ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจและบริการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยถึงการปรับเปลี่ยนบทบาทของ CAT จากผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและระหว่างประเทศด้วยมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมาเป็น Digital Service Provider หรือผู้ให้บริการด้านดิจิทัลครบวงจรว่า CAT ได้ต่อยอดจากศักยภาพและจุดแข็งที่มีอยู่เดิมเพื่อร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยในภาคส่วนต่าง ๆ ให้สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาตอบโจทย์การพัฒนาภารกิจให้มีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็วเพิ่มขึ้น สะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยใช้งบประมาณหรือมีต้นทุนที่ลดลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนไทยแลนด์ 4.0
“CAT มีความมั่นใจในคุณภาพบริการของเราที่มีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องในหลากหลายด้าน โดย ล่าสุดสถานีเคเบิลใต้น้ำทั้ง 4 แห่งได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001:2015 ทั้งนี้ CAT ได้ผ่านการประเมินมาตรฐาน ISO ในหลากหลายบริการ เช่น ศูนย์ Security Operation Center สถานีดาวเทียมนนทบุรี ศูนย์ดาต้าเซนเตอร์ CAT Contact Center 1322 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล Frost & Sullivan Thailand Excellence Awards จากบริษัท ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาและวิจัยระดับโลกมาอย่างต่อเนื่องในการให้บริการด้าน IT Security Service, Cloud, Smart City ซึ่งนับเป็นความภูมิใจอย่างยิ่งที่เราสามารถพัฒนาและรักษามาตรฐานการให้บริการได้อย่างหลากหลายและต่อเนื่องมาโดยตลอด”
สำหรับบทบาทใหม่ในการเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลครบวงจรนั้น CAT ต่อยอดจากจุดแข็งต่าง ๆ ขององค์กรในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านการสื่อสารของชาติที่จะต้องเตรียมพร้อมและรองรับการนำเทคโนโลยีที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงใหม่มาให้บริการทันกับความต้องการทั้งของภาครัฐและเอกชนที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพนอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่มีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นการให้บริการวงจรสื่อสารทั้งในประเทศและระหว่างประเทศในรูปแบบต่าง ๆ บริการอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เชื่อมโยงถึงกันได้แล้ว CAT ยังได้ให้บริการที่จะเติมเต็มให้หน่วยงานภาครัฐมีความพร้อมในการให้บริการกับประชาชนมากขึ้น เช่น โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งได้สำเร็จดำเนินการให้กับจังหวัดภูเก็ตแล้วเสร็จด้วยการวางโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูง Free Wi-Fi 1.000 จุด และอุปกรณ์ Beacon 2,000 จุด รวมทั้งการนำโครงข่ายสื่อสารไร้สาย LoRaWan (Long Range Wide Area Network) มาให้บริการ IoT ครอบคลุมพื้นที่ใช้งานของประชาชนทั่วจังหวัดภูเก็ต พร้อมจัดทำแอปพลิเคชัน Smart Phuket 4.0 ซึ่งทำให้ทั้งประชาชนในจังหวัดภูเก็ตและนักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกและเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ และมีโครงสร้างโทรคมนาคมพื้นฐานที่พร้อมจะรองรับการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาจังหวัดต่อไปในอนาคตและเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของจังหวัดต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีบริการ Big Data Sandbox สำหรับทดลองวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ผ่านคลาวด์ที่ CAT ได้นำเสนอหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้นำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อการนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น
CAT ยังพร้อมให้บริการแอปพลิเคชันในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการร่วมมือกับพันธมิตรในภาคเอกชนเพื่อเป็นการสนับสนุนและสร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วและเกิดประโยชน์กับภาพรวมในการพัฒนาประเทศที่ทุกภาคส่วนต้องก้าวเดินไปด้วยกันโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้มากขึ้น
“ทั้งนี้สิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งอีกสิ่งหนึ่งก็คือความเชื่อมั่นและเชื่อถือของบริการหลากหลายรูปแบบที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยียังได้นำภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีลักษณะการโจมตีที่ซับซ้อนและรุนแรงตามมาด้วย ซึ่งเราตระหนักว่ามีอันตรายและก่อผลเสียได้อย่างมากมาย เช่น การสูญเสียข้อมูลสำคัญ ความเชื่อมั่น ฯลฯ เราจึงพยายามเน้นย้ำในการให้ความรู้และการป้องกันในทุกมิติผ่านศูนย์ปฏิบัติการ Security Operation Center (SOC) ที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเฝ้าระวังภัยคุกคามระบบเครือข่ายและพร้อมตอบสนองต่อทุกเหตุการณ์อย่างทันท่วงทีตลอด 24 ชั่วโมง CAT จึงมั่นใจว่าเราจะสามารถให้บริการและดูแลทั้งหน่วยงานภาครัฐ/เอกชนที่ต้องการปรับเปลี่ยนและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าอย่างแน่นอนิ”ดร.ดนันท์ กล่าวในที่สุด