เปิดสูตร (ไม่ลับ) ร้านกาแฟ “Class Coffee” เจ้าของฉายา “สตาร์บัคส์ อีสาน”

ถ้าเป็นคอกาแฟในเขตตัวเมืองนครราชสีมาหรือโคราชแล้ว จะรู้จักร้าน Class Coffee กันเป็นอย่างดี เพราะนี่คือ ร้านกาแฟท้องถิ่น ที่ใช้เวลา 3 ปี ก็มีแล้ว 10 สาขา ทั้งในโคราช และยังขยายไปยังบุรีรัมย์ และขอนแก่น จนได้รับ ฉายา“สตาร์บัคส์อีสาน” 

ด้วยความวางจุดยืนของการ community lifestyle ปรับตัวให้เข้ากับคนท้องถิ่น สร้างความแตกต่างให้ คลาส คาเฟ่ สามารถยืนหยัดภายใต้ สมรภูมิร้านกาแฟที่ได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจปราบเซียนมีคนเกิดและล้มหายไปตลอดเวลา  และความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้ เป้าหมายของร้านกาแฟแห่งนี้ ไม่ได้เป็นแค่ร้านกาแฟของชาวโคราชแล้ว แต่มองไกลไปถึงทั่วทุกจังหวัดใน ภาคอีสาน เพื่อปูทางไปสู่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น MAI

มารุต ชุ่มขุนทด

“เพราะเราเข้าใจคนโคราชเข้าใจคอกาแฟว่าต้องการอะไร มารุต ชุ่มขุนทด หนุ่มใหญ่วัย 40 ปี ชาวโคราช เจ้าของร้าน บอกสั้นๆถึงที่มาของความสำเร็จที่เขาได้รับ

มารุต เรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบค ผ่านประสบการณ์ทำงานในวงการไอทีและสื่อสารมาหลายแห่งเคยเป็นผู้จัดการฝ่าย e commerce เวป Thai.com ของบริษัทอินเทอร์เน็ต ไทยแลนด์ ข้ามฟากมาทำงานในแกรมมี่ในตำแหน่งผู้อำนวยการสายงานธุรกิจไร้สาย บริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ งรองกรรมการผู้จัดการ สายงานผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์ บริษัท Hutch บริษัทมือถือสัญชาติฮ่องกงที่เคยมาลุยตลาดไทย และงานประจำสุดท้ายในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดบริษัทโนเกียประเทศไทย

“ตอนที่ผมตัดสินใจลาออกจากงานประจำกินเงินเดือนหลายแสนเพื่อมาเริ่มธุรกิจของตัวเองใครๆก็หาว่าผมบ้าแต่ผมตั้งใจแล้วว่าจะต้องกลับโคราชบ้านเกิดเพื่อมาทำร้านกาแฟผมเชื่อว่าการที่ผมรู้จักคนท้องถิ่นดีและนำประสบการณ์จากการทำงานที่ผ่านมาจะช่วยให้ร้านผมไปรอดได้”

มารุต มองว่าโคราชเป็นจังหวัดหัวเมืองเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวและมีผลิตภัณฑ์ดังๆ แม้แต่จิมทอมป์สันก็ยังมาตั้งโรงงานที่นี่ซึ่งใครๆก็รู้ว่าเป็นสินค้าดีมีราคาแล้วทำไมถึงจะสร้าง “ร้านกาแฟ” ที่ทันสมัยดูเท่ดูฮิปเป็นหน้าเป็นตาของชาวโคราชไม่ได้

บรรยากาศภายในร้าน

หลังจากฝีกปรือเรื่องของรสชาติกาแฟจนอยู่ตัว คลาสคาเฟ่สาขาแรกเปิดตัวขึ้นในปี 2556 ตั้งอยู่บนถนนจอมสุรางค์ถนนสายเศรษฐกิจสำคัญของชาวโคราชอยู่ใกล้อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีหรือย่าโมสถานที่สำคัญที่ใครมาโคราชต้องมากราบไหว้สักการะบูชา

นอกจากทำเล แล้วการวางตำแหน่งให้เป็นร้านกาแฟ “พรีเมียม” ก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญสะท้อนจากการตั้งชื่อร้านและการคัดเลือกเมล็ดกาแฟต้องได้คุณภาพ ตัวร้านตกตกแต่งเป็นสไตล์ industrial loft ใช้โทนสีเทาดำ ให้ความรู้สึกทันสมัย เพลงใช้เปิดในร้านเป็นแนว EMD ที่กำลังได้รับความนิยม  บางวันจะมีดีเจมาเปิดเพลง  รวมถึงสไตล์การทำงานพนักงานทุกคนมีพลังมีชีวิตชีวาใส่ใจลูกค้าเต็มที่รวมทั้งบาริสต้าที่ไม่ใช่มีฝีมือชงกาแฟอย่างเดียว แต่ต้องพูดคุยแนะนำลูกค้าได้ด้วย

