ตั้งแต่สมัยโบราณมา การค้าขายหรือการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ ระหว่างประเทศ ต้องอาศัยการเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก ดังนั้น “เรือ” จึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการค้าขาย และการเดินทาง และจากการค้าขายแลกเปลี่ยนที่นำพาความความรู้ ความเจริญรุ่งเรืองมาสู่เมืองต่างๆ นี้เอง “เรือสำเภา” จึงเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์และความสำเร็จ และยิ่งเป็นเรือสำเภาขนาดใหญ่ ก็จะสามารถเดินทางฝ่าคลื่นลมได้เป็นระยะไกล และนำพาสินค้า ความรู้ ไปยังจุดหมายปลายทาง หรือ “ไปได้ถึงฝั่ง” บริษัทหรือองค์กรที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการค้าขายหลายๆ แห่ง จึงนิยมใช้เรือสำเภาเป็นสัญลักษณ์ประจำบริษัท
เมื่ออ้างอิงจากแนวคิดและสัญลักษณ์ดังกล่าว จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) ผู้นำในด้านศูนย์แสดงสินค้า นิทรรศการ และการประชุมในภูมิภาคเอเชีย ได้สอดแทรกสัญลักษณ์นี้เข้าไปในคอนเซ็ปต์การออกแบบทั้งภายในและภายนอกอย่างลงตัว
ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เป็นศูนย์ฯ แห่งแรกในเมืองไทยที่ตั้งขึ้นมาเพื่อธุรกิจแสดงสินสินค้า และการประชุมโดยเฉพาะ ด้วยความต้องการที่จะสร้างศูนย์แสดงสินค้าที่ไร้เสาค้ำยันในอาคาร เพื่อให้ทุกตารางเมตรเกิดประโยชน์สูงสุด ผู้จัดงานสามารถจัดงานได้เต็มพื้นที่ และยังเอื้อต่อการขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่อีกด้วย การออกแบบและก่อสร้างจึงใช้หลักการเดียวกับการสร้างสะพานแขวน โดยใช้เทคนิคเสากระโดงขนาดใหญ่ติดตั้งเคเบิ้ลสำหรับดึงโครงทรัสหลังคามาประยุกต์ใช้กับอาคารให้ภายในปราศจากเสาค้ำ ซึ่งหากมองในมุมของคนทั่วไป จะเห็นเหมือนมีเสากระโดงเรืออยู่บนหลังคาอาคารจริงๆ จนทำให้ดีไซน์เสากระโดงดังกล่าว เป็นเอกลักษณ์ของไบเทคที่ทุกคนจดจำได้เป็นอย่างดี
เมื่อมาถึง “ภิรัช คอนเวนชั่น เซนเตอร์” โซนใหม่สุดอลังการ ส่วนหนึ่งของการขยายพื้นที่ล่าสุดของไบเทค ก็มีการออกแบบที่สอดคล้องกันกับส่วนดั้งเดิม โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากดีไซน์เสากระโดงซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไบเทคเช่นเคย พร้อม สะท้อนจุดเด่นด้านการออกแบบที่มีความร่วมสมัย สะดวกสบาย และมีความยืดหยุ่นสูง ตอบรับกับความต้องการที่หลากหลายของผู้จัดงาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานการประชุมระดับนานาชาติ งานสัมมนา งานเลี้ยงสังสรรค์ งานนิทรรศการ รวมถึงงานเฉลิมฉลองในวาระพิเศษต่างๆ
งานออกแบบ “ภิรัช คอนเวนชั่น เซนเตอร์” เป็นการร่วมมือระหว่างสองบริษัทยักษ์ใหญ่ ได้แก่ บริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล (Design 103 International) และบริษัท พี ไอ เอ อินทีเรีย (PIA) ที่ทำงานร่วมกันเพื่อถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของไบเทคให้กลายเป็นจริง และส่งเสริมความเป็นผู้นำด้านการจัดแสดงอุตสาหกรรมการจัดประชุมและงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และงานอีเว้นท์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้านงานสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมของ ภิรัช คอนเวนชั่น เซนเตอร์ ถูกออกแบบและดูแลโดย บริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล นำทีมโดย คุณวิญญู วานิชศิริโรจน์ รองประธานบริหาร กล่าวถึงการออกแบบว่า “ดีไซน์เสากระโดงไร้เสาค้ำยันนี้ เป็นเทคนิคที่ประยุกต์จากการก่อสร้างสะพานและสนามกีฬา ซึ่งไบเทคถือเป็นที่แรกในประเทศไทยที่นำเทคนิคเสากระโดงขนาดใหญ่ติดตั้งเคเบิ้ลมาประยุกต์ใช้ เพื่อเอื้อต่อพื้นที่ใช้สอยด้านล่างได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยความล้ำหน้าในด้านสถาปัตยกรรมส่งผลให้การก่อสร้างสามารถดึงประสิทธิภาพที่สูงที่สุดของเหล็กทุกชิ้นที่ใช้ ซึ่งช่วยประหยัดทรัพยากรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย”
