หลังจากธนาคารกสิกรไทย หรือ Kbank ทำงานร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมา 1 ปี ก็สามารถพัฒนาแอปฯ ที่ชื่อว่า “CU Nex” ออกมาให้เริ่มใช้ได้เมื่อเร็วๆ นี้ โดยจุฬาฯ ตั้งใจให้ “CU Nex” เป็น “Single Portal Platform” ซึ่งไม่ใช่แค่แอปฯ บนสมาร์ทโฟน แต่คือแพลทฟอร์มที่จะช่วยให้จุฬาฯ เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ และสามารถพัฒนาต่อไปได้ ด้วยการแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ส่วน โดยเริ่มต้นจากการตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของนิสิต แล้วเพิ่มการใช้ประโยชน์อื่นๆ
ส่วนแรก คือ “การเชื่อมโยงทุกมิติการใช้ชีวิตของนิสิตเข้ากับดิจิทัลเทคโนโลยี” ด้วยการ ใช้โมบาย แอปฯ “CU Nex”เพื่อทำ Digital ID มาแทนที่บัตรนิสิต ซึ่งเริ่มแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สามารถใช้กับระบบลงทะเบียน การใช้ห้องสมุด และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ต่างๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาของนิสิต เช่น 3D Map แผนที่สามมิติเพื่อช่วยหาห้องเรียนหรือสถานที่ๆ ต้องการไป และให้ความสะดวกกับการเดินทางภายในมหาวิทยาลัย หรือการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยด้วยระบบ SOS รวมทั้ง การก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ด้วยการใช้ QR Payment ใช้จ่ายกับร้านค้าต่างๆ ภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้วย เช่น คะแนนสะสม หรือโปรโมชั่นต่างๆ
ส่วนที่สอง “พัฒนาศักยภาพนิสิตและบุคลากรให้พร้อมก้าวสู่โลกการใช้ชีวิตยุคดิจิทัล” เช่น เปิดพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมและสนับสนุนการเป็นสตาร์ทอัพระดับโลก และส่วนที่สาม “เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ด้านข้อมูล” เช่น การสร้าง Data Hub รวบรวมข้อมูลเพื่อเรียนรู้พฤติกรรมนิสิตผ่านเทคโนโลยีMachine Learning และใช้ Business Intelligence ประมลผลข้อมูลเพื่อนำไปออกแบบพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรม โดยมีการพัฒนาระบบเพื่อรักษาชั้นความลับของข้อมูลด้วย นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยี Blockchain มาช่วยจัดการงานเอกสารสำคัญต่างๆ
สำหรับเคแบงก์ สิ่งแรกที่ได้จากความร่วมมือครั้งนี้เมื่อโจทย์ของธุรกิจคือต้องได้ลูกค้าใหม่ทุกวัน ขณะที่ลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีมีมาก(35%) และลูกค้ากลุ่มคอร์เปอเรทมีไม่น้อยเช่นกัน(33%) และเมื่ออยากได้ลูกค้าใหม่พร้อมกับต้องการเป็น Digital Banking นี่คือกลุ่มที่เป็นคำตอบให้กับโจทย์ทางธุรกิจตรงๆ สิ่งที่ได้คือ “ฐานลูกค้าที่มีศักยภาพที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดยวิธีนี้เป็นวิธีหนึ่งที่เร็วที่สุดและมากที่สุดในคราวเดียว” เพราะนิสิตนักศึกษาเป็นเซ็กเม้นท์ในกลุ่มรีเทลหรือบุคคลที่เคแบงก์ยังมีอยู่ไม่มาก เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่จะเติบโตไปในอนาคต วันหนึ่งจะเติบโตเป็น middle income และจะเป็น private wealth จึงหวังว่าการเข้าไปอยู่กับเขาตั้งแต่แรกๆ จะทำให้เขาอยู่กับเราไปอีกนาน ในทางการตลาดเรียกกลุ่มนี้ว่า Early Adopter เมื่อเรียนจบออกไปทำงานจะเป็นลูกค้าของเคแบงก์ต่อไป
