จากป่าสู่เมือง! Class Café เจ้าของฉายาสตาร์บัคส์แห่งอีสาน เตรียมขยายสู่กรุงเทพฯ หลังได้นักลงทุนถือหุ้น คาด 3 ปีเข้าตลาดเข้าตลาดหุ้น

จากร้านกาแฟร้านเล็กๆ ในจังหวัดนครราชสีมา เปิดตัวครั้งแรกในปี 2556 ขายกาแฟได้เพียงวันละ 30-40 แก้ว เวลานี้นอกจาก Class Café มี 15 สาขา ใน 3 จังหวัดภาคอีสาน ยังสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นหลายเท่า ที่สำคัญกำลังเป็นธุรกิจร้านกาแฟร้านแรกของไทย เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 3 ปีนับจากนี้

มารุต ชุ่มขุนทด หรือ กอล์ฟ อดีตผู้บริหารด้านการตลาด เคยผ่านประสบการณ์ค่ายมือถือ และมีเดีย ปลุกปั้นธุรกิจร้านกาแฟ คลาส คาเฟ่ ขึ้นในเมืองโคราช ผ่านมา 4 ปี เวลานี้เขาได้กลายเป็น start up ท้องถิ่นเมืองโคราช ที่นอกจากได้ฉายา สตาร์บัคส์แห่งอีสาน ขยายสาขาเพิ่มเติม ยังได้เงินทุนจากกลุ่มนักลงทุนมาเข้ามาถือหุ้น

จากธุกิจสตาร์ทอัพ เจ้าของคนเดียว เวลานี้ คลาสคาเฟ่ ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท คลาส คอฟฟี่ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 8 ล้านบาท หลังจากได้รับเงินทุนจากกลุ่มนักลงทุน ในลักษณะ  venture capital ผ่านการจับคู่ของ Shift Venture คลับจับคู่ธุรกิจ start up กับนักลงทุน โดยเข้ามาถือหุ้นในบริษัท คลาส คอฟฟี่ ส่วนหนึ่ง พร้อมกับเงินลงทุนก้อนใหญ่เข้ามาในบริษัท เพื่อการขยายสาขาอย่างน้อยอีกเท่าตัว

มารุต กล่าวว่า นี่เป็นเพียงขั้นแรกของการเริ่มต้นของการเข้าสู่การทำธุรกิจ จาก start up เล็กๆ โดยมีเป้าหมายที่จะนำบริษัท คลาส คอฟฟี่เจ้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 3 ปี

ตามแผนการขยายธุรกิจ หลังจากที่ได้เงินทุนก้อนแรก ได้ขยายสาขาเพิ่มขึ้นรวดเร็วจาก 7 สาขา เป็น 15 สาขา รวมถึงการเตรียมเปิดสาขาในกรุงเทพ ที่ถือเป็นก้าวสำคัญ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ให้มากขึ้น

วิธีการเลือกเปิดสาขาในกรุงเทพฯ จะไม่เหมือนกับต่างจังหวัด โดยจะเลือกจับมือกับพาร์ตเนอร์ ที่มีทำเล หรือร้านค้าปลีกอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการเจรจากับพาร์ตเนอร์ ทั้งธุรกิจค้าปลีก สื่อสาร และอสังหาริมทรัพย์

โดยวางจุดยืนให้เป็น community lifestyle เน้นสร้างบรรยากาศในรูปแบบของ digital lifestyle ให้เป็นสถานที่มาพบปะกัน จาก offline to online และการให้คืนต่อสังคม โดยใช้ Social media engagement มาใช้การทำการตลาด ช่วยสะท้อนจุดยืนว่าร้านนี้ไม่ได้ขายแค่กาแฟเท่านั้น

ทางเลือกหนึ่งที่ทำได้เอง คือ การแตกไลน์ขยายไปสู่ธุรกิจเบเกอรี่ ซึ่งนอกจากจะใช้ป้อนให้กับทุกสาขาของคลาส และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในอนาคต จึงมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตวันละ 1,500 ชิ้น จะขยายเพิ่มเป็น 2,500 ชิ้น

ในส่วนของออนไลน์ คลาส คาเฟ่ ได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ เช่น อไอเอส เจ้าของธุรกิจเครือข่ายมือถือที่ใหญ่ที่สุดของไทย ในการเป็น Technology partner เพื่อนำระบบสื่อสารมาใช้ในร้าน เช่น การทำ wifi ในร้าน การใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อของแต่ละสาขา หรือแม้กระทั่งรูปแบบการทำ cashless QR Code

วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Shift Venture กล่าวว่า Shift Venture บอกว่า สาเหตุที่สนใจจับคู่ธุรกิจให้ คลาส คาเฟ่ เพราะตัวธุรกิจได้สร้างฐานลูกค้าประจำ และเกิดการบอกต่อ รวมถึงมีการขยายหลายสาขาต่อเนื่อง มองว่าเป็นแบรนด์ที่จะไปได้อีกไกล

ทาง Shift Venture ได้เข้ามาช่วย ยกระดับจาก start up ที่ก่อตั้งโดยคนคนเดียว ให้อยู่ในรูปของบริษัท วางระบบบัญชีใหม่ พร้อมกับจ้างที่ปรึกษากฎหมายให้มาดูแล เพื่อรองรับกับการให้พาร์ตเนอร์เข้ามาถือหุ้น

มารุต บอกว่ามีผู้สนใจลงทุนหลายราย แต่เขาจะเปิดให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนน้อย โดยที่เขาจะถือหุ้นใหญ่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน

“การได้เงินมามากเกินไป ก็อาจมีข้อเสีย หากไม่มีแผนการการจัดการ ด้านการเงินที่ดี ก็อาจจะฆ่าเราได้ จึงต้องการระดมทุนแต่เพียงแค่เท่าที่พอใช้ เมื่อถึงเวลาต้องลงทุนเพิ่ม ค่อยระดมทุนใหม่อีกรอบ”

ภายในปีนี้ จะขยายสาขาให้ได้อีก 5 สาขา เป็นในกรุงเทพฯ 3 สาขา อีก 2 สาขาอยู่ในอุดร และบุรีรัมย์ พร้อมกับเตรียมเพิ่มทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 5 แสน สู่ 50 ล้านบาท

ความสำเร็จของ Class Café นอกจากตกแต่งร้านด้วยสไตล์ขรึม เรียบง่าย เน้นรองรับลูกค้านักศึกษา คนทำงาน การทำกิจกรรมการตลาดตอบโจทย์กับลูกค้าแล้ว ยังเน้นเรื่องของการทำ CSR ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน แจกกาแฟในงานต่างๆ ส่งทีมงานไปเป็นจิตอาสา เก็บขยะ โดยจะร่วมทำกิจกรรมลักษณะนี้ กับท้องถิ่นทุกแห่งที่คลาส คาเฟ่มีสาขาตั้งอยู่ รวมถึงการจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง

เป็นวิธีที่ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก สร้างฐานลูกค้า ได้ใจ ลูกค้าไปเต็มๆ เข้าตำราสร้างแบรนด์ให้ถูกใจคนรุ่นใหม่ แบรนด์ต้องเป็นผู้ให้ด้วย

“การเป็น start up ไม่จำเป็นต้องโกงภาษี และไม่จำเป็นต้องกำไรสูงสุด แต่ราจะต้องโปร่งใส เทใจให้กับสังคม” มารุต กล่าวทิ้งทาย.


อ่านข่าวต่อเนื่อง

เปิดสูตร (ไม่ลับ) ร้านกาแฟ “Class Coffee” เจ้าของฉายา “สตาร์บัคส์ อีสาน”