เวทีการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2561 “การเปลี่ยนผ่านไปสู่วาระแห่งนวัตกรรมด้านการค้าและการพัฒนาเพื่อการบูรณาการของภูมิภาค”

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) และกระทรวงพาณิชย์ จัดการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2561 ในวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2561 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ  โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการสานต่อจากการประชุมในปี 2560 ซึ่งกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นฐานของนโยบายที่เอื้อต่อการสร้างแนวคิดใหม่ๆ ด้านการค้าและการพัฒนา เพื่อการรวมตัวในระดับภูมิภาค

ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการ ITD กล่าวว่า “เวทีการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2561 ภายใต้หัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านไปสู่วาระแห่งนวัตกรรมด้านการค้าและการพัฒนาเพื่อการบูรณาการของภูมิภาค” (Transformation towards Innovative Trade and Development Agenda for Regional Integration) เป็นเวทีในการสื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และระดมความคิดเห็นในประเด็นใหม่ๆ ด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาในภูมิภาค ตลอดจนประเด็นท้าทายที่มีผลกระทบต่อการค้าและการพัฒนา และเพื่อเชื่อมโยงและกระตุ้นให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติการด้านการค้า การลงทุนที่สนองตอบต่อโลกยุคใหม่และการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะในปัจจุบันกระแสโลกาภิวัฒน์แบบรุนแรง (Hyper Globalization) การปฏิวัติอุตสาหกรรม รอบที่ 4 (Industrial 4.0) และการพัฒนาเศรษฐกิจ ดิจิทัล (Digital Economy) เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งโอกาสและการคุกคาม ซึ่งมีนัยอันลึกซึ้งต่อการค้า การพัฒนาและการลงทุน ทั้งในปัจจุบัน และอนาคตอันใกล้

โดยงานสัมมนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้แทนภาครัฐและเอกชนชั้นนำจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศรวม 300 คน ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความเคลื่อนไหวด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาต่างๆ ตลอดจนประเด็นท้าทายที่มีผลกระทบต่อการค้าและการพัฒนา ตลอดการจัดงานทั้งสองวัน ซึ่งมีรายละเอียดสรุปการประชุมดังนี้

การประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2561 ประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2561

สรุปการปาฐกถาพิเศษ โดย ดร. มูคิซา คิทูยี เลขาธิการ อังค์ถัด

ดร. มูคิซา คิทูยี เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด(UNCTAD) กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การเข้าสู่วาระแห่งนวัตกรรมด้านการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อการบูรณาการของภูมิภาค” ซึ่งกล่าวถึงความท้าทายของการพัฒนาที่ทั่วถึงคนทุกกลุ่มโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และอธิบายถึงช่องว่างที่เกิดขึ้นและการใช้ศักยภาพของอี-คอมเมิร์ซมาช่วยสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ในระดับโลกแสดงให้เห็นว่าการลงทุนในภูมิภาคเอเชียถูกขับเคลื่อนจากภายใน

นอกจากนั้น ดร. มูคิซา ได้กล่าวเน้นถึงแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นของภาระหนี้ที่เกิดจากการเป็นหุ้นส่วนลงทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และการขาดความไว้วางใจในการลงทุนข้ามชายแดน ปัจจัยหลักที่ช่วยผลักดันการค้าและการพัฒนาคือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค ผ่านการพัฒนานวัตกรรม การลงทุนเพื่อเพิ่มทักษะ และนโยบายการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงความเหลื่อมล้ำในสังคมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม นโยบายการค้าต้องถูกออกแบบใหม่เพื่อรับมือการกีดกันทางการค้าและห่วงโซ่มูลค่าโลก (global value chain) ที่สั้นลงจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีและการเมือง การกระชับความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านแนวทางปฏิบัติ การแลกเปลี่ยน และปฏิสัมพันธ์เชิงรุก มีความสำคัญมากต่อการรวมตัวระดับภูมิภาค

สรุปการประชุมช่วงที่ 1 หัวข้อ “ความมั่งคั่งแห่งชาติที่เปลี่ยนแปลง: ยุทธศาสตร์สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในยุคแห่งความยั่งยืน”