สิ่งที่เคแบงก์จะได้ต่อไปคือ“ฐานข้อมูล” ซึ่งจะทำให้เข้าใจการใช้ชีวิต (Lifestyle) ของลูกค้ามากขึ้นด้วย AI คือการใช้ Data Analytic เช่น ไปกินอาหารที่ไหน ใช้จ่ายครั้งละเท่าไร ค่าใช้จ่ายหลักแต่ละเดือนคืออะไร ฯลฯ โดยลูกค้ายินยอมเปิดเผยหรืออนุญาตให้รู้ และไม่ต้องใช้การสำรวจวิจัยซึ่งต้องใช้เงินมาก เมื่อการใช้ ”CU Nex” ต้องเปิดใช้จากแอปฯ “K Plus” อย่างน้อยการเปิดบัญชีเคพลัสคือการพยายามเข้าไปอยู่ในทุกช่วงชีวิตของลูกค้า ในขั้นแรกนิสิตจุฬาฯ ปัจจุบัน 38,000 คน ใช้เกี่ยวกับการเรียน เช่น เริ่มจากลงทะเบียนเรียน จนถึงขอทรานส์คริปต์ นอกจากนี้ ยังจะใช้จ่ายกับร้านค้าต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ส่วนชีวิตนอกมหาวิทยาลัย จะมีการออกแบบแคมเปญเพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของนิสิต เช่น การโหวตเลือกร้านอาหารที่อยากจะกินมากที่สุด ฯลฯ โดยหวังว่าจะทำให้นิสิตชื่นชอบและติดใจใช้ตลอดจนเป็นนิสัย ส่วนบุคลากรทั้งอาจารย์และเจ้าหน้าที่ประมาณ 8,000 คน และศิษย์เก่าประมาณ 200,000 คน จะมีฟีเจอร์ต่างๆ ให้ได้ใช้งานในขั้นต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้การพัฒนา Eco System จริงๆ ไม่ใช่แค่การทำแอปฯ ซึ่งความยากไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องกิจกรรม เช่น Learning Space ซึ่งต้องมีทั้งเรื่องTech Jam เรื่องInnovation ฯลฯ จึงมีการจัดตั้งทีม CU Nex ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อมาทำในเรื่องนี้ เพราะเคแบงก์ทำเป็นระบบพี่เลี้ยง จะมีการเข้าไปสอนในเรื่องต่างๆ เช่น วิธีทำธุรกิจ ทำโปรเจ็คชั่น ทำมาร์เก็ตติ้ง และให้ใช้ฐานลูกค้าของเคแบงก์เพื่อทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพเกิดธุรกิจได้จริง
ยกตัวอย่าง การพัฒนาแอปฯ ที่กำลังทำร่วมกัน “Thai Natural Language” เป็นการอ่านอารมณ์คนในโซเชียลมีเดีย เช่น พูดแบบนี้หมายความว่าอะไรมีนัยอะไร ซึ่งมีเป้าหมายจะขายทั่วประเทศเมื่อพัฒนาเสร็จสิ้น สำหรับเคแบงก์จะนำแอปฯ นี้มาใช้ในการทำมาร์เก็ตติ้ง เพราะทำให้รู้ได้ว่าใครชอบ ใครเกลียด ใครเป็นคนโพสต์คนแรกและคนแชร์ตามทั้งหมด ใครคือinfluencer เพื่อจะเลือกมาทำกิจกรรมของเคแบงก์
ต่อจากนี้ จะเห็นมหาวิทยาลัยหรือพันธมิตร (Partner) ที่เข้ามาร่วมกับเคแบงก์ในลักษณะนี้เพิ่มขึ้น เพราะเคแบงก์ต้องการ “ฝังตัว” ไปกับทุกส่วน นางสาวขัตติยา อิทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เน้นให้เห็นว่า เนื่องจากวันนี้การเป็นธนาคารแบบเดิมไม่สามารถอยู่รอดได้ในโลกยุคดิจิตอล เช่น ลูกค้าสามารถใช้แอปต่างๆ อย่าง True Wallet หรือ Rabbit ชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องไปทำธุรกรรมการเงินที่ธนาคาร ดังนั้น ธนาคารจึงต้องคิดว่าตัวเองไม่ใช่ธนาคารอีกต่อไปหรือเป็นมากกว่าความเป็นธนาคาร (Beyond Banking) และต้องทำอย่างไรให้สามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไปได้อย่างแนบสนิท เป็นทุกส่วนของชีวิต ( Life Platform of Choices) ของลูกค้า.