“ความท้าทายที่สำคัญ คือโครงสร้างหลังคาเหล็กในส่วนพื้นที่โถงแสดงสินค้าและนิทรรศการ (อีเว้นท์ฮอลล์ 100) ด้วยความยาวพิเศษมากกว่า 108 เมตร และสูงถึง 25 เมตร จึงจำเป็นต้องออกแบบอาคารดังกล่าวแบบไร้เสาเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้พื้นที่จัดงานสำคัญต่างๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งงานคอนเสิร์ตเวิลด์ทัวร์ระดับโลก ตลอดจนงานแสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติขนาดใหญ่” คุณวิญญู กล่าวเพิ่มเติม
ส่วนการตกแต่งภายในของภิรัช ฮอลล์และห้องประชุมย่อยนั้น ได้รับการดูแลจากบริษัทออกแบบชั้นนำของประเทศไทย อย่าง พี ไอ เอ อินทีเรีย (PIA) โดย คุณกิตติ วัชรรัตนากุล มัณฑนากรผู้ดูแลการตกแต่งภายใน กล่าวว่า “การออกแบบตกแต่งภายในของ ภิรัช คอนเวนชั่น เซนเตอร์ นั้น เราได้รับแรงบันดาลใจจากเส้นทางการค้าสำคัญๆ ของโลก เพื่อสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในด้านศูนย์แสดงสินค้า นิทรรศการและการประชุมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของไบเทค เปรียบเช่นเดียวกับเมืองท่าสำคัญๆ ของโลกในสมัยโบราณ ที่มีฐานะเป็นศูนย์กลางการขนย้ายผู้คน สินค้า กระทั่งความรู้จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง และในฐานะประตูบานแรกที่เชื่อมโยงเมืองๆ หนึ่งเข้ากับโลกภายนอก”
การดีไซน์ของแต่ละห้องประชุมย่อย และโซนบริเวณพื้นที่สาธารณะ เน้นการอำนวยความสะดวกให้แก้ผู้ร่วมงานเป็นหลัก ด้วยดีไซน์หลังคาสูง และเก้าอี้ที่ที่นั่งสบาย ซึ่งอำนวยให้ผู้ร่วมงานสามารถนั่งได้ยาวนานโดยไม่รู้สึกแคบหรืออึดอัด ทั้งการประชุม เวิร์คช๊อป และอื่นๆ
ส่วนโซน pre-function และบริเวณทางเชื่อมต่อห้องโถงภายนอกที่กว้างขวาง ซึ่งเชื่อมห้องคอนเวนชั่นและห้องประชุมด้วยกัน ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติที่สวยงามรอบตัว ไม่ว่าจะเป็น พระอาทิตย์ พระจันทร์ ภูเขา ดอกไม้ และท้องฟ้า ถ่ายทอดออกมาเป็นเอเทรียมโซนในเฉดสีสันสดใส ทั้งส้ม เหลือง เขียว แดง และฟ้า เพิ่มคาแรคเตอร์และชีวิตชีวาให้กับพื้นที่แต่ละบริเวณอย่างลงตัว เอื้อต่อการพูดคุยและพบปะสังสรรค์ก่อนงาน
“การออกแบบตกแต่งภายในของ ภิรัช คอนเวนชั่น เซนเตอร์ จึงเน้นความเชื่อมโยงของวิถีชีวิตของผู้คนที่หลากหลาย สะท้อนให้เห็นการปะทะและหลอมรวมกันของผู้คนจากวัฒนธรรมต่างๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์และการเติบโตต่อไป อาทิ ห้องประชุมซิลค์ นำชื่อมาจากเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าที่สำคัญระหว่างประเทศจีนกับทวีปยุโรป ห้องประชุมแอมเบอร์ มาจากชื่อเส้นทางสายอำพัน อันเป็นเส้นทางการค้าสำหรับการขนส่งอำพันที่เชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชีย และจากตอนเหนือของยุโรปไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และ ห้องประชุมไนล์ มาจากชื่อของแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก ไหลผ่านเมืองท่าการค้าที่สำคัญในประเทศต่างๆ ของทวีปแอฟริกา นอกจากนี้ สีสันต่างๆ ที่เลือกใช้ในการตกแต่งจะเป็นโทนสีอบอุ่น (warm tone) และเลือกใช้วัสดุที่เป็นไม้เป็นหลัก เพื่อสะท้อนถึงการเจริญเติบโต และความยั่งยืน” คุณกิตติ กล่าวเสริม