การประชุมช่วงที่ 1 หัวข้อ “ความมั่งคั่งแห่งชาติที่เปลี่ยนแปลง: ยุทธศาสตร์สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในยุคแห่งความยั่งยืน” นำเสนอข้อค้นพบในช่วงเวลา 20 ปีจากรายงานการกระจายความมั่งคั่ง(Wealth Distribution Report) ของธนาคารโลก ซึ่งนอกจากแนวทางแบบดั้งเดิมที่ใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นตัวชี้วัดแล้ว ธนาคารโลกได้ใช้องค์ประกอบ 4 ด้าน (ทุนด้านการผลิต ทุนทรัพยากรธรรมชาติ ทุนมนุษย์ และทุนต่างประเทศ) ในการวัดความมั่งคั่ง ในรายงานนี้เป็นครั้งแรกที่มีการนำทุนมนุษย์จากการสำรวจใน 144 ประเทศมาใช้ในการพิจารณาชี้วัดความมั่งคั่งด้วย นอกจากนี้ยังเน้นถึงความสำคัญของการลดความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

การประชุมช่วงนี้ย้ำถึงความจำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยธุรกิจสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรม รวมถึงการสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (new S-curve) ยกระดับธุรกิจตั้งแต่ SME ขึ้นไป และกระจายความมั่งคั่ง การพัฒนาสร้างทักษะต่างๆ ให้กับทรัพยากรมนุษย์ในสังคมจะช่วยสร้างงานและทำให้เกิดผลดีขยายออกไปเป็นวงกว้าง ผู้กำหนดนโยบายด้านการพัฒนาควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และการศึกษาที่ช่วยพัฒนาความคิดเชิงวิเคราะห์ การตั้งคำถามต่อระบบระเบียบที่เป็นอยู่ ความสามารถในการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน และทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

สรุปการประชุมช่วงที่ 2 หัวข้อ “การตระหนักถึงเป้าหมายการบูรณาการของภูมิภาคด้วยการค้าดิจิทัลอย่างทั่วถึง”

การประชุมช่วงที่ 2 หัวข้อ “การตระหนักถึงเป้าหมายการบูรณาการของภูมิภาคด้วยการค้าดิจิทัลอย่างทั่วถึง” กล่าวถึงบทบาท ภารกิจ และโครงการของหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ รวมถึงการสนับสนุนที่หน่วยงานเหล่านี้มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ทั้งในด้านการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อ การรับเทคโนโลยีมาใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจแบบ B2B และ B2C โลจิสติกส์ การอำนวยความสะดวกทางการค้า นโยบายเชิงบูรณาการ และโครงสร้างกฎระเบียบ)  รวมถึงการรวมตัวระดับภูมิภาค ทั้งนี้ UNCTAD และ ITD พบว่าประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ในภูมิภาคอาเซียนมีปัญหาด้านอี-คอมเมิร์ซ ระบบแวดล้อมล้าสมัย ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในภาคส่วนต่างๆ และการขาดแคลนนักลงทุน (venture capitalist) ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ หน่วยงานของสหประชาชาติทำหน้าที่เป็นทั้งผู้อำนวยความสะดวก ที่ปรึกษา และคนกลางในการประสานงานกับนักลงทุน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงกับผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ และเพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคมและเศรษฐกิจ แต่ละหน่วยงานทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและจัดการกับความท้าทายอันซับซ้อนของเศรษฐกิจดิจิทัลในบริบทต่างๆ

สรุปการประชุมช่วงที่ 3 หัวข้อ “รายงานการลงทุนโลก ประจำปี 2561”

การประชุมช่วงที่ 3 หัวข้อ “รายงานการลงทุนโลก ประจำปี 2561” กล่าวถึงเนื้อหาของรายงานดังกล่าว รวมถึงแนวโน้มระดับโลกและระดับภูมิภาค ความเป็นไปได้ในอนาคต และแนวโน้มของนโยบายด้านการลงทุน โดยแสดงให้เห็นว่าการลดลงของกระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ในปี 2560 กระจุกตัวอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว และการลดลงของจำนวนโครงการใหม่ๆ (greenfield project) เป็นเรื่องหนึ่งที่น่ากังวล สำหรับแนวโน้มระดับโลกนั้นการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเปลี่ยนจากการลงทุนที่จับต้องได้มาเป็นการลงทุนที่จับต้องไม่ได้ อีกปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลต่อกระแสการลงทุนจากต่างชาติในปีนี้คือการปฏิรูประบบภาษีของสหรัฐอเมริกา ส่วนนโยบายการลงทุนมี 3 ส่วนที่ต้องพิจารณา ได้แก่ สนธิสัญาใหม่ๆ การปฏิรูปข้อตกลง และกฎหมายด้านการลงทุนระดับชาติ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการลงทุนกับนโยบายใหม่ด้านอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นที่บทบาทและประเภทของนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับการผลักดันจากประเทศกำลังพัฒนาให้มีนโยบายใหม่ด้านอุตสาหกรรมในวงกว้างขึ้น

การประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2561 ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2561

สรุปการปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก และอดีตเลขาธิการอังค์ถัด

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO 2545-2548) และอดีตเลขาธิการอังค์ถัด (UNCTAD 2548-2556) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ภาวะการสูญเสียดุลยภาพของระเบียบโลกและผลกระทบต่อระบอบการค้า” กระตุ้นให้ผู้ฟังเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ไม่ใช่สนใจแต่เพียงภาวะการค้าโลกในปัจจุบัน อีกทั้งแสดงความกังวลต่อการส่งเสริมการค้าเสรีในสภาพโลกาภิวัตน์ที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งถูกเรียกว่าความปกติใหม่ (new normal) ว่าจะนำไปสู่วิกฤตหรือการทำลายสภาพโลกาภิวัตน์ ดร.ศุภชัยย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างมีมนุษยธรรมหรือโลกาภิวัตน์ที่มีเป้าหมายที่การพัฒนา โดยแต่ละประเทศสามารถรักษาอธิปไตยทางสังคมและเศรษฐกิจเอาไว้ได้ และแสดงความกังวลว่าเมื่อการค้าก้าวหน้าไป WTO จะควบคุมดูแลได้ยากขึ้นและเสียงต่อการเกิดความไม่เป็นระเบียบ ดังนั้นองค์กรระดับโลกทั้ง 3 ได้แก่ ธนาคารโลก องค์การการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และ WTO ต้องร่วมมือกันในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจโลกที่มีความสอดคล้องกัน โดยมี UNCTAD ช่วยอำนวยความสะดวกในการเจรจาหารือกัน

ดร.ศุภชัยกล่าวว่ามีความจำเป็นที่จะต้องกำกับดูแลระบบการเงินโลกไม่ให้มีอิทธิพลมากเกินไป โดยทำให้การค้าและการลงทุนเป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบเพื่อลดความไม่เท่าเทียมกัน จัดการกับปัญหาคุกคามต่างๆ และให้องค์กรระดับโลกด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น WTO มีบทบาทหลักในการควบคุมดูแล และหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติเป็นผู้ดูแลส่งเสริมเส้นทางการค้าต่างๆ (มองหาโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศในซีกโลกใต้ เป็นต้น) ทั้งนี้จะต้องส่งเสริมเครื่องมือระหว่างประเทศ เช่น มาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation – CMIM) และที่สำคัญที่สุดคือเพิ่มความเข้มแข็งของบทบาทของสำนักเลขาธิการ และอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการ WTO ดร.ศุภชัยเน้นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสร้างความเป็นปึกแผ่นของระบบการจัดการความขัดแย้งซึ่งเป็นหน้าที่พื้นฐานของWTO เพื่อให้กลไกการระงับข้อขัดแย้งมีความเข้มแข็ง ทำให้กลไกอนุญาโตตุลาการมีความเป็นกลางและโปร่งใสด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญที่มีความเป็นกลางเช่นเดียวกัน

สรุปการประชุมช่วงที่ 4 หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงบทบาทของสถาบันเพื่อการบูรณาการของภูมิภาค”

การประชุมช่วงที่ 4 หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงบทบาทของสถาบันเพื่อการบูรณาการของภูมิภาค” ลงลึกในประเด็นเรื่องความไม่เป็นระเบียบในระดับโลก (global disorder) ที่ ดร.ศุภชัย กล่าวถึงในกระประชุมช่วงก่อนหน้า สภาพดังกล่าวทำให้ต้องมีการปฏิรูปในด้านต่างๆ โดยมีการเสนอแนวความคิดต่างๆ ได้แก่ เกาหลีใต้กล่าวถึงความสำเร็จในการปรับโครงสร้างเชิงสถาบันหลังเกิดวิกฤตการเงิน รัฐบาลเป็นผู้นำในการปรับโครงสร้างภาคเอกชน พร้อมทั้งคัดเลือกผู้เล่นในตลาดที่มีศักยภาพและจัดสรรทรัพยากรให้ภาคธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ในการปฏิรูปนี้บทบาทของสถาบันต่างๆ รวมถึงความร่วมมือและการรวมตัวทางเศรษฐกิจเป็นกุญแจสำคัญ UNESCAP ซึ่งมีหน้าที่ในการช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการทำงานร่วมกัน ได้เข้ามาช่วยในการก่อตั้งและบูรณาการของสถาบันใหม่ๆ โดยมีเสาหลัก 4 ด้าน ได้แก่ ตลาดที่รวมตัวกัน โครงสร้างพื้นฐาน ระบบการบูรณาการทางการเงิน และความรับผิดชอบรวมถึงประเด็นปัญหาร่วมกัน นอกจากนี้การปฏิรูปต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น การปฏิรูปเชิงระบบ การจัดการด้านอุปทาน ประเด็นเกี่ยวกับประชากร (เช่น ทักษะการทำงาน) และนวัตกรรมด้านการผลิต