สาขาแรกของคลาสเปิดได้เพียงหกเดือนก็ประสบความสำเร็จ จากนั้นสาขาอื่นๆก็ตามมา ซึ่งการขยายตัวอย่างรวดเร็วนั้น มารุต บอกว่า ส่วนหนึ่งมาจากการใช้โชเชียลมีเดียเป็นช่องทางตลาดสื่อสารกับลูกค้าทั้งประหยัดและเข้าถึงลูกค้า

“เมื่อก่อนตอนที่ผมทำงานในบริษัทผมใช้เงินทางการตลาดปีละ 500 ล้านบาทแต่ตอนนี้ผมใช้แค่วันละไม่เกิน 500 บาทต่อวันเท่านั้นเพียงแค่เราใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์และต้องใช้ให้ถูกช่องทาง”

คลาสมีเฟซบุ๊กเป็นช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภคในท้องถิ่นและสร้างการจดจำผ่านคอมมูนิตี้ของการสั่งซื้ออาหารและสินค้าผ่านออนไลน์อย่างการเข้าถึงกลุ่มหมอและพยาบาลในโรงพยาบาลถือเป็นหนึ่งในลูกค้าหลักของคลาส

“หมอเป็นอาชีพที่กินกาแฟมากที่สุดวันๆกินไม่รู้ต่อกี่แก้วดังนั้นเราจึงเลือกสาขาที่หน้าโรงพยาบาลมหาราชเลยและเปิดตั้งแต่ 7 โมงเพื่อออเดอร์และมีบริการส่งถึงที่โรงพยาบาล ขณะที่บางสาขาเราก็มีบริการ drive thru สไตล์บ้านๆคือรับออเดอร์ทางโทรศัพท์แล้วเมื่อเขาขับรถผ่านมาที่ร้านก็เดินออกไปส่งส่วนใหญ่จึงเป็นลูกค้าประจำทั้งนั้น“

นอกจากนี้การจัดโปรโมชั่นและกิจกรรมให้ตรงกับพฤติกรรมกลุ่มลูกค้าในแต่ละพื้นที่ก็ถือเป็นหัวใจสำคัญเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเข้าร้านตลอดเวลาเช่นโปรโมชั่นส่วนลดในช่วงเช้าตั้งแต่ 07.00-10.00 เพื่อดึงคนท้องถิ่นถ้าในช่วงบ่ายร้านจะเงียบเพราะคนทำงานจะมีกิจกรรมอื่นๆมาเสริมเช่นการเป็นสถานที่ให้แบรนด์สินค้าท้องถิ่นแบรนด์ดังมาจัดกิจกรรมการตลาดแจกสินค้าทดลองและเปิดตัวสินค้า

ทำให้การรับรู้แบรนด์คลาสคาเฟ่ไปได้ทั้งลูกค้าทั่วไปและองค์กรธุรกิจ

อย่างล่าสุดเขาได้ร่วมในโปรเจกส์ซีรีส์ “ศรีอโยธยา ของกลุ่มทรูจะออกอากาศทางเครือข่ายของกลุ่มทรูทั้งหมดในวันที่ 5 ธันวาคม 2560และใช้การตลาดแบบรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส

ร่วมกับซีรีส์ศรีอโยธยาออกแบบรสชาติกาแฟตามตัวละคร

(อ่านประกอบ เล็กๆ ไม่ ใหญ่ไหญ่ๆ ทำ! ทรู ควัก 150 ล้าน ผุดซีรี่ส์ “ศรีอโยธยา” ใช้การตลาด “รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส” ปลุกกระแส https://positioningmag.com/1139920)

ด้วยการออกกาแฟสูตรพิเศษ ศรีอโยธยาพรีเมียมรอยัลเบลนด์” ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากกาแฟสูตรของร้าน Royal Blend ของร้าน  นำมาออกแบบกาแฟรสชาติใหม่ตามคาแรกเตอร์ของตัวละครแต่ละตัวในเรื่องเป็นการเฉพาะเช่นกาแฟสูตร The Noble ประจำตัวอนันดาเอเวอริ่งแฮมที่รับบทเป็นพระพิมานสถานมงคล เพื่อนำไปต่อยอดทำตลาดทำกิจกรรมอีเวนต์กับซีรีส์เรื่องนี้

มารุต ให้ความสำคัญในเรื่องของการเป็น community lifestyle เข้าใจและเข้าถึงชุมชนไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นมสดทั้งหมดจากมหาวิทยาลัยสุรนารี รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆกับชุมชนเช่นคาร์ฟรีเดย์แจกกาแฟฟรีในบางกิจกรรมหรือแม้แต่การกลุ่ม start up ของคนโคราชทั้งร่วมลงทุนและระบบไอที

