อะไรทำให้บิ๊กซีปิ๊งไอเดียที่จะให้กำเนิดแพลตฟอร์มบิ๊กซีใหม่ครั้งแรกที่ สามย่านมิตรทาวน์ คำตอบนี้หาไม่ยาก ยิ่งถ้าเป็นคนที่คุ้นเคยกับ “สามย่าน” ลองถามตัวเองว่า คิดถึงสามย่าน คิดถึงอะไร
คนจำนวนไม่น้อยนึกถึงภาพตลาดสด ที่จำหน่ายทั้งของสดของแห้งที่มีคุณภาพ ซึ่งมีลูกค้าแวะเวียนมาจับจ่ายตลาดอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน รวมทั้งตลาดโต้รุ่ง และร้านอาหารบริเวณใกล้เคียง ที่รวมอาหารจานเด็ดขึ้นชื่อไว้มากมายระดับต้องตามมากินถึงที่
ความเป็นสามย่าน คือแหล่งรวมสินค้าอาหารสด อาหารแห้ง ที่อยู่ใกล้แหล่งค้าขาย ชุมชนเก่าแก่ มหาวิทยาลัย ศูนย์กลางคมนาคมอย่างรถไฟ รถไฟฟ้า รวมไปถึงโรงแรม และอาคารสำนักงาน ถ้าจะรวมย่านสามย่านไว้ด้วยกัน ก็ไม่ต่างจากห้างสรรพสินค้าแนวราบที่กินพื้นที่กว้างที่มีสินค้าให้เลือกครบทุกอย่าง อีกทั้งสามารถแวะเวียนมาได้ทุกเวลาที่ต้องการ เช่น อาหารเด็ดที่มีให้เลือกทานตั้งแต่เช้าถึงค่ำคืน
การพัฒนาพื้นที่บริเวณสามย่าน ทำให้ภาพความทันสมัยค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ รูปแบบของร้านค้าและบริการต่าง ๆ ก็ต้องปรับตัวตาม แม้แต่ตลาดสามย่านก็ยังต้องปรับรูปลักษณ์อาคารภายนอก รวมทั้งสถานที่ในตลาดสด และร้านอาหารที่อยู่มานาน ให้ดูสวยงาม ทันสมัยและสะอาดมากขึ้น
โครงการสามย่านมิตรทาวน์บริเวณหัวมุมตรงสี่แยกที่กำลังจะแล้วเสร็จ ก็จะเป็นสถานที่แห่งใหม่เพิ่มเติมสิ่งใหม่ ๆ ให้กับย่านนี้ เหมือนที่บิ๊กซีสาขาใหม่ที่จะเปิดในโครงการนี้ เลือกเปิดตัวด้วยรูปแบบใหม่ที่ปฏิเสธไม่ได้เลย ดึงเอาความเป็นสามย่านที่เคยมีมา มาใส่ไว้ในแพลตฟอร์มใหม่นี้ ในชื่อ “Big C FoodPlace” ซึ่งบิ๊กซีใช้เงินกว่า 40 ล้านบาท ปั้นแพลตฟอร์มใหม่นี้ขึ้น แล้วให้คอนเซ็ปต์ว่า “Urban Local Food Market” ที่มุ่งหวังผสานชีวิตของคนเมืองกับห้างสรรพสินค้าเข้าด้วยกัน
ไม่ผิดอะไรถ้าจะบอกว่า นี่คือการรวมความเป็นย่านสามย่าน มาไว้ในแพลตฟอร์มใหม่ของบิ๊กซี
คนไทยค่อนข้างคุ้นเคยกับบิ๊กซีในสามแพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ Hypermarket, Supermarket และ Mini Big C ซึ่งบิ๊กซีก็มีความเคลื่อนไหวมีการเปิดสาขาใหม่อย่างต่อเนื่องใน 3 แพลตฟอร์มนี้ รวมทั้งมีแผนจะเปิดสาขาแบบ Hypermarket เพิ่มอีก 3 สาขา เป็น 146 สาขา Supermarket อีก 1 สาขา เป็น 61 สาขา และ Mini Big C อีก 93 สาขา เป็น 780 สาขา รวมแล้วถึงสิ้นปีนี้หากเป็นไปตามแผน บิ๊กซีจะมีสาขารวม 987 สาขา บวกกับแพลตฟอร์มใหม่ ฟู้ดเพลสอีก 1 สาขา
ไอเดียนี้ ถึงกับทำให้ ธีรนันท์ กรศรีทิพา รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจรีเทล บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ กล่าวว่า
