“สยามพิวรรธน์”ผนึก“ไซม่อน” ลุยลักชัวรี่พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต ต่อยอดวงการค้าปลีกไทย


ข่าวการร่วมทุนระหว่างกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ และไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป เพื่อทำลักชัวรี่พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต สร้างความฮือฮาให้กับวงการค้าปลีกบ้านเราไม่น้อย ด้วยเพราะจำนวนเงินลงทุนมหาศาลถึง 10,000 ล้านบาท และจำนวน location ที่ประกาศไว้ว่า 3 แห่งใน 3 จังหวัดในประเทศไทย ภายใน 3 ปี


สยามพิวรรธน์ได้ส่งจิ๊กซอร์สำคัญมาเติมเต็ม segment ที่ประเทศไทยยังขาดอยู่ นั่นคือลักชัวรี่พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต พร้อมกับเติมเต็มและเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์มากยิ่งขึ้น ส่วนไซม่อนได้ต่อยอด ขยายกิ่งก้านสาขามาเมืองไทยเป็นครั้งแรก หลังจากที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว 230 โครงการทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นลักชัวรี่พรีเมี่ยมเอาท์เล็ตถึง 96 แห่ง นี่จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งของวงการค้าปลีกประเทศไทย


หลังจรดปากกาเซ็นสัญญาตั้งบริษัทร่วมทุนที่ชื่อว่า บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จำกัด ทำให้เราได้เห็นถึงความเชื่อมั่นของยักษ์ค้าปลีกอันดับหนึ่งของโลกอย่างไซม่อนที่มีต่อประเทศไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเชื่อมั่นของยักษ์ค้าปลีกอันดับหนึ่งของโลกที่มีต่อผู้ประกอบการไทยอย่างสยามพิวรรธน์ จึงเกิดคำถามที่น่าสนใจตามมาว่า ไซม่อนและสยามพิวรรธน์ “เอาจริง” กับภารกิจนี้มากน้อยแค่ไหน และทั้ง 2 บริษัทจะมาเติมเต็มซึ่งกันและกันอย่างไร

ทำความรู้จักกับไซม่อนกันก่อน ไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป คือยักษ์ใหญ่ในวงการค้าปลีกของโลก เป็นบริษัทผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกอันดับหนึ่งของโลก ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค มีโครงการอยู่ในพอร์ตฟอลิโอ มากกว่า 230 แห่ง ใน 12 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสามารถสร้างยอดขายบนพื้นที่โครงการต่างๆ เหล่านั้นได้กว่า 2 ล้านล้านบาท และมี Market Cap (มูลค่าตามราคาตลาด) มากกว่า 2.7 แสนล้านบาท มีพื้นที่สำหรับให้เช่า กว่า 18 ล้านตารางเมตร ซึ่งมากกว่าพื้นที่สำหรับให้เช่าของค้าปลีกในประเทศไทยทั้งประเทศรวมกัน ถึงประมาณ 5 เท่า และหากดูเฉพาะพรีเมี่ยมเอาท์เล็ตที่ไซม่อนเป็นเจ้าของก็มีอยู่ถึง 96 แห่งทั่วโลก โดย 15 แห่งอยู่ในเอเชีย คือที่ญี่ปุ่น 9 แห่ง เกาหลี 4 แห่ง และมาเลเซีย 2 แห่ง โดยเอาท์เล็ตในเอเชียที่คุ้นหูนักช้อปไทย ได้แก่ Gotemba Premium Outlet ที่ญี่ปุ่น Yeoju ที่เกาหลี และ Johor ที่มาเลเซีย

บิ๊กดีลเขย่าวงการค้าปลีกไทยในครั้งนี้ มีรายละเอียดที่สะท้อนนัยยะสำคัญซี่งชวนให้เราคิดต่อ คือ

* มีข้อบ่งชี้หลายประการที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ยักษ์ค้าปลีกของโลกอย่างไซม่อน และกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ “เอาจริง” กับการร่วมทุนกันในครั้งนี้ – ประการแรก คือการผนึกกำลังที่ไม่ใช่เพียงแค่เป็น “ที่ปรึกษา” หรือไม่ได้เข้ามาถือหุ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เป็นการมาอย่างเต็มรูปแบบ ถือหุ้นในสัญญาร่วมทุนกันคนครึ่งๆ และยิ่งไปกว่านั้น ประการที่สองคือ การประกาศร่วมทุนในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อสร้างลักชัวรี่พรีเมี่ยมเอาท์เล็ตแห่งเดียวเท่านั้น แต่เป็นการเซ็นสัญญาร่วมทุน ที่มาพร้อมกับการประกาศโครงการแรกคือ การสร้างลักชัวรี่พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต ถึง 3 แห่งในประเทศไทย ด้วยเงินลงทุนมหาศาล 10,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นชัดเจนว่า “เอาจริง” ด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งแปลว่าทั้งสยามพิวรรธน์และยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างไซม่อน จะต้องทุ่มเทสรรพกำลังทุกสิ่ง ทั้งความรู้ความสามารถ ทักษะ เครือข่ายสินค้า และทรัพยากรต่างๆ ที่มี เพื่อทำให้โครงการเหล่านี้ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับเอาท์เล็ตต่างๆ ทั่วโลกของไซม่อนที่ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม

