“เนสกาแฟ ฮับ” สมรภูมิใหม่ บนความท้าทายของเนสกาแฟ สู่รีเทลเชน

ตลาดรวมผลิตภัณฑ์กาแฟในประเทศไทยในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่ารวมประมาณ 64,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดที่ยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องทุกปี

ทั้งนี้ ตลาดรวมยังสามารถแยกออกเป็นหลายกลุ่มหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟที่ดื่มกันในบ้าน หรือที่วางขายตามร้านค้าปลีกซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป กลุ่มทรีอินวัน กลุ่มอินสแตนต์ ต่างๆ มีมูลค่ารวมประมาณ 38,000 ล้านบาท

อีกกลุ่มที่เป็นกลุ่มใหญ่ คือ ตลาดกาแฟนอกบ้านหรือเอาต์ออฟโฮม (out of home ) รวมถึงกาแฟเทกโฮม หรือร้านกาแฟที่เป็นเชน มีมูลค่ารวมมากกว่า 26,700 ล้านบาท เติบโต 8% ในช่วงปีที่แล้ว ซึ่งในกลุ่มนี้ยังรวมไปถึง กลุ่มที่ที่เป็นร้านกาแฟทั้งที่เป็นเชนและไม่ใช่เชน มีมูลค่ามากกว่า 17,000 ล้านบาท (รวมอยู่ใน 26,700 ล้านบาทแล้ว) ถือเป็นกลุ่มที่เติบโตอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากตลาดรวมเมืองไทยแล้วจะพบว่า กลุ่มที่เป็นเชนร้านกาแฟ หรือรีเทลชอป เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตอย่างมาก มีทั้งแบรนด์ที่เป็นเชนจากทั้งของไทยและต่างประเทศ เกิดขึ้นและขยายสาขาเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันก็ยังมีแบรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งแบรนด์ที่เป็นเชนกาแฟ และที่เป็นร้านแกลลอรีคาเฟ่ ซึ่งเชนใหญ่ในไทยก็มีมากมาย เช่น สตาร์บัคส์ แบล็คแคนยอน คอฟฟี่เวิลด์ อินทนิล คาเฟ่ อเมซอน โอบองแปง เป็นต้น

ในทางกลับกัน หากมองแบรนด์กาแฟแบรนด์ใหญ่ระดับโลกแล้ว อย่าง เนสกาแฟ จะเห็นว่า เนสกาแฟ เป็นเจ้าตลาดในไทยอย่างยาวนานและมั่นคงในกลุ่มที่เป็นผลิตภัณฑ์กาแฟหรือตัวสินค้า แบรนด์มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งคุณภาพ และความน่าเชื่อถือ โดยตลาดในไทย เนสกาแฟมีส่วนแบ่ง 60% ในตลาดกาแฟทรีอินวัน และมีส่วนแบ่ง 80% ในตลาดกาแฟอินสแตนต์ และมีส่วนแบ่ง 32% ในตลาดกาแฟพร้อมดื่ม ขณะที่อีกตลาด รีเทลร้านกาแฟ เนสกาแฟกลับไม่มีเลยทั้งๆ ที่เป็นตลาดใหญ่

ประเด็นนี้ เนสกาแฟเองก็คงรู้ตัวดีว่า การปล่อยให้ตลาดที่ใหญ่และเติบโตดีเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้เข้ามามีส่วนในการแชร์ตลาดเลยนั้น เป็นสิ่งที่พลาดโอกาสอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนี้ เนสกาแฟได้ประกาศรุกตลาด ตามภาษาของเนสกาแฟเองที่เรียกว่า “เอาต์ ออฟ โฮม” หรือ รีเทลที่เป็นร้านในไทยแล้ว ซึ่งหากทำได้จริงและมีแผนที่ชัดเจน แน่นอนว่าย่อมต้องสร้างแรงสั่นสะเทือนไม่น้อยต่อวงการ

เพราะชื่อชั้น เงินทุน แบรนด์ คุณภาพสินค้า การยอมรับของผู้บริโภคของเนสกาแฟนั้น ทุกอย่างสอบผ่านหมดแล้ว ไม่ต้องทำอะไรมาก

ทว่าความท้าท้าย อยู่ตรงที่จะรุกตลาดช่องทางรีเทลที่สร้างเป็นร้านกาแฟขึ้นมาอย่างไร เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ในตลาดเมืองไทยสำหรับเนสกาแฟ

