มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี (GC) ประกาศความร่วมมือโครงการส่งเสริมการจัดตั้งธนาคารขยะรีไซเคิล เพื่อตอกย้ำพันธกิจในการร่วมแก้ปัญหาขยะมูลฝอยในประเทศ พร้อมร่วมมือพัฒนาระบบธนาคารขยะรีไซเคิลออนไลน์ นำร่องโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดระยอง
ด้วยความตระหนักในปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือผลักดันให้เกิดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม สององค์กรระดับประเทศ นำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ นางวราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการในรูปแบบโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ที่จัดตั้งขึ้นให้กับโรงเรียนโดยรอบ พร้อมมุ่งเน้นให้นักเรียนหรือเยาวชนมีความตระหนักและเข้าใจในการจัดการปัญหาขยะของชุมชนต่อไป ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
ศ. นพ. บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “มหาวิทยาลัยมหิดลเล็งเห็นขยะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง การร่วมมือกับ GC ในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการวิจัยในด้านการบริหารจัดการขยะในเขตชุมชน พร้อมต่อยอดและพัฒนาระบบสารสนเทศธนาคารขยะรีไซเคิล (Recycle Bank Online Service) ที่ทางมหิดลได้ริเริ่มไว้ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นโปรแกรมต้นแบบนำร่องสำหรับโรงเรียนอื่น ๆ ในประเทศไทย ในการบริหารจัดการขยะในชุมชนต่อไป”
นางวราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เผยว่า “GC เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน และการสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดเก็บและแยกขยะพลาสติก ตลอดจนการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ให้สามารถจำหน่ายในตลาดได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชน ตลอดจนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิด Circular Economy หรือ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน”
“เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการจัดการข้อมูลธนาคารขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมพร้อมขยายเครือข่ายโรงเรียนธนาคารขยะกว่าอีก10 โรงเรียน ในพื้นที่จังหวัดระยอง เพื่อปลูกจิตสำนึกสู่เยาวชนในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ให้นักเรียนรู้จักการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และสามารถนำไปขายเพื่อให้เกิดรายได้อีกด้วย” นางวราวรรณ กล่าวเสริม
สำหรับโครงการธนาคารขยะดังกล่าว นักเรียนจะนำขยะที่เก็บรวบรวมจากที่บ้าน นำมาขายที่ธนาคารขยะของโรงเรียน โดยขยะรีไซเคิล ถูกแบ่งแยกย่อยตามผลิตภัณฑ์และราคารับซื้อ 14 ประเภทด้วยกัน เช่น กระดาษขาว-ดำ กระดาษกล่องสีน้ำตาล กระดาษหนังสือพิมพ์ กระป๋องเครื่องดื่มอะลูมิเนียม ขวดแก้วเหล้าเบียร์ ขวดน้ำพลาสติกใส ขวดพลาสติกขุ่น ท่อพีวีซี เหล็ก เป็นต้น เมื่อคัดแยก ชั่งขยะ และคิดราคาแล้ว นักเรียนที่นำขยะมาขายก็จะมีสมุดบัญชีรับฝาก บันทึกไว้เป็นหลักฐาน และสามารถฝากถอนเป็นเงินได้
ด้านมหาวิทยาลัยมหิดล จะเตรียมพัฒนาโปรแกรมระบบธนาคารขยะรีไซเคิลออนไลน์ เพื่อช่วยในการจัดเก็บข้อมูลขยะรีไซเคิลให้มีความถูกต้องแม่นยำ และบริหารจัดการสร้างฐานข้อมูลการคัดแยกขยะในระดับชุมชนให้เป็นระบบ เอื้อต่อการต่อยอดสู่งานวิจัยในหลากหลายสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ทางมหาวิทยาลัยมหิดลคาดหวังว่า ผลของโครงการนี้จะถูกต่อยอดจากโรงเรียนไปสู่ชุมชน และเป็นแบบอย่างให้กับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศต่อไป” ศ. นพ. บรรจง กล่าวทิ้งท้าย
Related