* การร่วมทุนกับไซม่อนครั้งนี้ มีโอกาสทำให้ขนาดธุรกิจของกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ สามารถขยายตัวแบบก้าวกระโดด เติบโตได้เป็นเท่าตัวภายในเวลาอันรวดเร็ว – ด้วยปัจจัยต่างๆ อาทิ จุดแข็งของสยามพิวรรธน์ ในฐานะผู้นำนวัตกรรมค้าปลีก เป็นผู้บุกเบิกและนำเสนอคอนเซ็ปต์ค้าปลีกใหม่ๆ มาโดยตลอด ตั้งแต่การเปิด “สยามเซ็นเตอร์” ศูนย์การค้ามาตรฐานสากล (ที่ติดแอร์) แห่งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2516 หลังจากนั้น อีกหนึ่งก้าวสำคัญที่สร้างชื่อให้สยามพิวรรธน์โด่งดังไปทั่วโลก ก็คือการเปิด “สยามพารากอน” ปี พ.ศ.2548 เป็นศูนย์การค้าระดับโลกใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี สถานการณ์ภายในประเทศจะเป็นอย่างไร สยามพารากอนยังคงยืดหยัดแข็งแกร่ง เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศอยากมาเยือน และติดอันดับ World’s top ten destinations ของสื่อสังคมออนไลน์ชื่อดัง อย่าง Facebook นอกจากนั้น สิ่งที่ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมค้าปลีกของสยามพิวรรธน์ในระดับโลก คือ สยามดิสคัฟเวอรี่ ได้รับรางวัล โครงการที่ดีที่สุดในโลก (Best Store in the World) และรางวัลการออกแบบโครงการที่ดีที่สุดในโลก (Best Store Design in the World) จาก 2 สมาคมค้าปลีกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของโลก


แต่ทั้งนี้ ข้อจำกัดในการขยายธุรกิจของสยามพิวรรธน์ก็คือ โครงการต่างๆ เหล่านั้นแม้จะประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในประเทศไทยและระดับโลก แต่เป็นโครงการลักษณะ ‘One-Off’ Project ที่ความสำเร็จเกิดขึ้นเฉพาะตัวแต่ละโครงการ ไม่ใช่โครงการในรูปแบบที่จะสามารถ Copy แบบเดิมไปสร้างที่อื่นซ้ำๆ ได้ แต่วันนี้ มีโอกาสที่จะเกิดเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ หากสยามพิวรรธน์ใช้ธุรกิจลักชัวรี่พรีเมี่ยมเอาท์เล็ตมาทำลายข้อจำกัดดังกล่าว เพราะแค่ในเบื้องต้นตอนนี้ก็ประกาศออกมาแล้วว่า จะทำลักชัวรี่พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต 3 แห่ง แถมไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นการรุกคืบไปสู่ต่างจังหวัดเป็นครั้งแรกของสยามพิวรรธน์ ถือเป็นรูปแบบธุรกิจรูปแบบใหม่ของสยามพิวรรธน์ ที่สะท้อนให้เห็นว่า วันนี้สยามพิวรรธน์พร้อมแล้วที่จะลงมาเล่นในระดับ Scalable ด้วยรูปแบบค้าปลีกที่สามารถทำซ้ำ เพิ่มจำนวนโครงการรูปแบบนี้ไปสู่พื้นที่ต่างๆ ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว

* ลักชัวรี่พรีเมี่ยมเอาท์เล็ตมาตรฐานสากล ถือเป็นแม่เหล็กตัวหนึ่งที่ประเทศไทยรอคอยมานาน ดังนั้นการผนึกกำลังกับยักษ์ใหญ่ของโลกที่เป็นตัวจริงในการสร้างลักชัวรี่พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต จะช่วยเติมเต็มและส่งผลดีกับการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักที่สำคัญของเศรษฐกิจประเทศ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ โดยปกติการสร้างเอาท์เล็ตที่หนึ่งๆ ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ถึง 150 ไร่ และในส่วนของเงินลงทุน ปกติๆ ในยุโรปจะใช้ประมาณ 3,000 – 3,500 ล้านบาทต่อแห่ง ซึ่งถ้าสร้างในประเทศไทยก็ไม่น่าจะใช้เงินลงทุนสูงถึงขนาดนั้น ดังนั้นเมื่อฟังคุณชฎาทิพ จูตระกูล บอสใหญ่สยามพิวรรธน์ ประกาศใช้เงินลงทุนถึง 10,000 ล้านบาทสร้างลักชัวรี่พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต 3 แห่ง หรือประมาณ 3,300 ล้านบาทต่อแห่ง โดยแห่งแรกมีพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 150 ไร่ แถมยังประกาศความมุ่งมั่นที่จะสร้างลักชัวรี่พรีเมี่ยมเอาท์เล็ตที่โดดเด่นและไม่เหมือนที่ใดๆ ในโลก จึงเป็นที่น่าจับตาว่า งานนี้ต้องไม่ธรรมดา และจะต้องมีความแปลกใหม่ที่น่าตื่นเต้นตามสไตล์สยามพิวรรธน์รออยู่อย่างแน่นอน นอกจากนี้ คาดว่าลักชัวรี่พรีเมี่ยมเอาท์เล็ตอีก 2 แห่งน่าจะเกิดขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่และภูเก็ต ซึ่งวันนี้มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในตลาดต่างจังหวัดเพียงรายเดียวเท่านั้น แต่ต่อจากนี้ไปจะมีรายใหญ่ 2 รายแข่งขันกัน นั่นเท่ากับว่าจะสร้างสีสันและสร้างความน่าตื่นเต้นให้กับค้าปลีกไทยเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เสริมเสน่ห์ประเทศไทย ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สร้างงานสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ รวมทั้งสร้างความคึกคักในเชิงของเศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยกำลังเดินมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเปลี่ยนโฉมค้าปลีกไทยในอนาคตก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้บริโภคแล้วยิ่งมีการแข่งขันกันมากเท่าไร ก็ยิ่งดีต่อผู้บริโภคเท่านั้น เพราะผู้ประกอบการต่างจะแข่งกันสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ และแข่งกันนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า และสุดท้ายแล้ว คนที่จะได้ประโยชน์ที่สุดก็คือผู้บริโภคนั่นเอง