เมื่อเร็ว ๆ นี้ หัวเว่ยได้เผยรายงาน Huawei ICT Sustainable Development Benchmark 2018 ระบุว่า ประเทศที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีจะสามารถก้าวรุดหน้าได้เร็วกว่าและมีศักยภาพที่เหนือกว่าในการบรรลุสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals: SDG) รายงานฉบับดังกล่าวได้ประเมินความเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีไอซีทีกับความก้าวหน้าตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติใน 49 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย
รายงานของหัวเว่ยเผยว่า การพัฒนาด้านไอซีทีมีส่วนสัมพันธ์กับระดับความก้าวหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติถึงร้อยละ 91 แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีไอซีทีเป็นปัจจัยบ่งชี้หลักที่ส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสะท้อนผลการประเมินที่ดีขึ้นจากปีก่อน แม้จำนวนประเทศที่นำมาวิเคราะห์จะเพิ่มขึ้นจาก 15 เป็น 49 ประเทศในปีนี้ก็ตาม
สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ ที่นำมาพิจารณานั้นประกอบด้วย 6 เป้าหมายสำคัญ ได้แก่ สุขภาพและความกินดีอยู่ดี (SDG 3), คุณภาพการศึกษา (SDG 4), ความเท่าเทียมกันทางเพศ (SDG 5), พลังงานสะอาด (SDG 7), อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (SDG 9) และความเป็นเมืองที่ยั่งยืน (SDG 11)
รายงานพบว่า เป้าหมายที่ 3 (สุขภาพและความกินดีอยู่ดี) เป้าหมายที่ 4 (คุณภาพการศึกษา) และเป้าหมายที่ 9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน) มีความเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีไอซีทีมากที่สุด คือ ร้อยละ71 , 73 และ 65 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายดังกล่าว และยังช่วยเร่งผลักดันขีดความสามารถของประเทศ โดยเฉพาะในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจ ที่แม้การลงทุนด้านไอซีทีเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลให้คะแนนสู่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
รายงานยังบ่งชี้ด้วยว่าการเข้าถึง การใช้งาน และทักษะด้านเทคโนโลยีไอซีทีนั้นเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของแต่ละประเทศอย่างชัดเจน โดยในรายงานได้จัดกลุ่มประเทศต่าง ๆ ออกเป็นสามระดับด้วยกันคือ ระดับชั้นนำ ระดับก้าวหน้า และระดับแรกเริ่ม ประเทศที่มีศักยภาพด้านไอซีทีที่ดีจะมีระดับพัฒนาการสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติที่ดีด้วยเช่นกัน ในทางกลับกัน ประเทศที่ขาดการพัฒนาด้านไอซีทียังคงรั้งท้ายในการบรรลุสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ โดยประเทศไทยจัดอยู่ในระดับก้าวหน้า ด้วยคะแนน 60.5 คะแนน
“หัวเว่ยเชื่อว่า การเร่งยกระดับขีดความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัล จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาที่เร่งด่วนที่สุดของสังคมได้” มร. เควิน (จิงเหวิน) เทา ประธานคณะกรรมการการพัฒนาองค์กรที่ยั่งยืน บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด กล่าว พร้อมเสริมว่า “หากประเทศใดไม่คว้าโอกาสที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัลเอาไว้ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้นย่อมช้าลงไปด้วย”
“รายงานนี้แสดงให้เห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2573 หรืออีกเพียง 12 ปีข้างหน้าเท่านั้น” มร. เทากล่าว “เราได้ขยายขอบเขตรายงานให้ครอบคลุมมากขึ้นจากปีที่แล้ว โดยเน้นตอบคำถามที่ว่า การเชื่อมโยงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคมได้หรือไม่ เป็นต้นว่า เทคโนโลยีไอซีทีจะช่วยส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น รวมไปถึงสร้างงานและลดความเหลื่อมล้ำลงได้”
“เราหวังว่ารายงานฉบับนี้จะช่วยให้ผู้คนหันมาตระหนักเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีไอซีทีกันอย่างจริงจัง และหวังว่าจะช่วยส่งเสริมการวิเคราะห์นโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรรค์สร้างโลกที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น และมาพร้อมกับความเจริญก้าวหน้า การเปิดกว้างทางความคิด และการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในภายภาคหน้า” มร. เทากล่าว
สามารถดูรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://www.huawei.com/en/sustainability หรือ http://www-file.huawei.com/-/media/CORPORATE/PDF/Sustainability/sdg/huawei-2018-sdg-report.pdf?la=en&source=corp_comm
ระเบียบวิธีวิจัย
สำหรับงานวิจัยฉบับนี้ หัวเว่ยได้วิเคราะห์ประเทศต่าง ๆ 49 ประเทศ ซึ่งรวมถึง 15 ประเทศที่ได้ศึกษาวิจัยไปเมื่อปีที่แล้ว ครอบคลุมกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์และพัฒนาการด้านไอซีที และประเมินเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ และประสิทธิภาพด้านไอซีที โดยอาศัยเกณฑ์ชี้วัด 4 ข้อสำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 6 ด้าน และอีก 11 ข้อสำหรับด้านไอซีที รวมถึงดัชนีการพัฒนาไอซีที (ICT Development Index) ตัวล่าสุดของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศด้วย หัวเว่ยได้แบ่งพิจารณาด้านประสิทธิภาพด้านไอซีทีและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ เพื่อทดสอบหาความเชื่อมโยง แล้วจึงสรุปรวบรวมข้อมูลเป็นมาตรฐานชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านไอซีที (ICT SDG Benchmark)
เกี่ยวกับหัวเว่ย
หัวเว่ย ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสมาร์ทดีไวซ์ ด้วยโซลูชั่นที่ผสมผสานในสี่กลุ่มหลัก คือ เครือข่ายโทรคมนาคม, ไอที, สมาร์ทดีไวซ์ และบริการคลาวด์ บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่การใช้งานทุกระดับเพื่อทุกผู้คน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อขับเคลื่อนโลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ โซลูชั่นและบริการที่ครบวงจรของหัวเว่ยเปี่ยมด้วยศักยภาพด้านการแข่งขันและเชื่อถือได้ จากการทำงานร่วมกับพันธมิตรในระบบนิเวศแบบเปิด หัวเว่ยสามารถสร้างมูลค่าระยะยาวให้กับลูกค้า เสริมสมรรถนะของผู้คน ช่วยให้การใช้ชีวิตที่บ้านมีความสะดวกสบาย และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนวัตกรรมในองค์กรทุกรูปแบบและทุกขนาด นวัตกรรมของหัวเว่ยเน้นตอบสนองตามความต้องการของลูกค้า เราทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลในด้านการวิจัย เน้นค้นหานวัตกรรมด้านเทคนิคใหม่ ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนโลกของเราให้ก้าวไปข้างหน้า เรามีพนักงานกว่า 180,000 คน ดำเนินธุรกิจในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก หัวเว่ยก่อตั้งขึ้นในปี 2530 และเป็นบริษัทเอกชนที่มีพนักงานเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของหัวเว่ย ได้ที่ www.huawei.com
ติดตามเราได้ที่
http://www.linkedin.com/company/Huawei
http://www.facebook.com/Huawei