ไทยแลนด์โอนลี่ ! เสริมโชค เรียกทรัพย์ อินไซต์แบบไทยๆ แบงก์ใช้ปั้นเพย์เมนต์แอป

ถึงยุคที่แบงก์ไทยพร้อมใจกันผลักดันให้ร้านค้าใหญ่ เล็ก ทั้งบนห้าง ตามตรอกซอกซอย แผงในตลาด เปลี่ยนมาใช้การชำระเงินแบบดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ด้วยระบบการสแกนคิวอาร์โค้ดที่ใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีก็รับจ่ายกันได้ทันที 

แต่สำหรับคนไทย ต่อให้เทคโนโลยีจะง่ายแค่ไหน ก็ยังไม่สามารถจูงใจหรือดึงความสนใจให้หันมาใช้งานได้ดีเท่าการเติมสรรพคุณทางใจด้วยการเสริมโชค เรียกทรัพย์ ให้กับการใช้งานสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มเติมเข้ามาในชีวิต

จะด้วยความสนุกหรือถือโชคถือดวงจริงจังก็แล้วแต่ แต่ที่แน่ ๆ มันคือสิ่งที่สะท้อนมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย และได้ผลในการหยิบยกมาทำการตลาดแม้แต่กับเรื่องที่เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ไม่เช่นนั้นคงไม่เป็นกระแสที่ทุกธนาคาร แทบจะทำตาม ๆ เหมือนกันหมดทุกรายเลย

เริ่มจากธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เปิดฉากเปิดตัวการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด ด้วยแคมเปญ “SCB EASY PAY – แม่มณี Money Solution” ที่แปลงแอปพลิเคชั่นให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของนางกวักที่ต้องมีประจำร้านค้าทั่วไทย ด้วยการศึกษาอินไซต์แล้วแปลงเป็นเทคนิคที่คิดมาอย่างดีแล้ว การเกาะติดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี่แหละ ที่จะทำให้ผู้ใช้นึกถึงการใช้งานคิวอาร์โค้ดที่เป็นของใหม่ได้ดีที่สุด

“แม่มณี เป็นนางกวักยุคดิจิทัล คาแร็กเตอร์น่ารัก ที่คิดขึ้นเพื่อสร้างภาพลักษณ์ การจดจำ และสร้างความชื่นชอบใน SCB EASY PAY กับกลุ่มเป้าหมาย แม่ค้า และผู้ใช้งานทั่วไป เป็นไอเดียที่ได้จากอินไซต์ของร้านค้าที่เชื่อว่า นางกวักจะเชิญชวนลูกค้าให้เข้าร้าน ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวไว้ในการเปิดตัวแคมเปญ

การเปิดตัวแคมเปญครั้งนั้นจะเห็นได้ว่า แม้เอสซีบีจะมีการใช้ดาราดังอย่าง ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ในฐานะตัวแทนร้านค้า แต่พรีเซ็นเตอร์ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้รีมายด์ถึงการใช้งานคิวอาร์โค้ดได้เท่ากับแม่มณี ซึ่งจะปรากฏตัวอยู่ ณ จุดขายของร้านค้าทุกแห่งที่ใช้บริการ

เรื่องราวของแม่มณียังมีพัฒนาการต่อเนื่องแบบไทย ๆ เมื่อมีวัดดังนำตุ๊กตาแมสคอตแม่มณี ที่เอสซีบีผลิตมาแจกให้ผู้ใช้งานเพิ่มเติมเพื่อทำโปรโมชั่นหลังจากนั้น ถูกนำไปปลุกเสกเพิ่มความขลัง ให้ผู้ชื่นชอบของดีบูชากันเป็นเรื่องเป็นราวได้อีก

แถมภาพยนตร์โฆษณาภาคต่อของแม่มณีเอง ก็ขยายจากนางกวักในร้านค้า ไปเป็นของขลังที่ห้อยไว้หน้ารถที่คนขับแท็กซี่อีกกลุ่มเป้าหมายของเอสซีบีนิยมใช้กัน ซึ่งนอกจากได้อินไซต์ก็สามารถสื่อถึงการใช้แอปที่แก้ปัญหาการขาดแคลนเงินทอนค่าแท็กซี่ไปพร้อมกัน

หลังจากแม่มณี แอปพลิเคชั่นสำหรับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดของแบงก์อื่น ๆ ก็มาในแนวมงคลเรียกทรัพย์ตาม ๆ กัน ชื่ออะไรที่ว่าดี เป็นมงคล ด้ายความมั่งคั่งร่ำรวย ก็ถูกคิดนำมาใช้กัน

เว้นแต่กสิกรไทยที่ออกไปแนวอินเตอร์หน่อยด้วยการใช้ แมสคอตปิ๊บจัง เป็นแมวกวักญี่ปุ่น ที่ออกมาก่อนหน้าแม่มณี แม้จะดูอินเตอร์แต่ก็เป็นแนวเรียกโชค เรียกทรัพย์ที่ร้านค้านิยมใช้กัน

