คาดอีคอมเมิร์ซไทย ปี 61 โตทะลุ 3 ล้านล้านบาท ค้าปลีก-ค้าส่งใช้กระฉูด

ETDA คาดมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปี 2560 มีมูลค่า 2.81 ล้านล้านบาท เติบโต 8.76 % โดยคาดการณ์ว่าปีนี้ (2561) มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านล้านบาท

นับได้ว่าอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีแม้ว่าปีนี้อัตราเติบโตน้อยกว่าปี 2559 เล็กน้อย

เมื่อลงรายละเอียด สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทย 2.81 ล้านล้านบาทนั้น มาจาก 3 ประเภท

  • อีคอมเมิร์ซ แบบ B2B มูลค่า 1,675,182 ล้านบาท ครองสัดส่วน 59.56%
  • อีคอมเมิร์ซ แบบ B2C มูลค่า 812,612.68 ล้านบาท ครองสัดส่วน 28.89%
  • อีคอมเมิร์ซ แบบ B2G มูลค่า 324,797.12 ล้านบาท ครองสัดส่วน 11.55%
  • เมื่อเทียบมูลค่าจะพบว่ามูลค่าของ B2B เติบโต 8.63% ส่วน B2C เติบโต 15.54%

ทั้งนี้ มูลค่าอีคอมเมิร์ซในปีนี้ไม่ได้นำตัวเลขของอีบิทดิ้ง ของภาครัฐมารวมเพราะทำให้ตัวเลขโป่งมากเกินความเป็นจริง ในขณะที่ไฮไลต์จะอยู่ที่ “B2C” ซึ่งแม้มูลค่าการซื้อจะน้อยแต่มีผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ซื้อจำนวนมากทำให้ตลาดนี้เป็นตัวขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซสำคัญ

เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่าธุรกิจ B2C ของไทย มีมูลค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยหันมานิยมช้อปออนไลน์มากขึ้น

เมื่อนำมาแบ่งออกเป็นประเภทอุตสาหกรรมพบว่า เม็ดเงินอีคอมเมิร์ซอยู่ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้

  • อันดับ 1 อุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่ง มูลค่า 869,618.40 ล้านบาท สัดส่วน 30.92%
  • อันดับ 2 อุตสาหกรรมให้บริการที่พัก มูลค่า 658,131.15 ล้านบาท สัดส่วน 23.40%
  • อันดับ 3 อุตสาหกรรมการผลิต มูลค่า 417,207.07 ล้านบาท สัดส่วน 14.83%
  • อันดับ 4 อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร มูลค่า 404,208 ล้านบาท สัดส่วน 14.73%
  • อันดับ 5 อุตสาหกรรมการขนส่งมูลค่า 104,904.28 ล้านบาท สัดส่วน 3.73%
  • อันดับ 6 อุตสาหกรรมศิลปะบันเทิงและนันทนาการ มูลค่า 19,716 ล้านบาท สัดส่วน 0.70%
  • อันดับ 7 อุตสาหกรรมบริการ มูลค่า 11,280 ล้านบาท สัดส่วน 0.43%
  • อันดับ 8 อุตสาหกรรมประกันภัย 2,729 ล้านบาท สัดส่วน 0.10%

จะเห็นได้ว่าธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งเติบโตแบบก้าวกระโดดเพราะปรับตัวมาขายออนไลน์กันมากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับประเทศจีนแล้วถือว่าก้าวหน้าไปมากกว่าไทย เพราะสามารถให้ลูกค้าสแกนซื้อสินค้าจากนั้นห้างสรรพสินค้านำสินค้าไปส่งถึงบ้านทันที รวมถึงการใช้ใบหน้าในการยืนยันตัวตนในขณะที่ไทยยังตามหลังอยู่

ส่วนอีกธุรกิจที่น่าสนใจคือดิจิทัล คอนเทนต์ เซอร์วิสเพราะเป็นธุรกิจที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของคน เช่นธุรกิจเพลงอีมูฟวี่

ที่สำคัญเวลานี้มีคนไทยจำนวนมากที่ใช้อินเทอร์เน็ตและอีคอมเมิร์ซโดยไม่รู้ว่าเป็นการใช้งานแล้ว เช่นการใช้ไลน์และซื้อสติกเกอร์ไลน์ สะท้อนว่าคนไทยเวลานี้มีกาาใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลายแล้ว

นอกจากนี้ทาง ETDA ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจัดตั้งอีคอมเมิร์ซปาร์คเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ฝึกอบรมสนับสนุนอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ

รวมทั้งบันทึกข้อตกลงกับ Dongguan China Council for the Promotion of International Trade (Dongguan CCPIT) ของจีน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ บุคลากร อบรมความรู้ เกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ เพื่อขยายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในจีนและทั่วโลก.