึ้นมาเพื่อสืบสานและรักษามาตรฐานเสียงของเครื่องดนตรีไทยให้คงอยู่ต่อไป โดยนำองค์ความรู้จากโครงการวิจัยค่าความถี่เสียงดนตรีไทย ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช มาพัฒนาเป็นโปรแกรมเทียบเสียงดนตรีไทย โดยมีเป้าหมายหลักคือ การนำพาอุตสาหกรรมดนตรีไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยนวัตกรรมและการบูรณาการองค์ความรู้ ทั้งการพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนและการต่อยอดสู่การผลิตเครื่องดนตรีไทยต้นแบบ เพื่อให้ได้เครื่องดนตรีไทยที่มีมาตรฐาน ได้ค่าความถี่เสียงถูกต้อง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมดนตรีไทย”
การพัฒนาโปรแกรมเทียบเสียงดนตรีไทยในรูปแบบของแอปพลิเคชันบนมือถือ รองรับทั้งในระบบ iOS และ Android สำหรับโปรแกรมได้มีการออกแบบทั้ง User Interface และ User Interaction ประกอบด้วยโปรแกรมเทียบเสียงเครื่องดนตรี จำนวน 89 ชิ้นโดยแบ่งเป็นประเภท ดีด สี ตี เป่า ร้อง สำหรับให้นักดนตรีไทย นักเรียน นักศึกษา ครู และผู้ผลิตเครื่องดนตรีไทย สามารถใช้เทียบเสียงหรือตั้งค่าเสียงเครื่องดนตรีไทยได้อย่างมีมาตรฐาน สะดวกและใช้งานได้ง่ายด้วยระบบบันทึกค่าความถี่เป็นตัวเลขดิจิตอล นอกจากนี้ยังได้รวบรวมข้อมูลความรู้ของเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ พร้อมภาพประกอบไว้ เพื่อให้ได้ศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียด ซึ่งคาดว่าจะสามารถขยายผลไปยังประชาชนทั่วไปทั้งในและต่างประเทศต่อไป
“เมื่อพัฒนาโปรแกรมเทียบเสียงแล้ว โครงการยังได้พัฒนาต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องดนตรีไทยต้นแบบประเภทฉิ่งและขลุ่ยที่จำเป็นต้องมีการจูนเสียงระหว่างกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้เสียงที่มีค่าความถี่เสียงมาตรฐานถูกต้อง รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ที่สร้างสรรค์สวยงามแสดงความเป็นไทยเช่นกัน ทั้งนี้การผลิตเครื่องดนตรีไทยต้องใช้ความเชี่ยวชาญหลายด้าน มีการบูรณาการองค์ความรู้จากหลายศาสตร์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้ผลิต นักวิจัย และผู้ใช้ ซึ่งจากความสำเร็จในการผลิตเครื่องดนตรีต้นแบบ ทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถช่วยให้ผู้ผลิตเครื่องดนตรีไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 300 ราย สามารถผลิตเครื่องดนตรีคุณภาพ มาตรฐานสากล และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเครื่องดนตรีไทย ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี”
ทั้งนี้ ปัจจุบันเครื่องดนตรีไทยนอกจากผลิตและขายในประเทศไทยแล้ว ในหลายประเทศได้มีการส่งเสริมดนตรีไทยอย่างกว้างขวาง เช่น ประชาคม ASEANอเมริกา อังกฤษ และเนเธอแลนด์ เป็นต้น ดังนั้นการผลิตเครื่องดนตรีไทยที่ได้มาตรฐาน เป็นการนำเครื่องดนตรีไทยเข้าสู่ตลาดทางวัฒนธรรมมากขึ้นเช่นกัน ผศ.ดร.สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย กล่าว
ด้านอาจารย์ปกรณ์ หนูยี่ คีตศิลปิน สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ผู้วิจัยโครงการวิจัยค่าความถี่เสียงดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน กล่าวถึง การเทียบเสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านทั้ง 4 ภาคว่า จากการลงภาคสนามพบว่าทั้ง 4 ภาค มีการใช้ระบบเสียงแบบสากลมาอ้างอิงในการเทียบเสียงเครื่องดนตรีค่อนข้างมาก เนื่องจากส่วนใหญ่จะบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีสากลและอีกเหตุผลหนึ่งคือไม่มีมาตรฐานเสียงต้นแบบที่ใช้อ้างอิง แต่สำหรับวงดนตรีไทยภาคกลางส่วนใหญ่ยังคงยึดความถี่เสียงแบบเดิมอยู่ โดยจะยึดเอามาตรฐานเสียงของกรมศิลปากรเป็นหลักในการเทียบเสียง
“ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์สำหรับเทียบเสียงเครื่องดนตรีมาก่อน การเทียบเสียงเครื่องดนตรีไทยตั้งแต่อดีตจะใช้โสตประสาทของนักดนตรีหรือครูดนตรีเป็นหลัก ทำให้เสียงของเครื่องดนตรีไทยแตกต่างกันไปตามแต่ละสำนัก และนับวันนักดนตรีไทยที่เชี่ยวชาญด้านการเทียบเสียงก็ลดน้อยลง ประกอบกับวัฒนธรรมดนตรีตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาหลากหลายช่องทาง ดังนั้นแอปพลิเคชัน Thai Tuner จึงเป็นเครื่องมือการเทียบเสียงดนตรีไทยครั้งแรก และเป็นแอปพลิเคชันแรกของโลกที่รวบรวมการเทียบเสียงเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีพื้นบ้าน โดยจะเเสดงผลค่าความถี่มาตรฐานจากการวิจัย ทำให้เสียงของเครื่องดนตรีของแต่ละภาคมีมาตรฐานไปในทิศทางเดียวกัน ถือเป็นการช่วยรักษาและอนุรักษ์วัฒนธรรมอีกทางหนึ่งด้วย”
นอกจากนี้ โครงการยังมีการวิจัยการผลิตเครื่องดนตรีไทยต้นแบบด้วยกรรมวิธีดิจิตอล เพื่อให้ได้เครื่องดนตรีไทยที่มีมาตรฐาน ผลิตเครื่องดนตรีไทยออกมาแล้วได้ค่าความถี่เสียงถูกต้องโดยครั้งนี้ได้เริ่มจากการผลิต ฉิ่ง และขลุ่ย ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีไทยที่มีความสำคัญอย่างมากและจำเป็นต้องผลิตให้ได้เสียงที่เป็นมาตรฐาน จึงมีการนำเทคโนโลยี CAD/CAM มาใช้ทำให้การผลิตให้ได้เสียงเป็นมาตรฐาน สามารถลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากการผลิตระบบนี้สามารถควบคุมมาตรฐานของเสียงได้ 100% จึงไม่เกิดความเสียหายในขณะผลิต ทั้งนี้จากกระบวนการผลิตรูปแบบใหม่ที่คิดค้นวิจัยขึ้น ทางโครงการThai Tuner จะส่งต่อองค์ความรู้ในการผลิตให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องดนตรีไทย สำหรับนำไปใช้ในการผลิตอย่างมีคุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเครื่องดนตรีไทยต่อไป
สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Thai Tuner ลงบนมือถือสมาร์ทโฟน เพื่อใช้งานได้ทั้งระบบ iOS และ Android ได้แล้ววันนี้ ฟรี ทาง App Store หรือ Play Store
Related