“เป็นแพลตฟอร์มที่จะมาเติมเต็มความสมบูรณ์แบบของสามย่านมิตรทาวน์ที่ตั้งเป้าเป็นคลังแห่งอาหารและการเรียนรู้ (Urban Life Library) เลยทีเดียว เพราะสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนเมือง ซึ่งมีเทรนด์ที่สนใจการทำอาหาร และรับประทานอาหารในรูปแบบของตัวเอง ให้สามารถมีทางเลือก โดยบิ๊กซีจะตั้งอยู่ในโซนพื้นที่ค้าปลีกที่เปิดให้บริการ 24 ชม. (24hrs Retail) ของโครงการ สำหรับรองรับผู้บริโภคที่ใช้งานทั้งส่วนอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม และโรงแรม กว่า 7,000 คน รวมทั้งรองรับลูกค้าจากภายนอกที่คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการในพื้นที่เฉลี่ยกว่า 25,000 คนต่อวันได้เต็มที่”
ขณะที่ วิภาดา ดวงรัตน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี กล่าวว่า แพลตฟอร์มใหม่นี้ เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าจะตอบสนองได้ตรงกับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า เพราะผ่านการคิดและออกแบบโดยปรับตามพฤติกรรมชีวิตของคนเมือง ภายใต้กลยุทธ์หลักว่า จะต้องตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าให้มากที่สุด (Maximize Customer Satisfaction)
โดยมองว่า กลุ่มลูกค้าหลักในพื้นที่นี้มีถึง 5 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มคนในวงการศึกษา นักศึกษา อาจารย์ กลุ่มพนักงานออฟฟิศโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน กลุ่มที่พักอาศัยในย่านนี้และบริเวณใกล้เคียง กลุ่มนักท่องเที่ยวคนเดินทาง และสุดท้ายคือกลุ่มคนทำงานฟรีแลนซ์ ที่มีทั้งต้องเดินทางไปนอกสถานที่ ทำงาน และอาจจะรวมถึงกินไม่เป็นเวลา
อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ย่านศูนย์กลางเมืองและมีการปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มใหม่ แต่บิ๊กซียืนยันว่า สิ่งที่ทำนอกจากปรับตัวให้เข้ากับผู้บริโภคและทำเล ยังมีเป้าหมายที่ต้องการให้ดูทันสมัยและมีคุณภาพขึ้น แต่ไม่ได้เน้นความเป็นพรีเมียม และมั่นใจว่าสิ่งที่คิดขึ้นใหม่นี้เป็นอะไรที่แตกต่างจากทั้งสิ่งที่บิ๊กซีเคยมี รวมถึงสิ่งที่ค้าปลีกค่ายอื่น ๆ มีอยู่ด้วย
ส่วนแนวคิดว่าจะขยายแพลตฟอร์มนี้ไปเปิดสาขาอื่นหรือไม่ วิภาดา กล่าวว่า ต้องขอเวลาดูอีกประมาณ 2 ปี ว่าแพลตฟอร์มนี้จะเติบโตได้ดีเพียงไร แต่ที่จะเกิดขึ้นก่อนแน่ ๆ คือ จะมีการนำบางส่วนของแพลตฟอร์มใหม่นี้ ไปปรับใช้ในสาขาเคยมีอยู่โดยเริ่มปรับปรุงไปบ้างแล้วในปีนี้ เช่นที่ สาขาชัยภูมิ, นครปฐม, สระแก้ว ราชดำริ และบางนา โดยส่วนที่นำไปปรับใช้ เช่น การเพิ่มบาร์ซูชิ เบเกอรี่ ในบางสาขา ฯลฯ
“ต้องรอดดูว่าแพลตฟอร์มนี้จะเติบโตได้แค่ไหน เพราะกลยุทธ์ที่ใช้ค่อนข้างจำกัดแค่ไลฟ์สไตล์คนเมืองยุคใหม่ที่ชอบความสะดวก เวลาน้อย ต้องการความรู้และประสบการณ์ใหม่” วิภาดา กล่าวทิ้งท้าย