*** กรุงศรี มั่งมี ต่อให้หมอดูฮวงจุ้ยก็ไม่สู้ทำเรื่องเงินให้เป็นเรื่องง่าย 

ด้านธนาคารกรุงศรี เมื่อพร้อมปล่อยให้บริการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด เมื่อเดือนมีนาคมเป็นต้นมา หลังจากนั้นก็เริ่มใช้ไอเดียแบบไทย ๆ ในการสื่อสารเพื่อเพิ่มยอดผู้ใช้เช่นกัน โดยใช้ดีเอ็นเอเรื่องเงินเรื่องง่าย ของธนาคารเป็นหลัก แล้วเสริมด้วยสรรพคุณเรื่องการทำการค้าแล้วเฮงเรียกทรัพย์ ที่ KrungsriMungMee หรือ กรุงศรี มั่งมี

เป็นความพยายามที่จะสื่อสารให้โดนใจแม่ค้า ด้วยการสร้างความรู้สึกว่า แอปพลิเคชั่นนี้เป็นสิ่งที่ต้องมีไว้ ซึ่งกรุงศรีเลือกจูงเข้าเรื่องด้วยสไตล์ซินแซหมอดูฮวงจุ้ย เป็นมุกที่แม่ค้าพ่อค้าไทยเข้าใจตรงกันดีว่า ความเชื่อเรื่องนี้ไม่น้อยกว่าความเชื่อเรื่องอื่น ๆ ในการทำการค้าขาย

แต่สุดท้ายหัวใจสำคัญของเรื่องคือการโยงเข้าแอปพลิเคชั่น กรุงศรี มั่งมี ที่ช่วยคลี่คลายปัญหาทุกเรื่องเงินของร้านค้าย่อยเท่านั้นเอง

​*** เมื่อใคร ๆ ก็อยากมี เป๋าตุง ให้อุ่นใจเรื่องเงิน เป๋าตุง กรุงไทย จัดให้พร้อมโปรโมชั่น

ด้านธนาคารกรุงไทย เลือกใช้ชื่อแอปพลิเคชั่นสำหรับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด ว่า เป๋าตุง กรุงไทย เป็นคีย์เวิร์ดเพื่อสื่อถึงการค้าขายดี แต่เท่านี้ไม่พอ โดยเฉพาะสำหรับบริการที่เปิดตัวทีหลัง เพราะฉะนั้นด้วยฐานบัญชีผู้ใช้ที่มีจำนวนมากไม่แพ้แบงก์ใหญ่รายอื่น ธนาคารกรุงไทยจึงเลือกใช้วิธีอัดโปรโมชั่นมาช่วยดันยอดผู้ใช้ไปพร้อม ๆ กัน

โปรโมชั่นนั้นเน้นใช้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ใช้ชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด เพราะคอนเซ็ปต์ของแคมเปญบอกไว้ชัดเจนว่า ลูกค้ายิ่งตื๊ดเจ้าของร้านยิ่งมีสิทธิ์ได้ทอง โดยจะได้ลุ้นทันทีหนึ่งสิทธิ์เมื่อลูกค้าชำระผ่านคิวอาร์โค้ดขั้นต่ำ 20 บาทต่อรายการขึ้นไป

โปรโมชั่นนี้เริ่มมาตั้งแต่วัน 15 พฤษภาคม และจะไปสิ้นสุดในวันที่ 15 สิงหาคม 2018 รางวัลที่จัดมาแจกกันก็ไม่น้อย เพราะมีให้ลุ้นทองคำสัปดาห์ละ 5 รางวัล รวมมูลค่าของรางวัลทั้งหมดแล้วเกือบ 1 ล้านบาท

ทั้งนี้ การชำระเงินด้วยระบบ QR Code จะแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ แบบคิวอาร์โค้ดที่กำหนดราคาเดียวไว้ตายตัว เมื่อสแกน QR Code ระบบจะทำการชำระตามราคาที่ได้กำหนดไว้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าราคาเดียวกันทั้งร้าน

แบบใส่จำนวนเงินตามราคาที่แปรผันตามสินค้าแต่ละชนิด สำหรับร้านค้าที่มีสินค้าและบริการราคาแตกต่างกัน โดยจะมีการแยก QR Code ตามแต่ประเภทและชนิดของสินค้า ซึ่งทำให้ร้านค้า 1 แห่งอาจมีมากกว่า 1 QR Code

สรุปผลตอบรับคิวอาร์โค้ดแรงเพราะความง่าย ความขลัง หรือโปรโมชั่น โดยแต่ละธนาคารมีการตั้งเป้าหมายระดับสังคมไร้เงินสดที่ต่างกันไป เช่น ความแรงของแม่มณี ทำให้จากเดิมที่เอสซีบีตั้งเป้าร้านค้าใช้งานคิวอาร์โค้ดในสิ้นปี 2018 นี้ไว้จำนวน 7 แสนจุด ต้องปรับเพิ่มเป็น 1 ล้านจุด

ธนาคารกรุงศรีคาดว่าสิ้นปี จะมีร้านค้าที่ใช้คิวอาร์โค้ดประมาณ 1-2 แสนบัญชี (ร้านค้า) ส่วนธนาคารกสิกรไทย QR Code ไปพร้อม ๆ กับโปรโมต K PLUS SHOP ซึ่งคาดว่าสิ้นปีจะมีผู้ใช้จำนวน 2 แสนราย (ร้านค้า)

ขณะที่ธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีผู้ใช้คิวอาร์โค้ดอยู่ประมาณ 1 แสนราย และธนาคารกรุงเทพซึ่งมีร้านค้าที่ใช้งานคิวอาร์โค้ดจำนวน 17,000 ราย ต่างคาดว่าที่จะผลัดดันยอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นในปีนี้.