แวลดดิสลาฟ อังดรีฟ ผู้อำนวยการกลุ่มบริหาร ธุรกิจผลิตภัณฑ์กาแฟและครีมเทียม บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า เนสกาแฟได้ขยายฐานทางธุรกิจด้วยการเปิดตัว “เนสกาแฟ ฮับ” เพื่อรุกตลาดรีเทลที่เป็นร้านกาแฟ หรือเคาน์เตอร์จำหน่ายกาแฟแบบเทกอะเวย์เป็นครั้งแรกในไทย

เนื่องจากตลาดรีเทลร้านกาแฟในไทยเติบโตอย่างดี เป็นโมเดลใหม่ในการรุกตลาดกาแฟนอกบ้านของเนสกาแฟ สำหรับร้านเนสกาแฟ ฮับ ประเดิมสาขาแรกที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ชิดลม เปิดบริการเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นรูปแบบที่ไม่มีที่นั่ง เหมือนกับเป็นเคาน์เตอร์ เทกอะเวย์ พื้นที่ไม่ใหญ่นัก เฉลี่ย 6 เมตร คูณ 1.8 เมตร ราคาเครื่องดื่มเฉลี่ย 45 บาทขึ้นไป ตั้งเป้าหมายสาขาแรกนี้ว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการซื้อเครื่องดื่มจากเนสกาแฟ ประมาณ 300 แก้วต่อวัน จากจำนวนผู้สัญจรในบริเวณสถานีดังกล่าว ประมาณ 15,000 คนต่อวัน

กลยุทธ์ของเนสกาแฟ ฮับ คือ การเปิดร้านเน้นทำเลที่เป็นศูนย์กลางคมนาคมหรือการเชื่อมต่อการเดินทางระบบขนส่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สถานีรถไฟฟ้ใต้ดิน บนดิน สนามบิน ท่ารถ ท่าเรือ ต่างๆ แตกต่างจากคู่แข่งที่เน้นเปิดตามศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ทำเลชุมชนทั่วไป เนื่องจากเนสกาแฟมองว่าทำเลแบบนี้เป็นทำเลที่สนใจและเติบโตดี

แวลดดิสลาฟ กล่าวว่า มูลค่าตลาดของการขายเครื่องดื่มในจุดที่เป็นบริเวณศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งต่างๆ นี้มีมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้เนสกาแฟ ฮับ พุ่งเป้าหมายทำเลเน้นไปที่จุดศูนย์กลางคมนาคมเป็นหลัก

ประเด็นนี้เองที่ แวลดดิสลาฟ เชื่อมั่นว่า จะเป็นความได้เปรียบและจุดแตกต่างที่ทำให้ เนสแฟ ฮับ เติบโตได้อย่างดี เพราะปัจจุบันและในอนาคต ประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีการเปิดบริการรถไฟฟ้าทั้งบนดิน ใต้ดิน มากขึ้น จะทำให้เกิดการสัญจรมากขึ้น และมีสถานีรถไฟฟ้าเปิดบริการมากขึ้น ซึ่งจะเป็นทำเลที่เนสกาแฟ ฮับจะเปิดบริการได้

แต่ใช่ว่าจะเปิดได้ทุกสถานี ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของทำเลและสภาพตลาดในสถานีแต่ละแห่งด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นโมเดลใหม่ในไทย แต่ก็ถือเป็นอีกโมเดลที่เนสกาแฟมีความชำนาญมาก่อนแล้วในต่างประเทศ แต่ละประเทศก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปอีก ตามทำเลที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเปิดสาขาเนสกาแฟฮับ เช่น ที่ญี่ปุ่น เปิดตัวเนสกาแฟ ฮับมาแล้วประมาณ 2 ปี ขณะนี้มีประมาณ 50 สาขา (สาขาส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ตามสถานีคมนาคมต่างๆ) ซึ่งคอนเซ็ปต์ของเนสกาแฟ ฮับ ได้รับแรงบันดาลใจจากเนสกาแฟในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งร้านกาแฟของเนสกาแฟในญี่ปุ่นทุกรูปแบบ มีจำนวนเติบโตสูงถึง 150% ในปีที่แล้ว และให้บริการเสิร์ฟกาแฟสดรวมกันมากกว่า 16 ล้านแก้วต่อปี นอกจากนั้นก็มีในมาเลเซีย (สาขาส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย) รวมทั้งในเกาหลีก็เปิดบริการแล้ว เป็นต้น

จากนี้ไปคงต้องจับตามองให้ดีว่า การเป็นผู้นำในตลาดกาแฟที่เป็นผลิตภัณฑ์และช่องทางแบบเดิมของเนสกาแฟ จะช่วยทำให้เนสกาแฟก้าวเข้าสู่สมรภูมิรีเทลเชนร้านกาแฟในนาม เนสกาแฟ ฮับ ได้มากน้อยแค่ไหน.