ขณะที่ถ้าเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาต้องติวหนังสือสอบนอกจากจะเปิด 24 ชั่วโมงแล้วยังนำบะหมี่สำเร็จรูปมาขายไม่จำเป็นต้องซื้ออาหารที่มีราคาสูงก็ทำให้ได้ใจลูกค้ากลุ่มนี้ไป

บรรยากาศในร้าน ช่วงติวสอบ

นี่คือจุดที่จะสร้างความแตกต่างให้คลาสคาเฟ่สามารถยืนหยัดแข่งขันในสมรภูมิร้านกาแฟที่ได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจปราบเซียนมีคนเกิดและล้มหายไปตลอดเวลา

“ผมเชื่อว่าใครๆก็อยากประสบความสำเร็จอย่างสตาร์บัคกันทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าใครจะเลือกทำแบบไหนแต่สำหรับเราคือการปรับตัวให้เข้ากับทุกชุมชนที่เราไป”

ที่มาของการเข้าถึงลูกค้าเฉพาะกลุ่มมาจากระบบไอทีหลังบ้านมารุตให้ความสำคัญอย่างมากเขาใช้เงินถึง 20 ล้านบาทวางระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) รวมทั้งการนำเครื่อง POS (Point-of-Sale) การจัดการวัตถุดิบสั่งการไปที่โรงคั่วรวมถึงระบบบัญชีระบบการจัดการบุคคลรวมถึงการเก็บฐานข้อมูลลูกค้าวิเคราะห์ยอดขายแต่ละวันของแต่ละสาขา

โดยมีระบบพยากรณ์อากาศเข้ามาช่วยวิเคราะห์ร่วมด้วยว่าช่วงไหนฝนตกน้ำท่วม  หรืออากาศจะร้อนมากเพื่อที่วางแผนจัดทำโปรโมชั่นแต่ละสาขาได้สอดคล้องสถานการณ์

เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น ล่าสุดเขานำ Facial Recognition ระบบการเรียนรู้จดจำใบหน้าลูกค้ามาใช้โดยระบบนี้จะเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลเดิมจะทำให้รู้ทันทีว่าลูกค้าเป็นใครชอบสั่งอะไรจะทำให้พนักงานรู้ทันทีว่าลูกค้าเป็นใครชื่นชอบอะไร ขณะที่ลูกค้าใหม่จะถูกจัดเก็บไว้ที่ฐานข้อมูลจะช่วยสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น 

ระบบสแกนหน้าลูกค้า ที่กำลังนำมาใช้

หลังจากประสบความสำเร็จในเมืองโคราชที่มีสาขามากถึง 8 สาขาคลาสคาเฟ่ยังได้ขยายไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางธุรกิจกีฬาของภาคอีสานเป็นสาขาที่ 9  ซึ่งสาขานี้ยังได้รับรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมจากเว็บไซต์ Arch daily ปี 2016 ออกแบบร้านใหม่ให้ดูโดดเด่นเข้ากับความเป็นเมืองบุรีรัมย์และต่อยอดทำกิจกรรมกับลูกค้าที่พื้นที่ได้ลงตัว

คลาสคาเฟ่ สาขาบุรีรัมย์

เมื่อแบรนด์คลาสคาเฟ่เป็นที่รับรู้มากขึ้นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจและขยายสาขาก็มีมากขึ้นเขาได้รับการชักชวนจาก เอสซีจี เปิดสาขาที่จังหวัดขอนแก่น เป็นสาขาที่ 10

นอกจากนี้ยังได้รับการชักชวนจาก B2S ร่วมกันทำ co working space สาขาเซ็นทรัลโคราชซึ่งเปิดในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้และยังเตรียมขยายสาขาอื่นๆของบีทีเอสเช่นเซ็นทรัลมหาชัย

มารุต ชุ่มขุนทด

สโลแกนของคลาสคาเฟ่เวลานี้จึงเปลี่ยนเป็นจาก ร้านกาแฟของคนโคราชมาเป็น ร้านกาแฟของคนอีสานเพราะเขาวางแผนขยายไปอีกหลายเมือง ของภาคอีสานเช่นมหาสารคาม อุดรธานี

ส่วนเงินทุนในการขยายสาขา เวลานี้ได้รับทาบทามจากกลุ่มชิฟเวนเจอร์ส(Shift Ventures ) ซึ่งเป็นของนักลงทุนรุ่นใหม่ที่เคยเป็นทั้งสตาร์ทอัพดิจิทัลเอเจนซี่และซอฟต์แวร์เข้ามาร่วมลงขัน

ทำให้มารุตมองไกลไปกว่าในการผลักดันให้คลาสคาเฟ่ขยายไปทั่วประเทศรวมถึงการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI

ตอนนี้ผมเริ่มมองการขยายไปทั่วประเทศและมีแผนจะต้องผลักดันบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ให้ได้ในอนาคตอันใกล้