สรุปการประชุมช่วงที่ 5 หัวข้อ “ทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4”

การประชุมช่วงที่ 5 หัวข้อ “ทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4”กล่าวถึงข้อค้นพบของ UNIDO-ธนาคารโลก และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 พร้อมทั้งให้แนวทางแก่ผู้กำหนดนโยบายในการกำกับดูแลการปฏิวัตินวัตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถควบคุมและใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาที่ทั่วถึงทุกคนและสร้างวงจรระบบเศรษฐกิจที่ดีกว่าเดิม ความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานและทักษะของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศกำลังพัฒนามีความสำคัญมากในการสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ในด้านกฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ต้องมีความยืดหยุ่นพอที่จะส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่ยังไม่อิ่มตัว ในขณะเดียวกันต้องไม่หละหลวมจนเกิดผลเสียจากเทคโนโลยีตามมา การประชุมช่วงนี้ยังกล่าวถึงภาพรวมการปฏิรูปกฎหมายของสหภาพยุโรป (EU) เพื่อส่งเสริมการรวมตัวเป็นตลาดเดียวด้านดิจิทัล(Digital Single Market) รวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน EU กำลังมุ่งหน้าไปสู่การสมัครใจรับภาระหน้าที่ในการกลั่นกรองและดูแลการนำข้อมูลจากฐานข้อมูลมาวิเคราะห์ประมวลผล(data mining) รวมถึงการละเมิดลิขสิทธิ์

ในขณะนี้จึงจำเป็นต้องกลบช่องว่างของมูลค่าด้วยการนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน ผลักดันเรื่องสิทธิของสำนักพิมพ์ในการใช้ประโยชน์เชิงดิจิทัลในประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างกฎระเบียบเกี่ยวกับการสมัครสมาชิกออนไลน์เพื่อรับคอนเทนต์ต่างๆ ในระยะเริ่มต้น EU ได้เรียนรู้เกี่ยวกับผลในเชิงกฎหมายของนวัตกรรมที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และประเด็นที่ว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่คุ้มครองได้หรือไม่เมื่ออยู่ในโดเมนสาธารณะอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามในบริบทของประเทศไทยยังมีช่องว่างด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ดังนั้นโครงการของรัฐบาลและการอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมผลิตภาพควบคู่ไปกับการพัฒนาสู่ยุคประเทศไทย 4.0

สรุปการประชุมช่วงที่ 6 หัวข้อ “ความท้าทายของเทคโนโลยีอุบัติใหม่อันรวดเร็ว และอนาคตของสังคมที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง”

การประชุมช่วงที่ 6 หัวข้อ “ความท้าทายของเทคโนโลยีอุบัติใหม่อันรวดเร็ว และอนาคตของสังคมที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง” Ms. Schneegans แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างความสามารถในการปรับตัวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และกล่าวว่าเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นแนวโน้มที่ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้ เห็นได้จากการจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านนี้ในหลายประเทศ ส่วนในด้านการศึกษา เนื่องจากประชากรจำนวนมากในอาเซียนเป็นคนรุ่นใหม่ การศึกษาระดับอุดมศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญมากในการพัฒนาหลายด้าน ดังนั้นมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปฏิรูปตนเองโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนการศึกษา และออกแบบหลักสูตรการศึกษาใหม่เพื่อสร้างคนทำงานที่มีทักษะความเชี่ยวชาญและก้าวทันความต้องการใหม่ๆ ด้านสังคมและเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) มีการใช้กรอบแนวคิด STEAM (Science, Technology, Engineering, Art and Mathematics) ควบคู่ไปกับ SDG และ3 เสาหลัก เพื่อแก้ไขช่องว่างด้านการศึกษา ทางมหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยนการศึกษาอบรมผู้เรียนเพื่อให้มีทักษะและความคิดที่เหมาะสมกับยุคดิจิทัล นอกจากนี้ในการประชุมยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมที่มีความสามารถในการปรับตัว ซึ่งอาจหมายรวมถึงการที่คนในสังคมสามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง ประเทศสามารถใช้หลักความพอเพียงในการผลิตสินค้าเพื่อใช้ในประเทศแทนการนำเข้า และการมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate change)