ในสมรภูมิการแข่งขันของ “แพลตฟอร์ม” ออนไลน์ ไม่มีอะไรที่แน่นอนไปกว่าการทำให้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการตอบโจทย์ความต้องการ และเข้าถึงผู้ใช้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด ด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างกันไป
สำหรับกูเกิล (Google) การผลักดันให้คนไทยเข้าถึงบริการในรูปแบบต่างๆ ให้มากที่สุด ทั้งการทำโลคัลไลซ์ ให้บริการฟรี หรือราคาถูก ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่กูเกิลต้องผลักดันต่อเนื่อง หลายมิติ และเน้นการจับมือกับพันธมิตรค่ายมือถือ ทั้ง CAT, AIS และ True
จึงเป็นที่มาของงาน Google for Thailand ที่กูเกิลจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย
เบน คิง Country Director Google ประเทศไทย บอกว่า อีเวนต์ลักษณะนี้ กูเกิลไม่ได้จัดขึ้นทุกประเทศ แต่เลือกประเทศที่ต้องการให้กูเกิลเข้าไปช่วยสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งก่อนหน้านี้ จัดมาแล้วในประเทศอินเดีย และอินโดนีเซีย
ธีมหลักของงานปีนี้ มุ่งเน้นความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมกัน โดยจะมุ่งเน้น 4 เรื่อง
เรื่องแรก – Acess การให้คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น จึงเป็นที่มาของการเปิดโครงการ Google Station ที่ร่วมมือกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และมีบริษัทยูนิลีเวอร์ เป็นสปอนเซอร์โฆษณารายแรกของโครงการ เพื่อให้บริการไวไฟความเร็วสูงฟรี
พื้นที่ให้บริการ
ในเบื้องต้นจะให้บริการในพื้นที่ต่างๆ 10 แห่งในกรุงเทพฯ เช่น หัวลำโพง ห้างสรรพสินค้า เมกกาบางนา, พาซิโอ ชุมชนตลาดเก่า พิจิตร เชียงคาน จ.เลย จากนั้นจะขยายเพิ่มขึ้น โดยเน้นพื้นที่ที่มีอุปสรรคในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร หรือมีค่าใช้จ่ายสูง อาทิ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ตลาด ทั้งในชุมชนเมืองและพื้นที่ห่างไกล
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มกำลังพัฒนา เพราะจากข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย กว่า 20 ล้านรายมีการใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตแบบรายเดือน
ในขณะเดียวกันพื้นที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต 3G/4G ครอบคลุมกว่า 90% ของประเทศ ส่วนในแง่ของความเร็วอินเทอร์เน็ตก็อยู่ในอันดับที่ 2 รองจากสิงคโปร์ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับ 5 เมื่อเทียบในภูมิภาคเอเชีย รองจากสิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และกาตาร์
โครงการสอง – สนับสนุนความรู้และทักษะ ผ่านโครงการ
Academy Bangkok – A Google Space พื้นที่ฝึกอบรมทักษะการตลาดดิจิทัลให้กับนักศึกษา 2 เดือน ซึ่งไทย เป็นประเทศที่สอง ที่แรกคือ ลอนดอน โดยโครงการนี้กูเกิลได้ร่วมมือกับ ทรู ดิจิทัล ปาร์ค
รวมทั้งโครงการ YouTube Pop-Up Space สนับสนุนครีเอเตอร์ให้เข้าถึงเทคโนโลยีในการผลิตงาน โดยจะจัดขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนปีนี้
โครงการที่สาม – โลคัลไลซ์ ผลิตภัณฑ์ มี 2 โครงการน่าสนใจ คือ การเพิ่มโหมดนำทาง รถจักรยานยนต์ บนบริการกูเกิล แมปส์ (Google Maps)
คริช ไวทอลเดอวาร่า หัวหน้าทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ Google Maps เพื่อให้เหมาะกับประเทศไทยที่มีผู้เดินทางด้วยจักรยานยนต์ถึง 20 ล้านคน
ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา กูเกิลเริ่มเก็บข้อมูลของผู้ขับขี่จักรยานยนต์นับหมื่นคนมาผนวกกับแมชชีนเลิร์นนิ่ง Google และสร้างแบบจำลองที่ทำให้การคาดคะเนเวลาที่จะถึงจุดหมายปลายทางแม่นยำขึ้น
ร่วมมือเอไอเอส
รวมทั้งการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ การร่วมมือกับ AIS ค่ายมือถือ ออกแพ็กเกจใช้อินเทอร์เน็ตไม่จำกัด สำหรับผู้ใช้แอปพลิเคชั่น Youtube Go เพื่อดูคลิป และแชร์ วิดีโอ YouTube ได้แม้เน็ตช้า หรือไม่ได้เชื่อมเลยก็ตาม
โครงการที่สี่ – ด้วยจำนวน SME ของไทย ที่มีอยู่ถึง 3 ล้านราย และ 42% ของจีดีพี มาจากเหล่า SME การให้สนับสนุน SME และสตาร์ทอัพ เป็นอีกหนึ่งในภารกิจสำคัญ โดยกูเกิลร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงออนไลน์ได้ง่ายขึ้น.