TMA มุ่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เปิดเวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีจากทุกภาคส่วน

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2018 ภายใต้คอนเซปต์ Powering Thailand Competitiveness through Digital Transformation เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันไอเอ็มดี  ผู้บริหารภาครัฐและเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในยุคปัจจุบัน  และเปิดมุมมองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลและภาคธุรกิจ  โดยผู้บริหารไอบีเอ็มชี้ธุรกิจสตาร์ทอัพ ไม่สามารถดิสรัปธุรกิจได้  ชี้ควรระวังยักษ์ใหญ่ด้วยกันเอง ข้ามธุรกิจมาแข่ง แนะนำเร่งมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ สร้างแพลตฟอร์ม เปิดไอเดียให้คนรุ่นใหม่ ช่วยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

ศ.อาร์ทูโร บิส  (Professor Arturo Bris)  ผู้อำนวยการศูนย์ IMD World Competitiveness Center บรรยายพิเศษในหัวข้อ Adopting Technology for National Competitiveness ในงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2018  โดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA  ว่าปัจจุบันนี้กระแสดิจิทัลเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้   ดังนั้นทุกภาคส่วนจำเป็นต้องมีการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งโลกในยุคต่อไป  ภาครัฐจะต้องรับบทบาทเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาหรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  โดยภาครัฐในฐานะผู้ควบคุมและกำกับดูแลจำเป็นต้องเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงออกกฎหมายใหม่ๆ ขึ้นมากำกับดูแลเทคโนโลยีที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินดิจิทัล เทคโนโลยีบล็อกเชน หรืออื่นๆ ที่กำลังจะเข้ามา ประเทศไทยคงไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาได้ สิ่งที่ทำได้คือการหาจุดตรงกลางในการปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้  ซึ่งในหลายประเทศที่เปิดรับเทคโนโลยีก็ส่งผลต่อการยกระดับขีดความสามารถของเขา  อาทิเช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น

ในอนาคตเราจะเห็นว่า เทคโนโลยีบล็อกเชน จะเข้ามามีบทบาทต่องานบริการสาธารณะมากขึ้น  ประชาชนจะติดต่องานกับภาครัฐ  โดยผ่านทางคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนของตัวเอง. หรือแม้แต่การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนจะลดลง  และการทำหน้าที่คนกลางต่างๆ จะหายไป   ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายของภาครัฐสมัยใหม่ที่จำเป็นจะต้องวางกฎระเบียบการกำกับดูแล   เพื่อควบคุมระบบสังคม  เศรษฐกิจให้เป็นระเบียบ  ขณะเดียวกันต้องไม่ไปปิดกั้นเทคโนโลยี  พร้อมทั้งต้องส่งเสริมเอกชนที่มีความพร้อมให้เขาสามารถเติบโต  เป็นแกนหลักของระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

นอกจากนี้  ในเรื่องของสกุลเงินดิจิทัลก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น  ในอนาคตความเป็นไปได้ที่แต่ละประเทศจะมีการออกเงินสกุลดิจิทัลของตัวเอง  หรือการแปลงสินทรัพย์กายภาพเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งสิ่งเหล่านี้พิสูจน์ได้ว่า จะส่งผลทำให้ประเทศมีความมั่งคั่งมากขึ้น และเมื่อประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ก็ยิ่งส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ  อย่างเช่นเอสโตเนียก็ได้ปรับตัวเป็นประเทศดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ  มีการทำติดต่องานของภาครัฐในรูปแบบออนไลน์ดิจิทัลทั้งหมด   ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น มีความสะดวกรวดเร็ว  และเพิ่มประสิทธิภาพของประเทศ ซึ่งเอสโตเนียก็เป็นต้นแบบให้รัฐบาลอีกหลายประเทศดำเนินการตาม

นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวปาถกฐาพิเศษในหัวข้อ“Realizing Digital Thailand” ในงานสัมมนา Thailand Competitive conference 2018 ซึ่งจัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ว่า  ทางไอบีเอ็มได้เคยทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารองค์กร ใน 112 ประเทศ ใน 20 อุตสาหกรรม พบว่า ปัญหาการถูกดิจิทัลดิสรัปชั่นนั้น  ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง หากองค์กรนั้นมีการปรับวัฒนธรรมองค์กร ปรับวิธีการทำงาน  และมีการเตรียมพร้อมด้วยการจัดตั้งฝ่ายนวัตกรรมขึ้นมาดูแล  ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นไม่มีกำลังมากพอที่จะไปดิสรัปฯรายใหญ่ แต่ในทางกลับกัน องค์กรใหญ่ต่างหากที่จะเป็นผู้ที่ไปดิสรัปฯธุรกิจอื่น

“ใครที่กลัวฟินเทคนิคสตาร์ทอัพมาดิสรัปธุรกิจ  ต้องบอกเลยไม่ต้องห่วง แต่ให้ห่วงรายใหญ่ด้วยกันเอง เพราะข้อมูลที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกว่า 80% อยู่ในองค์กรใหญ่ ไม่ใช่เป็นข้อมูลที่หาได้บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งการแข่งขันในยุดดิจิทัลนั้นมีการกระโดดข้ามอุตสาหกรรมได้ง่าย จึงปัจจุบันผู้บริหารแบงก์ยักษ์ใหญ่บางราย ยังบอกว่าคู่แข่งของเขาไม่ใช่ฟินเทคแต่เป็นธุรกิจทางด้านโทรคมนาคม ซึ่งมีทั้งเงินทุนและองค์ความรู้ทางด้านดิจิทัล” นางพรรณสิรี กล่าว

สำหรับการเตรียมตัวรับมือสำหรับโลกเศรษฐกิจดิจิทัล อันดับแรก องค์กรต้องมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆของตัวเอง ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการตั้งแผนกนวัตกรรมของตัวเอง หรือร่วมมือกับสตาร์ทอัพที่มีไอเดียดี นำมาผสานเข้ากับเงินทุนและข้อมูลที่องค์กรมี สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆขึ้นมา  รวมไปถึงจะต้องนำเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม มาปรับใช้ในธุรกิจ

การสร้างพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ หรือนำคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในองค์กร รวมถึงเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนเหล่านี้แสดงความคิด  หรือการมองหาพาร์ทเนอร์ทางกลยุทธ์ เพราะในยุคดิจิทัล เราจะเห็นความร่วมมือแบบข้ามอุตสาหกรรมที่ง่ายขึ้น ซึ่งการมองหาพันธมิตรภายนอกมาต่อยอดธุรกิจ หรือ แม้กระทั่งการร่วมมือกับคู่แข่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

“การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล หัวหน้าองค์กร จะเป็นคนสำคัญในการเข้ามาตัดสินใจว่า จะนำมาธุรกิจไปในทิศทางใด  ซึ่งการนำเทคโนโลยีแพลตฟอร์มมาประยุกต์ใช้ อย่าเพิ่งไปคิดถึงเรื่องการ สร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่ เปลี่ยนโลก เพียงแต่คิดว่า เราหาเทคโนโลยีที่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แค่นั้นก็เพียงพอต่อการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้ว”

นางพรรณสิรี  กล่าวเสริมอีกว่า  นอกจากการนำเทคโนโลยีแพลตฟอร์มมาใช้แล้ว  การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่าง ปัญญาประเดิษฐ์ (AI) , บิ๊กดาต้า  คลาวด์คอมพิวติ้ง  ไอโอที  และ สมาร์ทดีไวซ์ มาเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล หรือ การเช็คอัพระบบการทำงาน ลดต้นทุน ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน

ทั้งนี้ เกือบ 20 ปี ที่ทาง TMA มีบทบาทในด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้ดำเนินโครงการ Thailand Competitiveness Enhancement Program โดยความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งกิจกรรมที่ดำเนินการได้กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ  ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงในการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ  ผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เห็นความสำคัญเข้ามามีบทบาทร่วมกันขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างคับคั่ง